ประเพณีวันสงกรานต์ รับปีใหม่ไทย

by ThaiQuote, 13 เมษายน 2562

วันสงกรานต์นับเป็นวันปีใหม่ไทย ซึ่งคนยุคใหม่มักคิดเพียงแต่การเล่นน้ำสาดกัน แต่ที่จริงแล้วประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่งดงามของคนไทยที่สืบทอดมาเป็นเวลานาน โดยหัวใจอยู่ที่กิจกรรมที่มีต่อสถาบันครอบครัว

กิจกรรมที่สำคัญในวันสงกรานต์ที่สืบทอดกันมา และเมื่อทำแล้วเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตประกอบไปด้วย

1. การทำบุญตักบาตร หรือนำอาหารไปถวายพระที่วัด เพื่อสืบทอด ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

2. การก่อเจดีย์ทราย (ขนทรายเข้าวัด) จะทำในวันใดวันหนึ่ง ของวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทราย มาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้าง หรือถมพื้นที่ เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด

3. การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ที่นิยมทำในวันสงกรานต์ ซึ่งมีประวัติเล็กน้อย คือ ก่อนหน้าวันสงกรานต์เป็นหน้าแล้งอากาศร้อนจัดน้ำแห้งขอดขาดตอนเป็นห้วงๆ คงเหลือแต่ที่มีแอ่งและหนองน้ำ ปลาก็ตกคลัก อีกไม่ช้าพอน้ำแห้งหมด ปลาเหล่านั้นก็จะต้องตาย ชาวบ้านจึงพากันไปจับปลาที่ตกคลัก ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อได้หนังอะไรก็เลี้ยงไว้ในตุ่มเอาบุญ แล้วนำไปปล่อยในวันสงกรานต์ จึงเกิดเป็นประเพณีปล่อยปลา และลามมาถึงปล่อยนกด้วย

4. ส่วนในปัจจุบัน การปล่อยนกปล่อยปลา ที่นำสัตว์ที่จับมาให้ปล่อยที่วัดต่าง ๆ น่าจะเป็นการทำร้ายสัตว์และสร้างบาปมากกว่าการทำบุญตามคติทางพระพุทธศาสนา และเป็นการทารุณสัตว์ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม และสมควรจะพิจารณายกเลิกประเพณีนี้

5. การทำบุญอัฐิ เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน หรือบางท้องถิ่นอาจจัดรวมกันที่วัดก็ได้

6. การสรงน้ำพระ มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นศิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่นอกจากนี้ยังมีการ รดน้ำญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพรตามประเพณี เหตุที่มีการสรงน้ำ รดน้ำ สาดน้ำในวันสงกรานต์ เนื่องมาจากความเชื่อ ที่ว่าการสาดน้ำ จะช่วยให้ฝนฟ้าตกบริบูรณ์ประการหนึ่ง น้ำเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีน้ำการเพาะปลูก ทำไร่ไถนาก็ได้ผล ประการหนึ่ง และถือกันว่าน้ำเป็นเครื่องชำระมลทินให้สะอาดอีกประการหนึ่ง เหตุนี้น้ำจึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่างๆ อาบน้ำ ซัดน้ำ หรือรดน้ำ เมื่อทำพิธีสมรส อาบน้ำเมื่อตาย อาบน้ำเมื่อโกนจุก หรือบวชนาค

7. การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยใช้น้ำสะอาด หรือน้ำผสมน้ำอบไทยลอยด้วยดอกไม้สด เพื่อแสดงความเคารพนับถือ ซึ่งการเตรียมของเพื่อแสดงความเคารพนั้นจะต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น

8. การเล่นรดน้ำ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องและมิตรสหาย ด้วยการรดน้ำเพียงเล็กน้อยลงที่ไหล่หรือที่มือ พร้อมกับคำอวยพรให้มีความสุข

9. การสาดน้ำ เป็นการสนุกสนานรื่นเริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ คือ สาดน้ำกันโดยมากจะเริ่มต้นในวันสรงน้ำพระ แต่บางแห่งพอเริ่มสงกรานต์ ก็เริ่มสาดน้ำกันทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วใช้น้ำสะอาดมีน้ำอบน้ำหอม หรือแป้งหอมผสมบ้างก็ได้ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย

10. การเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ของแต่ละท้องถิ่นซึ่งมีค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติที่ต่างกันออกไป เพื่อเชื่อมความสามัคคีและเพื่อความสนุกสนาน รวมทั้งการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“ปูสีฟ้า” ข้ามทวีป แพร่พันธุ์ง่าย ไล่เขมือบทุกอย่าง ทำลายระบบนิเวศ