เปิดมุมมอง ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ นักฟ้องร้องยืนหนึ่ง สู้เพื่อใคร?

by ThaiQuote, 28 มิถุนายน 2562

สัมภาษณ์พิเศษ นักฟ้องร้องในตำนาน ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ เผยตัวเลขฟ้องมาแล้ว 4000 กว่าคดี! ชี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยมาจากนโยบายรัฐ กังวล ‘อีอีซี’ ส่อสร้างปัญหารุนแรงในอนาคต!!!


‘สมัยเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผมก็คอยตรวจดูสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบรั้วมหาวิทยาลัย พอมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เราทนไม่ได้ ก็นำชาวบ้านและนักศึกษาประท้วงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้น 3 วัน 3 คืนปิดถนนสายเชียงใหม่-พร้าว เพื่อสวัสดิภาพของชาวบ้านและนักศึกษา’

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยฉากชีวิตที่เริ่มต้นขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย และเรียนคณะผลิตกรรมการเกษตร สาขาวิชาการพัฒนาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร และไม่ชอบความไม่ยุติธรรม

ด้วยจิตสำนึกส่วนตัวที่ไม่ถูกจริตกับงานราชการ จึงหันเหชีวิตสู่การเป็นเอ็นจีโอเต็มตัว ร่วมงานกับดร.พิชัย รัตตกุล ในมูลนิธิป้องกันควันพิษและสิ่งแวดล้อม นับ 10 ปี และได้เพิ่มเติมความรู้ทางวิชาการ ที่มาเป็นตัวตนที่เรารับรู้ในปัจจุบัน ด้วยปริญญาตรีอีก 2 ใบ ด้านสารนิเทศ และ กฎหมาย ต่อเนื่องด้วยปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์กับปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รวมทั้งปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะและการจัดการ ของมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

‘เมื่อดร.พิชัย ออกจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผมจึงแยกตัวออกทำก่อตั้งมูลนิธิต่อต้านสภาวะโลกร้อน ทำงานในเชิงรณรงค์การก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดมลพิษ รวมทั้งช่วยงานของสภาทนายความ ช่วยทำคดีสาธารณะให้กับชาวบ้าน และเมื่อทำคดีให้ไปแล้ว ชาวบ้านกลับไปสมยอมกับฝ่ายที่ถูกฟ้อง ถอนเรายกเลิกการมอบอำนาจให้เรา ซึ่งเราดำเนินการไปเกินครึ่งแล้ว จึงนำมาสู่การก่อตั้งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เพื่อเป็นผู้ร่วมฟ้องในทุกๆคดี แม้ชาวบ้านจะสมยอมกับผู้ถูกฟ้อง หรือหน่วยงานรัฐ แต่เราจะไม่มีทางถอนคดีจะสู้ให้ถึงที่สุด’ ศรีสุวรรณ เล่าที่มาที่ไปของการก่อตั้งสมาคมของเขาอย่างชัดเจน

เมื่อทำคดีมากขึ้นตามลำดับ ศรีสุวรรณ สังเกตว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ต้นธารของมันมาจาก นโยบายของภาครัฐ รวมทั้งนักการเมืองที่วางนโยบาย ในขณะที่คิดเรียนนี้เขา กำลังศึกษาหลักสูตรการปกครองระบอบประชาธิปไตย ของสถาบันพระปกเกล้า และเมื่อจบการศึกษา จึงได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงถึงแนวทางการตั้งสมาคมเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อเสียงเห็นชอบว่าเห็นควร ศรีสุวรรณจึงตั้งสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขึ้นมา

‘ผมเป็นนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนอยู่แล้ว ถ้าจะนั่ง 2 สมาคมมันก็จะกระไรอยู่ จึงเชิญเพื่อนของผม มานั่งตำแหน่งนายกสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แต่ทั้งหมดนี้การเคลื่อนไหวของ 2 สมาคมก็มาจากตัวผมเป็นหลัก’ศรีสุวรรณตอบคำถามว่าใครเป็นนายกสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

ในช่วงที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ เข้ามาร้องเรียน หรือจะเรียกได้ว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น ในขณะที่ตัวตนหรือแนวทางมุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อถามว่า ภาพทั้ง 2 ด้านนี้จะสามารถรักษาสมดุลอย่างไร เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า เป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะคดีทุกคดีที่ฟ้องไปนั้น เป็นคดีที่ต่อกรกับผู้มีอำนาจรัฐ รัฐมนตรี อธิบดีกรม รวมทั้งเหล่านักการเมือง และการที่เราฟ้องคดีสาธารณะทั้งหมดนั้น เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนว่า เราไม่กลัวเกรงอำนาจรัฐ ที่สำคัญกลายเป็นผลที่ดีในการเดินหน้าชน ทำให้ชาวบ้านเห็นว่า เรา ไม่กลัวคน กลัวใคร ไม่กลัวอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อม การเมืองใดๆ พร้อมทำงานแทนชาวบ้าน เมื่อเขาเห็นเราการสู้แบบนี้ เขาก็ไว้วางใจที่จะมอบหมายหรือขอให้เราช่วยในคดีความต่างๆ

อย่างที่รับรู้ว่า ศรีสุวรรณ ช่วยเหลือทำคดีด้านสิ่งแวดล้อมมาจำนวนมาก เมื่อถามถึงตัวเลขที่ชัดเจนว่าทำมาแล้วกี่คดี เขาตอบอย่างไม่ลังเลว่า 4000 กว่าคดี !

