เงินดี-งานสบาย แต่ตำรวจไม่อยากทำ ถอดรหัสปัญหา “พนักงานสอบสวน”

by ThaiQuote, 18 ธันวาคม 2561

"เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจมา หรือแม้แต่จบปริญญาตรีสายกฎหมายแล้วมาสอบเป็นพนักงานสอบสวนก็มีเงินเดือนกว่า 3 หมื่นบาทแล้ว ทั้งค่าตำแหน่ง ค่าสอบสวน เงินเดือน ผมถามหน่อยว่าจบวิศวะมามีเงินเดือนขนาดนี้มั้ย แต่ที่เขาไม่อยากทำตำแหน่งนี้กันเพราะมันเครียด มันเหนื่อย มันเจอแต่ปัญหา แต่ปัญหามันไม่ได้มาจากเรื่องงาน มันมาจากเรื่องคน คนตำรวจด้วยกันเอง"

ประโยคแรกที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ และอดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สะท้อนคำตอบจากคำถามที่ว่า "ทำไมตำรวจไทยถึงไม่อยากเป็นพนักงานสอบสวน" ก่อนที่เขาจะขยายความกับ ThaiQuote ถึงประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ โดยตำแหน่งพนักงานสอบสวนถือเป็นตำแหน่งที่ "ไร้อนาคต" เพราะถึงทุกวันนี้ยังไม่เคยเห็นพนักงานสอบสวนคนไหนเติบโตเจริญในหน้าที่การงานได้เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจแม้แต่คนเดียว

พ.ต.อ.วิรุตม์ สะท้อนว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีพนักงานสอบสวนอยู่ราว 10,600 คน และจำนวนนี้กว่า 90% มาจากสายปริญญาตรีกฎหมาย เพราะนักเรียนนายร้อยตำรวจมักจะไม่มาทำหน้าที่นี้หลังเรียนจบ เนื่อด้วยเขารู้กันดีว่ามันไม่มีอนาคต แม้แต่คนที่เรียนจบปริญญาตรีมาแล้วมาสอบเป็นตำรวจ ก็อยู่กันแค่แป๊ปเดียวไม่เกิน 3 ปี หลังจากนั้นหาทางวิ่งเต้นย้ายออกกันแทบทั้งนั้น

"ปัญหาคือมันไม่ใช่ว่าเป็นเพราะเรื่องงานหนัก และเงินน้อย หลายคนเอาไปตีความหมายผิดๆ ว่าพนักงานสอบสวนงานมันหนัก ผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่ พนักงานสอบสวนที่โรงพักต่างจังหวัดแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะงานมันน้อย จะงานชุกก็ในกรุงเทพมหานคร หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ประเด็นคือเขาหนักใจ งานหนักไม่เท่าไหร่หรอก แต่ชีวิตพนักงานสอบสวนมันหนักใจจนทำให้เครียดมากกว่าจะเครียดกับงาน” พ.ต.อ.วิรุตม์ ฉายภาพปัญหา

สิ่งที่ทำให้พนักงานสอบสวนเครียดนั้น อดีตตำรวจผู้นี้ อธิบายว่า เป็นเพราะตำแหน่งพนักงานสอบสวนมันไร้ความก้าวหน้า จึงเป็นตำแหน่งของตำรวจที่ไม่มีใครอยากจะมาอยู่ เราจึงได้เห็นภาพการจับฉลากสุ่มเลือกตำรวจมาทำหน้าที่แทนกัน อีกทั้ง ตำรวจไทย “มีศักดิ์ศรี” ทำงานก็ต้องการจะเติบโตก้าวหน้า

อีกทั้งเรื่องเงินไม่ใช่ประเด็นสำคัญเพราะที่ได้รับมันก็มากอยู่แล้ว นักเรียนนายร้อยตำรวจจบมาใหม่ๆ หรือคนที่จบปริญญาตรี จบเนติบัณฑิตมาแล้วเลือกอาชีพตำรวจ อายุเฉลี่ยก็อยู่ที่ราว 22-25 ปี ได้เงินเดือนราว 15,000 บาท เงินเพิมพิเศษอีก 12,000 บาท ค่าตำแหน่งอีก 5,000 บาท ตีแล้ว 30,000 บาทแต่ละเดือนจะต้องมี

“30,000 บาทต้องอยู่กระเป๋าพนักงานสอบสวนทุกเดือนอยู่แล้ว ผมถามหน่อยว่ามันน้อยหรือเปล่า เรียนจบอะไรมาก็ยังไม่ได้ขนาดนี้ แถมสวัสดิการต่างๆ ทั้งบำเหน็จบำนาญอีก แต่ประเด็นคือ การแต่งตั้งโยกย้ายที่ส่งผลถึงการเติบโตในหน้าที่การงาน ตำแหน่งนี้มันถูกมองข้าม”

