เวทีคอนเสิร์ต เปิดโลกความม่วนพลังงานสะอาด

by ESGuniverse, 27 เมษายน 2567

เทศกาลดนตรี-คอนเสิร์ต-เวทีหมอลำ จุดปล่อยคาร์บอนที่สังคมมองข้าม กำลังเป็นประเด็นตั้งคำถามความบันเทิงอบอวลการปล่อยมลพิษ ที่เวทีคอนเสิร์ตทั่วโลก เริ่มหันกลับมาลงทุนคอนเสิร์ตระเบิดความมัน โยกย้ายได้สะใจตามจังหวะ เสียง แสง สี จากพลังงานทางเลือก

 

การใช้ไฟฟ้าจํานวนมากในการจัดงานเทศกาลต่างๆ เป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมดนตรีทั้งหมดต้องคำนึงถึง เพราะส่วนใหญ่งานเทศกาลเหล่านี้มักจะจัดอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับกระแสไฟฟ้าหลัก

รู้หรือไม่ว่าฉากหลังของความมันส์จากเทศกาลดนตรี เวทีคอนเสิร์ต ทั้งวงร็อค เพลงป๊อป หรือ หมอลำ ต่างสาดคาร์บอนมหาศาล จากพลังงานฟอสซิล แหล่งพลังงานจากเทศกาลหลายแห่งใช้เครื่องปั่นไฟที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวการหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหลักของสภาวะโลกร้อน สภาพอากาศแปรปรวน (Climate Change) ผลอ้างอิงจากการวิจัยของ A Greener Future พบว่า ในการจัดเทศกาลที่สหราชอาณาจักรหนึ่งครั้ง ใช้ดีเซลมากกว่า 12 ล้านลิตรต่อปี

การใช้เครื่องปั่นไฟพลังงานดีเซล จะปล่อยปริมาณคาร์บอนอยู่ที่ 2.4-2.8 กิโลคาร์บอนต่อน้ำมัน 1 ลิตร โดยจากการสอบถามคณะศิลปินภูไท สุดยอดหมอลำเรื่องต่อกลอน ทำนองกาฬสินธุ์ สารคาม การเต้นก้อน ที่มีผู้เข้าชมการแสดงมากกว่า 1,000 คนต่อคืน พบว่า จำนวนการใช้น้ำมันต่อคืนมีปริมาณมากกว่า 300 ลิตร หรือเทียบเท่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 840 กิโลคาร์บอน/คืน

และยังไม่รวมถึงการขนส่งที่เป็นอีกปัจจัยหลักของการปล่อยมลพิษ รวมไปถึงผู้คนที่สัญจรไปงานและการขนส่งสินค้าอื่นๆ

 

 

 

สาดคาร์บอนหนัก
จุดประกายเทศกาลดนตรี
เวทีบันเทิงพลังงานทางเลือก

จุดประกายเทศกาลดนตรีทั่วโลกเริ่มค้นหาวิธีการสร้างความบันเทิงในรูปแบบคาร์บอนต่ำ โดยเริ่มต้นจากเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียง กําลังหาวิธีลงทุนพลังงานทางเลือกพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมมาจัดคอนเสิร์ต เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และการจัดเก็บแบตเตอรี่

ตัวอย่างเช่น เทศกาลกลาสตันเบอรี (Glastonbury Festival) เมื่อปีที่แล้วได้เป็นเจ้าภาพจัดกังหันลมขนาด 20 เมตร พร้อมด้วยแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาดเล็กที่มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับตู้เย็น 300 ตู้ต่อวัน

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Mysteryland เป็นเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์สามวันในเนเธอร์แลนด์ที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมงานถึง 130,000 คนในแต่ละปี โดยหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของโครงการได้กล่าวว่าพวกเขาได้ดําเนินการหลายขั้นตอนเพื่อให้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลง ณ ตอนนี้ 80% ของพลังงานมาจากแผงโซลาร์เซลล์ในฟาร์มใกล้เคียง ในส่วนของเทศกาลและพันธมิตรยังขุดสายไฟฟ้าลงดินเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ โดยการเชื่อมต่อครั้งนี้เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะได้เงินลงทุนคืน และจากนั้นก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก

การเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าอาจเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ เนื่องจากในหลายพื้นที่ในเนเธอร์แลนด์ยังขาดแคลนกําลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งหมายความว่าบางบริษัทไม่สามารถรับการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ หรือขยายการเชื่อมต่อที่มีอยู่ได้ โดยได้เริ่มโครงการนี้ในปี 2017 (พ.ศ. 2560) และสั่งซื้อการเชื่อมต่อใหม่นี้เมื่อนานมาแล้ว ถ้าเราเริ่มโครงการในตอนนี้ มันอาจจะเป็นไปไม่ได้

เนื่องจากการลงทุนในความยั่งยืนนั้นคุ้มค่า เพราะผู้ชมคาดหวังว่าเทศกาลต่าง ๆ จะรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าเหตุผลหลักของการขายตั๋วยังคงเป็นที่ความนิยมและรายชื่อศิลปิน แต่ผู้ชมก็ยังคาดหวังว่าเทศกาลดนตรีในครั้งนี้จะยั่งยืน ดังนั้นจึงมีความคิดเห็นว่า มีเหตุผลทางธุรกิจมากขึ้นสําหรับการเป็นธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน

 

 

 

การลดเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหนึ่งในประเด็นสําคัญในแผนงานสีเขียวของยุโรป( European Green Roadmap) ซึ่งเป็นรายการจุดตรวจความยั่งยืนสําหรับอุตสาหกรรมเทศกาลและกิจกรรมที่สร้างขึ้นโดยทีม ‘อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ (A Greener Future) และ สมาคมเทศกาลยุโรป (European Festival Association -Yourope) ซึ่งเปิดเผยในงาน Amsterdam Dance Event เมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยเทศกาลมากมายที่พึ่งพาเครื่องกําเนิดไฟฟ้าพลังงานดีเซล โดยในรายงานระบุว่า 

"ต้องเลิกใช้การผลิตพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่หมุนเวียนและไม่ยั่งยืน

แคลร์ โอนีล (Claire O'Neill) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ A Greener Future และผู้เขียนร่วมของ European Green Roadmap กล่าวว่าทุกอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนแปลง รวมถึงในส่วนของการจัดเทศกาลด้วยเข่นกัน

ข้อตกลงสีเขียว (The Gree Deal) ในสหภาพยุโรปได้กําหนดเป้าหมายสําหรับการลดการปล่อยมลพิษ 55% ภายในปี 2030 แต่การจัดงานเทศกาลยังไม่มีแผนงานดังกล่าว และการดําเนินการมากมายเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ได้ร่วมงานกับการจัดเทศกาลมาเกือบ 20 ปีนั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยเมื่อเวลาผ่านไป

ทั้งนี้ EU ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ออกมาตรการและนโยบายด้าน Green และ Climate Change ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน อาทิ นโยบาย Green Plan ของสิงคโปร์ Green New Deal ของเกาหลีใต้ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเองก็หันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก

สำหรับประเทศไทย การนำพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในเทศกาลดนตรี คอนเสิร์ต หรือเวทีหมอลำอาจจะยังเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจอย่างมากในทุกภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด จับมือพากันบรรลุเป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 (Carbon Emissions 2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 (Net Zero 2065) ในทุก ๆ ภาคอุตสาหกรรม.

 

อ้างอิง : https://www.bbc.com/news/business-67873127
https://www.researchgate.net/publication/235458666_Estimation_of_Carbon_Footprints_from_Diesel_Generator_Emissions
https://setsustainability.com/libraries/1035/item/european-green-deal