‘บ้านเราปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมีจำนวนมาก จับไปตรงไหนก็เป็นปัญหาหมด ซึ่งมันเป็นปัญหาเรื่องนโยบาย ที่มันอาจจะมีระบบอุปถัมภ์กันระหว่างนักการเมืองและนายทุน มีการวิ่งเต้น เพื่อให้ได้รับใบอนุญาต เรื่องสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย รวมทั้งวิ่งเต้นกับนักการเมือง แต่ชาวบ้านเป็นผู้ได้รับผลกระทบเขาเสียหาย จึงมาขอความช่วยเหลือจากเรา เพราะแม้จะร้องขอกับภาครัฐหรือนักการเมืองแล้ว แต่อาจจะไปถึงทางตัน เพราะมีระบบอุปถัมภ์ที่เข้มแข็ง’

ไล่เรียงถามอย่างต่อเนื่องว่า ในการเลือกคดีที่จะฟ้องร้อง มีการดูองค์ประกอบอะไรบ้าง ศรีสุวรรณตอบชัดเจนว่า ไม่ว่าคดีเล็กหรือคดีใหญ่โต สำหรับเขา เขาฟ้องมอง เพียงแค่ในบางกรณีที่มีข่าวคราวออกมาผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น
คดีเล็กที่ว่าในสายตาคนอื่น เขายกตัวการตัดต้นไม้ของกทม.ย่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน หรือ แถววัดเสมียนนารี เขาก็ไม่ยอมปล่อยผ่านเพราะถือว่า ชาวบ้านสิ่งผลประโยชน์

เคสที่ยากที่ในการทำงานของเขาที่ต้องชนนักการเมือง ศรีสุวรรณบอกว่า เป็นเรื่องการฟ้องร้องโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะกระทบประชาชนหลายพื้นที่ รวมทั้งสิทธิในที่ดินอีกด้วย รัฐก็ใช้อำนาจโดยมิชอบไปริบรอน เมื่อศาลปกครองให้การคุ้มครองคำร้องนั้น ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล และทำให้ต่อเนื่องตรวจสอบต่อมาถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับโครงการของกทม. และโครงการรัฐ อย่างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กและบ้านประชารัฐ ริมคลองลาดพร้าว ที่ผู้รับเหมาก่อสร้างนำเศษวัสดุมาทิ้งลงในคลอง ซึ่งเป็นการขวางทางน้ำอย่างชัดเจน

เมื่อดูปริมาณงานที่ถือว่ามีมาก แต่ในการออกสื่อแต่ละครั้ง มักจะเห็นศรีสุวรรณเป็นหลัก จึงถามถึงทีมงานทำงาน เขาตอบว่า หลักๆการทำงานตรงนี้ มีเพียงเขาเท่านั้น ที่เป็นคนขับเคลื่อนการทำงาน อาศัยข้อมูลจากเครือข่ายที่มีอยู่ แล้วนำมากลั่นกรองข้อเท็จจริงต่างๆ เมื่อสรุปได้แล้ว จึงนำมาเทียบกับข้อกฎหมาย เพื่อเขียนคำร้องฟ้องต่อไป

จากภาพลักษณ์ที่เป็นนักฟ้องร้องคดีต่างๆ นำมาสู่ฉายา นักร้อง ของเขา ศรีสุวรรณ ตอบมีรอยยิ้มเล็กๆว่า ไม่ได้รังเกียจหรือไม่ชอบใจกับฉายาที่ได้รับ และยังรู้สึกภูมิใจที่มีคนให้ความสำคัญ คนที่ชื่นชมยินดีนั้น ส่วนตัวขอขอบคุณ ในขณะที่ฝ่ายเสียงตำหนิตน ยังแอบคิดในใจว่า คนที่ตำหนิตนนั้น ควรจะถามตัวเองกลับว่า สามารถทำได้แบบนี้หรือไม่

‘เขาทำงานช่วยชาวบ้านอย่างที่ผมทำหรือเปล่า หรือเก่งได้แค่เป็นนักเลงหน้าคอมฯ หรืออวดอ้างภูมิรู้ได้เฉพาะที่เท่านั้น แต่ตัวเองไม่เคยทำประโยชน์อะไรให้สังคมเลย ที่สำคัญคนส่วนใหญ่ที่ตำหนิผม มักจะเป็นทาสหรือเป็นสมุนนักการเมือง ประเภทหัวปักหัวปำ ไม่ยอมรับฟังเหตุผลที่ถูกที่ต้องในสังคม’

