“รีวิวสินค้า” ลับ ลวง พลาง ดารา เน็ตไอดอล และเจ้าของสินค้า

by ThaiQuote, 24 เมษายน 2561

การรีวิวสินค้าถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในระดับแนวหน้าที่สร้างความสำเร็จให้กับสินค้าหลายประเภท และกระทำมาเป็นเวลานาน ในระยะเริ่มต้นเป็นการรีวิวจากผู้ใช้จริงหรือที่เรียกว่าแฟนพันธุ์แท้ในหมวดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง เพื่อสร้างตัวตนของตนเองทางออนไลน์ โดยเริ่มต้นจากการไปรีวิวในพันธิป จนเป็นที่รู้จักมียอดคนเข้ามาติดตามและแชร์เป็นจำนวนมาก จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้นักการตลาดเห็นช่องทาง จึงได้ติดต่อและเชิญนักรีวิวเหล่านี้ไปรีวิวสินค้าของตน จนประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดเป็นตัวอย่างตามๆ กันมา

จากการสัมภาษณ์ของ “ThaiQuote” ไปยังอดีตนักการตลาดออนไลน์ที่ดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและปัจจุบันได้กลายมาเป็นนักรีวิวสินค้าเครื่องสำอางเล่าให้ฟังว่า เกรดของนักรีวิวสินค้ามีหลายเกรด ถ้าหากเป็นสินค้าที่อยู่ในระดับที่คนในวงการหรือคนบนโลกโซเชียลเรียกว่า “สก้อย” หรืออยู่ในเกรดต่ำก็จะรับค่าจ้างเพียง 200-300 บาท ต่อ 1 เรื่อง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้ทดลองใช้สินค้าก่อน แต่นำเสนอเสมือนหนึ่งได้ใช้สินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคหรือคนอ่านเชื่อใจ ส่วนระดับสูงขึ้นไปหน่อยก็ 2,000 บาท ต่อเรื่อง นักรีวิวกลุ่มนี้จะเลือกภาพลักษณ์ของสินค้าขึ้นมาหน่อย และทางเจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องส่งข้อมูลสินค้ามาให้เพื่อศึกษา ส่วนจะใช้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่เป้าหมายการเขียนก็คือต้องทำให้คนเชื่อว่าใช้จริง มีผลงานในการรีวิวที่มากพอ ทำให้คนรู้จักและมีตัวตนบนโลกออนไลน์ แต่ยังไม่ถึงขั้นเน็ตไอดอล

สำหรับเน็ตไอดอล พวกนี้จะต้องมีเพจเป็นของตัวเอง หรือมีช่องยูทูปเป็นของตนเอง และต้องมีคนติดตามไม่น้อยกว่า 100,000 คน ซึ่งอัตราการจ้างเน็ตไอดอลมารีวิวสินค้าถ้าหากเป็นบทความ (Content) จะอยู่ที่เรต 20,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความดังของเน็ตไอดอลคนนั้น แต่ถ้าหากทำเป็นคลิปวิดีโอราคาก็จะอยู่ที่ 50,000-80,000 บาท ต่อผลิตภัณฑ์

ถ้าหากเป็นดาราที่มีชื่อเสียงค่าจ้างในการรีวิวสินค้าจะอยู่ที่ระดับ 100,000 บาท เป็นต้นไป และถ้าหากเป็นแม่ทีมด้วยแล้วก็จะมีผลประโยชน์ส่วนอื่นประกอบด้วย อย่างไรก็ตามทั้งเน็ตไอดอลและดารา ต่างก็ไม่มีการการันตีว่าได้มีการทดลองใช้สินค้าจริงหรือไม่ บางรายอาจมีการใช้จริง บางรายก็เพียงแค่ให้เจ้าของผลิตภัณฑ์นำรายละเอียดของสินค้าที่ต้องการเผยแพร่มาให้พรีเซ็นเตอร์หรือเน็ตไอดอลได้รีวิว และหลายครั้งเน็ตดารา หรือ ไอดอล เหล่านี้ก็เป็นเหยื่อของเจ้าของสินค้าอีกทอดหนึ่ง

