จับทิศทางภาพรวมการลงทุนในปี 2559 ส่องภาคอุตสาหกรรมไทยกับ “ดร.อรรชกา”

by ThaiQuote, 26 พฤศจิกายน 2558

       จากตัวเลขคาดการณ์ GDP ที่ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ออกมาคาดการณ์ไว้ที่ 2.9 % และ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่า  โดย“ภาคอุตสาหกรรม”จึงเป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อน ให้ตัวเลข GDP เดินหน้าสู่เป้าหมาย

                THAIQOUTEจับสัญญาณทิศทางภาคอุตสาหกรรมไทยปี 2559 เปิดใจ “ดร.อรรชกา สีบุญเรือง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับภาพรวมภาคอุตสาหกรรมไทย

มองภาพรวมของอุตสาหกรรม ไทยในปีนี้อย่างไร

                ในปีนี้ก็อยู่ในช่วงระหว่างการสำรวจและดูแลแก้ปัญหาต่างๆ การเตรียมความพร้อมและการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง  ก่อนที่ภาครัฐจะมีนโยบายที่ชัดเจนกับการลงมากระตุ้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลสะท้อนถึงตัวเลขต่างๆ อย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะตัวเลขของการเติบโต ที่เชื่อว่าในปี 2559 นี้จะได้เห็นภาพการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น

                อุตสาหกรรมในภาพรวมถือว่ายังอยู่ในช่วงของการปรับตัวเพื่อรองรับกับทิศทางของเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจที่ดี และคาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้น ฉะนั้นก็ต้องมีการเตรียมพร้อม เพื่อให้มีศักยภาพในด้านต่างๆ รองรับกับการแข่งขันในอนาคต

ถ้ามองข้ามไปถึงปี 2559 คาดว่าจะมีอะไรเป็นปัจจัยบวกภาคอุตฯ

                อันดับแรกเลยหลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจในปีหน้าคาดการณ์ว่าจะดีกว่าในปีนี้ ส่วนนี้ก็เป็นปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการลงทุน ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา อัตราการเติบโต GDP ไม่ถึง 1% แต่พอมาปีนี้เริ่มกระเตื้องขึ้น ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ก็เป็นผลบวก รวมถึงการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยบวกสำคัญ อีกทั้งเรื่องของการท่องเที่ยวซึ่งดีมาก ในปีนี้ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง

                นอกจากนี้ปัจจัยบวกประการสำคัญของภาคอุตฯ ไทย คือราคาพลังงาน ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่หลายฝ่ายมองคาดการณ์ว่าปีหน้านี้ก็จะยังคงถูกลงต่อเนื่อง

ราคาพลังงานที่ลดลงเป็นบวกต่อภาคอุตฯ แล้วจะส่งผลต่อภาคการเกษตรหรือไม่?

                ราคาพลังงานถูกลง ก็คงจะมีกระทบบ้างแต่ยอมรับว่า อาจเป็นโอกาสที่ดีที่จะต้องหันมาปรับโครงสร้างในภาคเกษตรมากขึ้น นอกเหนือจากที่เรากำลังจะเน้นปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม โดยจะเน้นให้สร้างฐานของเกษตรแปรรูปที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

ในด้านของปัจจัยลบ

                ปัจจัยลบตอนนี้ยังดูไม่ออก ถ้ามองไปที่เรื่องของเศรษฐกิจโลก หลายฝ่ายก็ยังมองว่า อาจจะมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าประเมินยาก เพราะยังมีปัจจัยองค์ประกอบหลายอย่าง แต่เชื่อว่าปัจจัยลบอาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยไม่มากนัก แต่ก็คงต้องติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เรื่องของภัยแล้ง กับผลกระทบ

                โชคดีมากอย่างหนึ่ง เรื่องของภัยแล้ง ที่เคยเกิดขึ้นและหลายฝ่ายวิตกกังวลโดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออกอย่าง อีสเทิร์นซีบอร์ดปีนี้ไม่ได้รับผลกระทบ ตอนนี้น้ำเต็มเขื่อน เต็มอ่างเก็บน้ำ ฝนตกลงมาทางภาคตะวันออกมาก

                ส่วนที่น่าจะได้รับผลกระทบบ้าง ก็จะอยู่ในส่วนของพื้นที่อุตสาหกรรมภาคกลาง ถือว่ากระจายๆ ไป แต่อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางเองก็ไม่ได้ใช้น้ำมากเมื่อเทียบกับภาคอื่น ปัญหาเรื่องของภัยแล้งก็คงจะไม่ส่งผลกระทบเท่าไหร่ อาจจะมีบ้างในบางส่วน

จะเข้มงวดกับโรงงานที่ปล่อยน้ำเสีย

                ภาคอุตสาหกรรมมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว รายใหญ่ๆ มีระบบบริหารจัดการที่ดี มีการรีไซเคิลน้ำอยู่แล้ว แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองคงจะต้องพยายามดูแล ซึ่งหากเทียบกับปีที่แล้วที่มีภัยแล้ง โดยทางกระทรวงได้มอนิเตอร์ตลอด พบว่ามีน้อยมาก ที่จะเกิดปัญหานี้ แต่แน่นอนว่าปีหน้าแล้งมากกว่าปีนี้ ก็คงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และพยายามเตือนผู้ประกอบการให้ใช้น้ำอย่างประหยัด

ปัจจัยลบ ไม่กระทบต่อการส่งเสริม และนโยบายกระตุ้นอุตสาหกรรมของรบ.

