เตือน! ในบ้านไม่ควรมี“พาราเซตามอล”เกิน20 เม็ด กินมากเสี่ยงตาย

by ThaiQuote, 20 มกราคม 2560

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าประเทศไทยควรมีมาตรการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้ยา โดยเฉพาะยา 2 กลุ่มคือยาที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล (ketoconazole) ชนิดรับประทานใช้เป็นยาต้านเชื้อรา และยาที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล (paracetamol) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดลดไข้ โดยหากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้องจะเกิดพิษต่อตับ มีผลร้ายแรงเรื้อรัง และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้พาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุดหากใช้อย่างถูกขนาดและถูกวิธี แต่เนื่องจากมีการใช้พาราเซตามอลเกินขนาด ใช้อย่างซ้ำซ้อนหรือใช้ผิดวิธี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการมียาหลายความแรงและหลายสูตรมากเกินไป ประชาชนขาดความรู้เรื่องขนาดยาที่เหมาะสม ตลอดจนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้ยาเกินขนาด หลายประเทศได้มีมาตรการจัดการปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาพาราเซตามอล เช่น การส่งเสริมให้ใช้พาราเซตามอลที่มีปริมาณยา 325 มิลลิกรัมทดแทนยาชนิด 500 มิลลิกรัม จำกัดขนาดยาสูงสุดต่อครั้งและต่อวันให้ต่ำลง ปรับปริมาณยาไม่ให้เกิน 325 มิลลิกรัมต่อเม็ดเมื่อเป็นยาผสม ยกเลิกยาชนิดหยดสำหรับเด็กทารกที่มีความเข้มข้นสูง แสดงขนาดยาในเด็กที่สอดคล้องกับน้ำหนักตัวแทนที่ของเดิมที่กำหนดตามเกณฑ์อายุ เป็นต้น ด้าน รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานมูลนิธิรักษ์ตับ กล่าวว่าอาการไข้โดยทั่วไปเมื่อรับประทานยาพาราเซตามอลแล้ว ไข้ควรจะหายใน 1-2 วัน แต่ถ้ามีไข้เรื้อรังนานกว่านั้นควรต้องมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และอยากจะขอให้บุคลากรสุขภาพทุกสาขาสั่งจ่ายยาพาราเซตามอลครั้งละไม่เกิน 10 เม็ดถ้ามีแล้วก็ไม่ควรให้ไปอีก ในบ้านไม่ควรมีพาราเซตามอลเกิน 20 เม็ด ขณะที่ ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่าปัญหาที่ประชาชนใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดจนเกิดอันตรายขึ้นนั้น สาเหตุหนึ่งคือการเข้าใจผิดในสูตรของยาเนื่องจากปัจจุบันในท้องตลาด ยาพาราเซตามอลมีความแรงหลายขนาด โดยเฉพาะในเด็ก ที่มีความแรงตั้งแต่ 120, 160, 250 ไปจนถึง 500 มิลลิกรัม ต่อ 1 ช้อนชา และที่สำคัญ ยาที่มีความแรงแตกต่างกันนั้น เป็นยาที่มีฉลากและลักษณะของภาชนะบรรจุที่คล้ายกันอย่างมาก จนทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่ายานั้นมีความแตกต่างกันที่รสชาติเท่านั้น แต่ความแรงของยาเท่ายาตัวเดิมที่ตัวเองเคยทาน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของตัวหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษและขนาดเล็กมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนชนบท ไม่สามารถคุ้มครองตัวเองให้ปลอดภัยจากการใช้ยาได้ นอกเหนือจากปัญหาการเข้าใจผิดในสูตรของยาจนทำให้ใช้ยาเกินขนาดแล้ว ยังมีประเด็นปัญหาของการไม่ทราบในสูตรผสมของยาที่ตัวเองใช้ เช่น ได้รับยาคลายกล้ามเนื้อจากการสั่งใช้ของแพทย์ แต่ไม่ทราบว่าในเม็ดยานั้นมีพาราเซตามอลผสมอยู่ด้วย เมื่อมีอาการไข้ หรืออาการปวดร่วมด้วย จึงรับประทานยาพาราเซตามอลเพิ่มเข้าไปอีกด้วย ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ง่ายโดยการจำกัดขนาดความแรงของยาให้มีน้อยขนาด และการทำรูปลักษณ์ของยารวมทั้งชื่อยาให้แตกต่างกัน หากยามีความแรงของยาหรือสูตรยาที่แตกต่างกัน
Tag :