คาดยอดตั้งบริษัทปี 60 โต 3% จากมาตรการรัฐดันศก.ขยายตัว

by ThaiQuote, 24 มกราคม 2560

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดว่าแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทในปีนี้จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 59 โดยอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3 % จึงคาดว่าในปีนี้จะมีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทประมาณ 66,000 รายโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้นจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีสรรพากร ประกอบกับมาตรการของภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมในปี 59 มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทจำนวน 64,288 ราย เพิ่มขึ้น 4,141 ราย หรือ 7% จากปี 58 ที่จำนวน 60,147 ราย โดยเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 60,000-65,000 ราย ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการในปี 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 20,938 ราย ลดลง 1,638 ราย หรือ 7% จากปี 58 ที่จำนวน 22,576 ราย สำหรับผลการจดทะเบียนธุรกิจในเดือนธ.ค. 59 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 4,410 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,173 ราย หรือ 36% จากเดือน ธ.ค.58 ที่จำนวน 3,237 ราย แต่ลดลงจำนวน 1,389 ราย หรือ 24% จากเดือน พ.ย.59 ที่จำนวน 5,799 ราย ขณะที่มีนิติบุคคลจดทะเบียนเลิกจำนวน 5,118 ราย ลดลงจำนวน 687 ราย หรือ 12% จากเดือน ธ.ค.58 ที่จำนวน 5,805 ราย แต่เพิ่มขึ้นจำนวน 2,721 ราย หรือ 114% จากเดือน พ.ย.59 ที่จำนวน 2,397 ราย ขณะที่มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือน ธ.ค.59 มีจำนวนทั้งสิ้น 22,252 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,248 ล้านบาท หรือ 39% จากเดือน พ.ย.59 ที่จำนวน 16,004 ล้านบาท แต่มีมูลค่าลดลง 32,393 ล้านบาท หรือ 59% จากเดือน ธ.ค.58 ที่จำนวน 54,645 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับจำนวน 960 ราย รองลงมาธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 382 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 227 ราย ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการจำนวน 84 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจำนวน 80 ราย ทั้งนี้นับถึงวันที่ 31 ธ.ค.59 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้นจำนวน 1,360,312 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 20.55 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 644,759 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 15.86 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 465,641 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,152 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 177,966 ราย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า สำหรับการให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัดที่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.57 เป็นต้นมานั้น ในเดือน ธ.ค.59 มีการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขตจำนวน 778 ราย จากการจดทะเบียนทั่วประเทศจำนวน 4,410 ราย คิดเป็น 18% แบ่งเป็น ส่วนกลางจำนวน 486 ราย คิดเป็น 11% ส่วนภูมิภาคจำนวน 292 ราย คิดเป็น 7% พื้นที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด ได้แก่ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้าสนามบินน้ำ) จำนวน 144 ราย รองลงมา คือ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 4 (สุรวงศ์) และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 6 (ศูนย์ราชการ) จำนวน 75 ราย และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 3 (รัชดาภิเษก) จำนวน 70 ราย ตามลำดับ สำหรับในส่วนภูมิภาคจังหวัดที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 35 ราย รองลงมา คือ จังหวัดลำพูน จำนวน 22 ราย และจังหวัดชลบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดละ 15 ราย สำหรับการให้บริการตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคลโดยค้นหาข้อมูลนิติบุคคลจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนงบการเงิน และรายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์ รวมทั้งมีบริการข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆและสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application: DBD e-Service) ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.57 เป็นต้นมา มีสถิติผู้เข้าใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.59 รวมทั้งสิ้น 2,565,136 ครั้ง โดยในเดือน ธ.ค.59 มีผู้ใช้บริการจำนวน 146,333 ครั้ง เพิ่มขึ้น 6% จากเดือนก่อน ขณะที่การให้บริการนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชนและนิติบุคคลทั่วไปตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.58 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.59 มีสถิติผู้สมัครลงทะเบียนจำนวน 518,054 ราย แสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่และได้รับอนุมัติจำนวน 484,522 ราย ส่วนการให้บริการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.59 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.59 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจจำนวน 110,573 คำขอ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาการจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,475,608 ล้านบาท แบ่งประเภททรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันได้ 3 ประเภท คือ 1.สิทธิเรียกร้อง มูลค่าทั้งสิ้น 1,175,184 ล้านบาท คิดเป็น 79.7% ได้แก่ บัญชีเงินฝากธนาคารมูลค่า 902,542 ล้านบาท คิดเป็น 61.2%, สิทธิการเช่า มูลค่า 37,634 ล้านบาท คิดเป็น 2.6%, อื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า มูลค่า 235,008 ล้านบาท คิดเป็น 15.9% 2.สังหาริมทรัพย์ มูลค่าทั้งสิ้น 298,469 ล้านบาท คิดเป็น 20.2% ได้แก่ สินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ มูลค่า 209,983 ล้านบาท คิดเป็น 14.2%, เครื่องจักร/รถยนต์/เรือ มูลค่า 88,486 ล้านบาท คิดเป็น 6.0% และ 3.ทรัพย์สินทางปัญญา มูลค่าทั้งสิ้น 1,955 ล้านบาท คิดเป็น 0.1%
Tag :