สำหรับการที่เขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น ศรีสุวรรณมีคำตอบที่ตรงไปตรงมาว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างที่บ้านทำกันอยู่นั้น มันเป็นเรื่องที่ปลายเหตุ แต่เขาคิดสวนทาง เราต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เมื่อย้อนทางขึ้นไปก็คือเรื่องนโยบาย ถ้านโยบายดี ปัญหากับชาวบ้านก็จะไม่เกิด ถ้าคนที่มากำหนดนโยบายเป็นคนที่ใช้ได้ ถ้ามัวไปไล่ฟ้องร้องมันคือปลายเหตุ จึงนำมาสู่การตรวจสอบนักการเมืองอย่างเข้มข้นมากขึ้น

‘จึงกลายเป็นที่เกรงอกเกรงใจของนักการเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหนก็ตาม พอเราไปร้องขอให้ช่วยเหลือ กรณีที่ชาวบ้านมาร้องเรียน ก็ยกหูโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงในส่วนนโยบาย ทำให้การแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ได้รับการแก้ไขรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหลายกรณีไม่ต้องนำไปสู่การฟ้องร้องเลย จบลงที่การประสานงานกัน’

ในสายตานักฟ้องร้องพิทักษ์สิทธิชาวบ้านด้านสิ่งแวดล้อม ศรีสุวรรณ มองถึงปัญหาของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นนโยบายที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างสูงในอนาคต ซึ่งเป็นtop-down policy หรือนโยบายที่สั่งจากข้างบนลงข้างล่าง และจะมีผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งเรื่องสิทธิที่ดินของชาวบ้าน รวมทั้งสิ่งแวดล้อม การประกอบอาชีพ

‘เพราะในกฎหมายที่ คสช. ผลักดันออกมานั้น เป็นกฎหมายที่ให้คณะกรรมการอีอีซีสูงมาก สามารถชี้นิ้วเลือกได้เลยว่าจะให้พื้นที่ไหนมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ เรื่องพวกนี้ถือว่าอันตราย ที่ผ่านมาผมก็ฟ้องร้องเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอีอีซีไปหลายคดีแล้ว ในอนาคตก็จะมีฟ้องร้องอีก ในเรื่องนี้ผมมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดและล้มเหลวของ คสช.’

การที่คสช.กล้าที่จะเดินหน้าโครงการนี้ ศรีสุวรรณ มองว่า เป็นการผลักดันของกลุ่มทุนระดับประเทศ และอยู่เบื้องหลังคสช.มาโดยตลอด ดูได้จากคณะที่ปรึกษาเรื่องเศรษฐกิจมีทั้งกลุ่มทุนหรือตัวแทนบริษัทใหญ่ๆ ไม่มีเลยที่ คสช.จะแต่งตั้งตัวแทนภาคเกษตรกร ตัวแทนคนยากไร้ มีแต่ตัวแทนกลุ่มทุนเท่านั้น และจึงเป็นตัวชี้แนะให้คสช.ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์

‘ การไปคว้านซื้อพื้นที่เพื่อมาทำนิคมประกอบการอุตสาหกรรมในเขตอีอีซีที่ชาวบ้านไม่ยินยอม แต่การมีอำนาจเต็มของคณะกรรมการ จะทำให้เกิดความขัดแย้งทันที และบางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ไว้ เช่น ต.เขาดิน เขตจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าชายเลนสมบูรณ์ แต่เมื่อนายทุนต้องการจึงนำมาสู่การก่อสร้าง ทั้งๆที่ผังเมืองก็เป็นสีเขียวอยู่ ปัจจุบันในเชิงพื้นที่ก็มีความขัดแย้งสูง’

ในเชิงนโยบายการเมืองที่เขาพยายามตรวจสอบนั้น เมื่อไล่เรียงดูพบว่านโยบายสิ่งแวดล้อมมีน้อยมาก ศรีสุวรรณ อธิบายให้เห็นภาพว่า เพราะนโยบายด้านนี้ให้ประโยชน์ในระยะยาว ซึ่งนักการเมืองสนใจหรือต้องการผลประโยชน์ที่ได้รับในระยะสั้นมากกว่า

ส่วนกรณีที่เขาภูมิใจในการต่อสู้และเห็นการเปลี่ยนแปลง เขาเล่าว่าคือคดีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นกรณีการฟ้องร้องที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบอย่างมากมาย ที่ผ่านมาบ้านเราไม่ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แต่ใช้การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)เป็นหลัก และไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

เมื่อเขาทำการฟ้องร้องนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและชนะคดี ทำให้มีการแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง กฎระเบียบต่างๆออกมารองรับ เพื่อแก้ไขตามคำฟ้อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศขนานใหญ่.

 

ปิดมุมมอง ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ นักฟ้องร้องยืนหนึ่ง สู้เพื่อใคร?

 

เรื่องโดย วรกร เข็มทองวงศ์