อดีตนักการตลาดออนไลน์และปัจจุบันได้ผันอาชีพมาเป็นนักรีวิวกล่าวว่า ถ้าหากคนที่เป็นนักท่องเน็ต หรือเป็นคนที่ติดตามอ่านรีวิวอยู่สม่ำเสมอจะดูออกว่าอันไหนชวนเชื่อหรืออันไหนเป็นรีวิวจริง แม้ว่ารีวิวปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการรับเงินแล้ว แต่ก็ดูออกได้ถ้าหากมีประสบการณ์มากพอ ที่ถูกหลอกส่วนใหญ่คือพวกที่ตามโลกออนไลน์ไม่ทัน เห็นอะไรออกมาบอกว่าดีก็จะใช้ตาม วิธีติดตามคือต้องดูจากบทวิจารณ์ที่หลากหลาย แต่ก็อีกนั่นแหละ ปัจจุบันนี้ถ้าหากเป็นสินค้าบางตัวก็จะใช้กลยุทธ์จ้างนักรีวิวราคาถูก แต่ใช้หลายๆ คน หรือแม้แต่สินค้าเกรดระดับปานกลางขึ้นไปก็นิยมที่จะใช้นักรีวิวหลายๆ คนที่คนในวงการเรียกว่า Micro  Inferences  ช่วยกันรีวิวสินค้าตัวใดตัวหนึ่งในหลายมิติ หลายความเห็นแต่เป้าหมายเดียวกัน ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ นิยมที่จะศึกษาข้อมูลทางออนไลน์ อ่านความคิดเห็นจากนักรีวิวก่อนซื้อสินค้า จึงเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้อาชีพนักรีวิวเหล่านี้เติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในหมวดของเครื่องสำอาง อาหารเสริม อาหารลดน้ำหนัก เป็นต้น

ทางด้าน พ.ต.อ. ประทีป  เจริญกัลป์  ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้สัมภาษณ์กับ “ Thaiquote” ว่า การร้องเรียนเกี่ยวกับพรีเซ็นเตอร์รีวิวสินค้ามายัง สคบ.ที่ผ่านมามีไม่มาก แต่สำหรับในกรณีของเมจิกสกินนั้น เริ่มต้นมีผู้มาร้องกับสคบ.ไม่ถึง 100 ราย แต่ครั้นข่าวที่ตำรวจและอ.ย.ไปจับกุมผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ทำให้มีผู้ร้องเรียนเพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 400 คน ซึ่งผู้ร้องเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช่ผู้บริโภค แต่เป็นผู้ที่เป็นเครือข่ายการขายตรงของเมจิกสกินที่ต้องการมาร้องเรียนที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากซื้อสินค้ามากักตุนและต้องการเรียกร้องเงินคืน ในกรณีดังกล่าวทางสำนักงาน สคบ.ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ ทำได้แต่นำการร้องเรียนดังกล่าวไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการในฐานะคดีความที่ผิดต่อกฎหมายของ อ.ย.ต่อไป

สำหรับปรากฏการณ์ที่กลยุทธ์ทางการตลาดออนไลน์สมัยใหม่ที่นิยมจะทำการตลาดแบบรีวิวสินค้า โดยอาจนำเน็ตไอดอล หรือดาราที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์นั้น พ.ต.อ. ประทีป  กล่าวว่าพฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายการโฆษณา ซึ่งกฎหมายไม่มีการห้ามไม่ให้มีการรีวิวสินค้าเพียงแต่จะต้องไม่ผิดใน 3 หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้คือ 1. ต้องไม่เป็นข้อความอันเป็นเท็จ 2. ไม่กล่าวเกินจริง และ 3. ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ซึ่งถ้าหากสินค้าใดที่มีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ก็จะอยู่ภายใต้กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่ถ้าไม่มีกฎหมายเฉพาะดูแลก็จะเป็นหน้าที่ของ สคบ.

พ.ต.อ. ประทีป กล่าวว่าโดยความเห็นส่วนตัวแล้วคิดว่าควรเป็นจรรยาบรรณของบุคคลสาธารณะที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีการตรวจสอบงานของตนเองก่อนว่างานนั้นถูกกฎหมายหรือไม่ มีการแอบอ้างหรือหลอกลวงหรือเปล่า ซึ่งสามารถหาตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐได้ ตัวอย่างเช่นกลุ่มของอาหาร ยาและเครื่องสำอาง

Tag :