ระวัง! ไข้เลือดออกระบาดหนัก ไม่ถึง 5 เดือน ตายแล้ว “30 ราย

by ThaiQuote, 31 พฤษภาคม 2562

กรมควบคุมโรค สั่งคุมเข้ม “ไข้เลือดออก” ชี้ 5 เดือน พบผู้ป่วย 23,622 รายทั่วประเทศ เสียชีวิต 30 ราย พร้อมสั่งจับตาจังหวัดอุบลราชธานี พบตำบลเดียวตายแล้ว 2 ราย ด้าน ผวจ.อุบลฯ สั่งตั้งวอร์รูมติดตาม แก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด แนะประชาชนยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะ ในปีนี้ส่อรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 พ.ค.2562 พบผู้ป่วย 23,622 ราย เสียชีวิต 30 ราย

ซึ่งในช่วงนี้เป็นฤดูฝนเป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงต้องดำเนินการและติดตามสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยมากที่สุด 1,424 ราย รองลงมา คือ จ.อุบลราชธานี มีผู้ป่วย 1,267 ราย

แต่ที่ต้องจับตา คือ จ.อุบลฯ พบว่ามีผู้เสียชีวิตในตำบลเดียวกันถึง 2 ราย ดังนั้นทางผู้ว่าราชการจังหวัด จึงสั่งให้มีการตั้งวอร์รูมติดตามแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกไม่ให้มีการระบาดและขยายวงกว้าง จึงได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดของ คร. ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี และคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรคลงพื้นที่ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นกับประชาชน

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวอีกว่า สำหรับการประชาสัมพันธ์ คือ

1. ให้หน่วยงานราชการ ติดตามอย่างใกล้ชิด และวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
2. ป้องกันผู้ป่วยเสียชีวิต โดยการจัดตั้ง Dengue Corner (เดงกี่ คอร์เนอร์) และการใช้ Dengue Chart (เดงกี่ ชาร์ต) ในการติดตามรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก
3. การควบคุมยุง โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกพื้นที่ ทุกสัปดาห์ เช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล
4. พัฒนาความรอบรู้ของประชาชนให้เกิดความตระหนักว่าการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกันป้องกัน พร้อมทั้งสนับสนุนเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ขอแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดโดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ
- เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ
- เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

นอกจากนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันและไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เพราะหากเข้ามารับการวินิจฉัยช้า อาจเป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนรักษายากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของปี 2561 ตั้งแต่ 1 ม.ค.-11 มิ.ย.ประเทศไทยมีผู้ป่วยแล้ว 17,302 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตที่ยืนยันแล้ว 21 ราย ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้ป่วยในปี 2562 ที่ยังไม่พ้นเดือน พ.ค. กลับพบผู้ป่วยแล้ว 23,622 ราย เสียชีวิตถึง 30 ราย

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ใส่ใจ “ไทรอยด์” สักนิด ชีวิตปลอดโรค