ถอดสมการความคิด “จีน”กับประชาชาติลุ่มแม่น้ำโขง

by ThaiQuote, 23 มีนาคม 2559

THAI QUOTE เปิดมุมมองในมิติของ “รศ.ดร.กนกวรรณ  มะโนรมย์ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี  หัวหน้าโครงการวิจัยสังคมวิทยาในลุ่มน้ำโขง กับกรณีการปล่อยน้ำจากเขื่อนของจีนในแม่น้ำโขง ที่กลายเป็นข้อถกเถียงถึงมิติในเชิงลึกกับท่าทีของมหาอำนาจอย่างประเทศจีน และการแก้ปัญหาร่วมกันของประชาชาติประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง

000… ประเทศอื่นมองอย่างไรกรณีการปล่อยน้ำของจีนลงแม่น้ำโขง

                ประเทศอื่นคงมองเหมือนกันโดยเฉพาะประเทศท้ายน้ำ CLMV  ที่ได้รับประโยชน์ เพราะแล้งครั้งนี้ถือว่าแล้งหนักทั้งภูมิภาคก็คงจะเห็นประโยชน์ที่จีนปล่อยน้ำลงมา ตรงนี้มองในเชิงของประโยชน์แต่ในทัศนะส่วนตัวก็มองว่าจีนกำลังเล่นบทเป็นผู้ควบคุมจัดการน้ำในแม่น้ำโขง ทำหน้าที่ควบคุม มีอำนาจเหนือประเทศอื่น ๆในการควบคุมจัดสรรน้ำและกำหนดชะตากรรมของประเทศอื่น ๆด้วย คือแล้งก็ปล่อยน้ำให้น้ำท่วมก็กักน้ำ เป็นผู้มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง  รวมถึงการควบคุมทรัพยากรด้วย เพราะจีนเป็นต้นทางอยู่ทางเหนือของแม่น้ำโขง เขาได้เปรียบ

000...ที่ผ่านมาเคยมีการคุยกับทางจีนในระดับภาคีลุ่มแม่น้ำโขง

                เรื่องนี้คุยกันมานานในสมาชิก  คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission  MRC) ก็คุยกัน ปัจจุบันจีนก็ไม่ได้เป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการชุดนี้ และจริง ๆภาคีเองก็อยากให้จีนเข้ามาเป็นสมาชิก  MRC  เช่นเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาจีนไม่ตอบรับ

000...เหตุผลของการไม่ตอบรับเข้าภาคี?

 แน่นอนตรงนี้จีนอาจจะมองว่า การที่เขามาเป็นสมาชิก MRC จะอยู่ภายใต้กฎระเบียบแม่โขง  ที่เป็นข้อตกลงร่วมกันในปี 1995 ตรงนี้ที่จีนไม่อยากอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้เพราะอาจทำให้เสียประโยชน์ในเรื่องของการบริหารจัดการในส่วนของเขา ซึ่งการไม่เข้า MRC ก็จะทำให้จีนเองมีอิสระในการจัดการได้มาก ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ MRC พูดกันมานานแล้ว

000...MRC ประกอบด้วยประเทศอะไรบ้าง

MRC ปัจจุบันมีอยู่ 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจะเป็นกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างทั้งหมดที่ยังไม่รวมจีนกับพม่า แต่ในอนาคตอันใกล้นี้เชื่อว่าพม่าก็คงจะเข้าร่วมกับภาคีนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากพม่าก็เริ่มจะต้องหันมามองและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกัน ทั้งในด้านของการบริหารน้ำ และในเรื่องของคมนาคมขนส่ง

000...เมื่อจีนกุมอำนาจในการบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุผลหลักที่ไม่ยอมเข้า MRC

ถูก....เรื่องของการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง(ถ้านับความยาวตลอดสาย) จีนได้เปรียบอยู่ตลอดเวลา และในทุก ๆ สถานการณ์จีนควบคุมจัดการเรื่องของการบริหารน้ำได้เกือบทั้งหมด  ทั้งเรื่องการ ปล่อยน้ำการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง รวมไปถึงการคมนาคมขนส่ง และที่สำคัญจีนไม่ยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของเขาเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องของการปล่อยน้ำว่าจะปล่อยน้ำเมื่อไหร่? เป็นปริมาณน้ำเท่าไหร่? และปล่อยยังไง? ซึ่งถ้าจีนเปิดเผยข้อมูลการจัดการด้านบนของแม่น้ำโขง ประเทศต่าง ๆในลุ่มน้ำโขงตอนล่างก็จะสามารถประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและสามารถบริหารจัดการน้ำได้ง่ายขึ้นว่าควรจะกักน้ำเท่าไหร่ มีปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่ ทั้งหมดนี้เมื่อจีนไม่เปิดข้อมูลส่วนนี้ ก็จะช่วยได้มาก แต่จีนเลือกที่จะปิด

ซึ่งถ้าโอเพ่นแอสเซทแล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของพับบลิค ตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการร่วมกันได้มาก แต่ปัจจุบัน จีนไม่ได้เป็นแบบนั้น

000...การปล่อยน้ำของจีนครั้งนี้ อาจารย์มองว่า เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว? 

                ใช่ ...ครั้งนี้การปล่อยน้ำเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาชั่วคราว ทำให้ปริมาณน้ำมากขึ้นเล็กน้อย ได้ประโยชน์ลดทอนปัญหาความแล้งได้บ้าง  ซึ่งก็ไม่ปฏิเสธว่าแก้ปัญหาภัยแล้งในภูมิภาคได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะยั่งยืนมากน้อยเพียงใด?

000...แนวทางการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนควรจะเป็นอย่างไร?

                ถูก ....จีนควรจะมาคุยกันในภาคีด้วยการเข้าร่วม MRC แสดงความจริงใจที่จะแก้ปัญหา และบริหารจัดการร่วมกันอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ทำให้เป็นเรื่องของบุญคุณเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ใช่ว่าต่างคนต่างทำ วันนี้จีนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ กลายเป็นเรื่องการต่อรองทางการทูต และผลประโยชน์บนความเดือดร้อนร่วมกันของประชาชาติลุ่มน้ำโขง กลายเป็นเรื่องของบุญคุณ เป็นเรื่องของอำนาจในการบริหารจัดการ

                คือจีนน่าจะมาคุยกันบนโต๊ะ แล้วเอาข้อมูลมาแชร์กันและบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ประเมินสถานการณ์วิเคราะห์ร่วมกันว่าสถานการณ์น้ำเป็นอย่างไร ควรจะปล่อย จะเก็บกักน้ำ อย่างไร เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาคที่ยั่งยืนมากกว่านี้