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่สังคมพอรับรู้เกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติของสีกากีไทย สิทธิ์ได้รับตำแหน่งนายพล หรือน้อยที่สุดคือพลตำรวจตรี ก็ต้องเป็นของผู้ที่ร่ำเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และส่วนงานอื่น หรือคนที่จบปริญญาตรีแล้วมาเป็นตำรวจ ก็น่าจะเข้าใจในจุดนี้ แต่สำหรับ พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่า ธรรมเนียมที่คิดกันแบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะต้องมีความเท่าเทียมกันในหมู่ราชการ อีกทั้งวิทยฐานะ และคุณวุฒิก็ต้องเท่าเทียมกัน ปริญญาตรีจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอื่นก็มีศํกดิ์ศรีเหมือนกัน ดังนั้น จะมาแบ่งกันแบบนี้ก็คงไม่ใช่เรื่อง ถ้าเป็นอย่างนั้น จะเอาคนดีๆ ที่ไหนมาทำงานเป็นพนักงานสอบสวน

เมื่อเราถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานสอบสวนนั้น จะมีปัญหาต่อภาพลักษณ์ที่กระทบต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ให้คำตอบว่า ไม่ต้องห่วงว่าอนาคตจะมีปัญหา เพราะปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว และไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์เท่านั้น แต่คุณภาพของพนักงานสอบสวนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มา มันไม่มีคุณภาพเลย นั่นเพราะพนักงานสอบสวนมาทำหน้าที่ด้วยความ "ไม่เต็มใจ" และผลพวงมันก็กระทบไปยังกระบวนการยุติธรรมทันที

และต่อให้แม้จะได้คนที่ “มีใจ” จะมาทำงานเป็นพนักงานสอบสวน เมื่อเจอความไม่ยุติธรรมกันเองก็ยังอยู่ไม่ได้ มาทำงานได้แค่ 2-3 ปี ก็หาเรื่องย้ายออกแล้ว นั่นเพราะงานระบบตำรวจมีปัญหาฉ้อฉลอย่างมาก ทั้งการวิ่งเต้นคดี แรงกดดันในการทำคดีจากผู้บังคับบัญชา 

“เมื่อเจอผู้บังคับบัญชาสั่งลงมา ทั้งไม่ให้ทำคดี ไม่ให้รับเรื่องร้องทุกข์ เพราะกลัวจะมียอดคดีมากเกินไป เดี๋ยวเกรดโรงพักจะมีปัญหา พนักงานสอบสวนมาเจอแบบนี้ก็ท้อ เพราะชาวบ้านที่มาร้องทุกข์ให้ทำคดีก็เดือดร้อน แต่นายก็สั่งไปอีกอย่าง ประชาชนที่ต้องการที่พึ่งก็ไม่ได้ที่พึ่ง นี่คือสิ่งที่พนักงานสอบสวนหนักใจ มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องเนื้องาน แต่คือระบบ ระบบการบริหารที่มีปัญหา”

ท้ายสุด หนทางแก้ไขปัญหาจากผู้ที่เคยเป็นตำรวจอย่างพ.ต.อ.วิรุตม์ ทิ้งท้ายคำตอบอย่างน่าคิดตาม เขาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบันจะต้องมี “แอคชั่น” กับวงการพนักงานสอบสวนบ้าง โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องเป็นธรรมทุกระดับชั้น ไม่ใช่ว่าจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ได้เติบได้โตในหน้าที่การงาน

“เพื่อนได้เป็นพลตำรวจโท แต่เพื่อนที่ทำงานมาด้วยกันยังเป็นพันตำรวจตรี อย่างนี้มันก็ไม่ยุติธรรม จะมาแต่งตั้งกันตามรุ่นตามพวกแบบนี้มันแย่ ผู้มีอำนาจต้องวางหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมในการแต่งตั้ง และให้คำนึงถึงพนักงานสอบสวนบ้าง อย่าลืมว่าตำแหน่งนี้มันเป็นตำแหน่งนั่งโต๊ะ วันๆ อยู่กับเรื่องเดือดร้อนทุกข์ใจของประชาชน เขาจะเอาเวลาที่ไหนไปเสนอหน้าไปวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่งเหมือนสายงานสืบสวน หรือป้องกันปราบปราม ถ้าไม่ทำก็เสียขวัญกันไปเรื่อยๆ” พ.ต.อ.วิรุตม์ ทิ้งท้าย