                ด้านปัจจัยลบคงต้องพิจารณาจากหลายๆ องค์ประกอบ แต่ส่วนใหญ่ ไม่กระทบกับการนโยบายการส่งเสริมการและการกระตุ้นลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของรัฐบาลส่วนปัจจัยบวกนั้นค่อนข้างเอื้อต่อการเร่งขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมาย

การกระตุ้นการลงทุนกับกลุ่มเป้าหมาย 10 ประเภท (5+5)

                รัฐบาลได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดย 5 อุตสาหกรรมแรก จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถอยู่เดิมและเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ ในกลุ่มนี้จะมี อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ อัฉริยะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมเกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวะภาพ และสุดท้าย อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต

                ขณะที่ในอีก 5 อุตสาหกรรมจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในกลุ่มนี้จะมี หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนส่งและการบิน อุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงาน-เคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ และสุขภาพ ที่รัฐบาลจะส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ

สิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่จะสนับสนุน

                เป็นเรื่องของเป้าหมาย เราจะให้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างมาก ตรงนี้ก็ได้รับจากบีโอไอ ให้อัตราภาษีพิเศษ 10% ได้ถึง 8 ปี แต่ในบางกรณีในเซคเตอร์ที่จะต้องมีการแข่งขันสูง และมีการชักจูงเข้ามา โดยมองจากประเทศอื่นที่เขามีข้อเสนอที่ดีก็คงต้องต่อรอง โดยทางกระทรวงการคลังอาจพิจารณา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ได้ 10-15 ปี ขณะที่ในส่วนของสิทธิพิเศษอื่นๆ ก็ต้องพิจารณาในแต่ละด้านเพื่อให้สอดคล้องกับการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้เติบโต

นอกจากสิทธิพิเศษในด้านภาษีมีการสนับสนุนในส่วนไหนอีก?

การส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ในภาคอุตสาหกรรม นอกจากเรื่องของสิทธิพิเศษ ในด้านภาษีแล้ว อาจจะมีการตั้งกองทุนเพื่อมาสนับสนุนโครงการ ต่างๆ โดยกระทรวงการคลังและได้รับการเห็นชอบ จากครม.ไปเรียบร้อยแล้ว

เท่ากับว่า 10 อุตฯ นี้จะเป็นเทรนด์ในปี 2559 ?

                เราพยายามดึงมาทั้ง 10 เซคเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมต่อยอดที่มีฐานที่ค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ก็จะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่าโรบอท ที่อาจจะต้องใช้เวลาในการสนับสนุนเพื่อพัฒนาอีกระยะหนึ่ง  พวกที่ต่อยอดมาแล้วเรามีความชำนาญในระดับหนึ่งอยู่แล้วอย่าง ยานต์ยนต์ ไฟฟ้า อิเลกทอรนิกส์  อาหาร เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในปีหน้านี้อย่างไบโอเคมีคอล

อุตสาหกรรมอาหาร กับ AECและเรื่องของฮาลาล

                สำหรับ AEC ฮาลาลจะเป็นส่วนหนึ่ง ตรงนี้มองภาพของตลาดใน AEC และประเทศอื่นๆ  แต่ในภาพรวมจะเป็นอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่า โดยจะเน้นเรื่องงานวิจัยเข้ามาในเรื่องของอาหารมากขึ้น เพื่อให้เกิดฐานการสร้างผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง

สุดท้ายภาคอุตฯ ไทยกับตัวเลขคาดการณ์การเติบโต

                ตัวเลขการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในปี 2559 ปกติจะเติบโตล้อกับ GDP โดยในปี 2559 ที่จะถึงนี้ GDP คาดว่าไม่ต่ำกว่า 3% และอาจจะเป็น 3% บวกอีกเล็กน้อย ฉะนั้นในส่วนของภาคอุตสาหกรรมก็คงอยากจะได้เห็นมากกว่านั้น สิ่งสำคัญคือ การกระตุ้นการลงทุน ตอนนี้กำลังพูดกันถึงการเร่งการลงทุน ให้เติบโตให้ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลต่อ ตัวเลขต่างๆ ในภาคการผลิต และรายได้

                ซึ่งในปีหน้าจะอยู่ในเรื่องของการเน้นกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเรื่องของกลุ่มอุตสาหกรรมคลัสเตอร์เป้าหมาย ในคลัสเตอร์ที่ได้กำหนดไว้แล้ว