ตรวจความพร้อมเคาน์ดาวน์สู่เออีซี

by ThaiQuote, 29 ธันวาคม 2558

แน่นอนว่าเรื่องนี้มีการวิเคราะห์จากหลายฝ่ายมองว่า ประการแรกไทยจะมีหน้ามีตาและฐานะเด่นขึ้นประชาคมอาเซียนจะทำให้เศรษฐกิจของไทยมีมูลค่ารวมกัน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและมีขนาดใหญ่อันดับ 9 ของโลก ยังประโยชน์แก่คนไทยทุกคน ประการต่อมาการค้าระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนจะคล่องและขยายตัวมากขึ้น กำแพงภาษีจะลดลงจนเกือบหมดไปเพราะ 10 ตลาดกลายเป็นตลาดเดียว ผู้ผลิตจะส่งสินค้าไปขายในตลาดนี้และขยับขยายธุรกิจของตนง่ายขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้นราคาสินค้าจะถูกลง

ประการที่สาม ตลาดการค้าของไทยจะใหญ่ขึ้นแทนที่จะเป็นตลาดของคนเพียง 70 ล้านคน ก็จะกลายเป็นตลาดของคนกว่า 600 ล้านคนซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ เพราะสินค้าที่ผลิตในประเทศสามารถส่งออกไปขายกลุ่มประเทศอาเซียนได้ราวส่งไปขายต่างจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถแข่งขันกับจีนและอินเดียในการดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น  ประการที่สี่ความเป็นประชาคมจะทำให้มีการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารคมนาคมระหว่างกันเพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน แต่ก็ยังผลพลอยได้ในแง่การไปมาหาสู่กัน ซึ่งก็จะช่วยให้คนในอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์กัน รู้จักกันและสนิทแน่นแฟ้นกันมากขึ้น เป็นผลดีต่อสันติสุข ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันโดยรวม นับเป็นผลทางสร้างสรรค์ในหลายมิติด้วยกัน  ประการสุดท้ายการที่ไทยตั้งอยู่ในจุดกึ่งกลางบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่อาเซียนย่อมได้รับประโยชน์จากปริมาณการคมนาคมขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับจีน (และอินเดีย) มากยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ บริษัทด้านขนส่ง คลังสินค้า ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ จะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่าไทยเป็นประเทศขนาดเล็กที่ถูกกำหนดด้วยข้อผูกพันทางการค้าระหว่างประเทศ การเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีโลกจะต้องให้ความสำคัญกับการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังนั้นการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนขณะนี้นโยบายที่รัฐบาลเดินหน้าคือการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างไทยกับภูมิภาคเช่น การร่วมมือกับจีนในการพัฒนารถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง และการผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับภูมิภาคได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆที่เป็นประโยชน์ในพื้นที่ได้

นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ 6 ด้านอันประกอบด้วย (1) เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน  (2) ยกระดับคุณภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษา (3) ผลิตกำลังคนให้มีทักษะสอดรับกับตลาดแรง งานอาเซียน (4) มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (5) มีการพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเคลื่อนย้าย/แลกเปลี่ยน และ (6) เสริมสร้างเครือข่ายระหว่างกันในภูมิภาค

ทั้งนี้จะมีการจัดตั้ง ศูนย์อาเซียนศึกษาจำนวน 447 ศูนย์ ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาสู่ความเป็นนานาชาติ รองรับนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติในประชาคมอาเซียน ให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค และให้มีการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน นอกจากนี้จะมีการตั้งศูนย์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วย ให้กับผู้เรียน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ระดับเขตพื้นที่และภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และบรรจุเนื้อหาในโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เป็นต้นสำหรับภาษาประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือภาษาอาเซียน อื่นๆก็จะเร่งดำเนินการควบคู่กันไปให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการ ทั้งยังพัฒนาและยกระดับภาษาแก่กำลังคนอาชีวะ

สำหรับมาตรการทางเศรษฐกิจ นอกจากการสร้างเสถียรภาพด้วยการรักษาความสัมพันธ์ ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ต้องแสวงหาความร่วมมือใหม่ เปิดตลาดใหม่ที่มีความสำคัญมากได้แก่ 1) การขยายความร่วมมือเพื่อนบ้านและอาเซียนบนพื้นฐานของการพึ่งพาและผลประโยชน์ร่วมกัน อย่างเท่าเทียม ได้บรรลุเห็นชอบร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่องเช่น การผลักดันเป้าหมายขยายปริมาณมูลค่าการค้าและการลงทุนของสองประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 ปี, การเชื่อมโยงกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสองฝั่ง, การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร การคมนาคม การเพิ่มปริมาณการเดินรถ การเชื่อมโยงทางบกและเส้นทางรถไฟ เพื่อผลักดันให้ปริมาณการค้าสินค้าของสองประเทศเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นได้หารือเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว พลังงาน แรงงาน การเกษตร และสาธารณสุข การแพทย์นะครับ ภายใต้แนวคิดและนโยบาย Thailand + 1 เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประชาคมของเรา ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่มีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน

2) ในเรื่องของการรักษาตลาดที่มีอยู่แล้วเดิม อาทิเช่น การส่งเสริมการค้า การลงทุน การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย จีน ที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดัน ด้านการค้าการลงทุน และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองประเทศนะครับ ได้มีการตั้งกลไกการประสานงาน เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในด้านการค้าและการลงทุน มีการลงนามกรอบความร่วมมือ เพื่อกระชับความร่วมมือ อาทิเช่น
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558 - 2565 และ (2) การซื้อขายข้าว 1 ล้านตัน และยางพารา 2 แสนตัน (3) ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีน 10 ล้านคนในปีหน้า

3) รวมความถึงการเปิดตลาดใหม่ อาทิเช่น ส่งเสริมความร่วมมือไทยกับประเทศต่างๆ ในหมู่เกาะแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และประเทศอินเดีย รัสเซีย กลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ในเรื่องของความร่วมมือ ทางด้านการเกษตร ประมง สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การพัฒนาการเกษตร และสาขาอื่นๆ ที่สองฝ่ายสนใจร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

การเปิดประชาคมอาเซียนจะยังผลต่อประเทศไทยในหลายประการด้วยกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงขึ้นอยู่กับคนไทยว่าได้เตรียมพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร นั่นคือเรื่องที่น่าคิด