พูดคุยกับทีมเศรษฐกิจทันสมัย มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ต่อยอดตลาดส่งออกแบบมีนวัตกรรม

by ThaiQuote, 31 กรกฎาคม 2562

พูดคุยกับ ‘อ.อักษรศรี’ หนึ่งในทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนอย่างมีนวัตกรรม ต่อยอดสู่ตลาดการค้าระดับโลก เสนอแนวทาง ‘เถาเป่าวิลเลจโมเดล’ ช่องทางการลดปัญหาความยากจน

ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เรื่องเศรษฐกิจ นั้น คือปัจจัยสำคัญอย่างมากในยุคสมัยนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ปากท้องประชาชนและประเทศ เดินหน้าต่อไปได้
เศรษฐกิจไทย หลายๆคน มองว่าซบเซา บางส่วนก็ว่าไปได้ แต่มีอะไรบ้างที่เราต้องรู้ อะไรบ้างที่จะเป็นตัวชี้ว่าควรจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ที่จะทำให้เศรษฐกิจดีจริง ความยากจนหมดไป

 


พรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดตัวทีมเศรษฐกิจทันสมัย หรือที่เรียกกันเล่นๆว่า ทีมอเวนเจอร์ด้านเศรษฐกิจ หาหนทางให้การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ให้ก้าวไปข้างหน้าแบบยั่งยืน คนมีความสามารถในแวดวงที่เกี่ยวกับด้านนี้มารวมตัวกันอย่างคับคั่ง เพื่อหาทางออก นำไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคง


สำนักข่าวthaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์หนึ่งในทีมเศรษฐกิจทันสมัย รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (Thai-Chinese Strategic Research Center : TCRC) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เริ่มต้นการสัมภาษณ์ อ.อักษรศรี กล่าวถึงที่มาที่ไปในการร่วมงานทีมเศรษฐกิจของประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ไม่ใช่การเข้ามารับงานโดยการเป็นสมาชิกพรรค แต่เป็นการช่วยด้วยใจกับความเคารพในดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา และ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก จึงเข้าร่วมทีมกับ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยของพรรค เป็นงานอาสาสมัครทำด้วยใจ และทีมนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้ง ด้านบ็อกเชน ด้านออนไลน์ ด้านการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น เข้ามาร่วมกันเพื่อหาแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย

 


ในการเดินสายเก็บข้อมูลด้านเศรษฐกิจต่างๆ อักษรศรี ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องของประเทศจีน บอกเล่าว่า ทีมมีแนวทางที่จะนำนวัตกรรม เทคโนโลยีเข้าใช้กับชุมชน เพื่อไปช่วยเหลือเกษตรกรไทย ซึ่งแผนงานของทีม จะเข้าไปช่วยเหลือดูตั้งแต่การผลิต ซึ่งการผลิตในแบบเดิมจะต้องปรับเปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถป้อนผู้บริโภคยุคใหม่


‘ในส่วนที่เชี่ยวชาญนั้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ถ้าพูดภาษาที่เข้าใจง่ายคือ อยากจะนำผลิตภัณฑ์เกษตรกรไทย ไปป้อนผู้บริโภคจีน นำผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ไปสู่ช่องทางออนไลน์ของจีน การที่มาร่วมงานครั้งนี้ การที่จะนำผลิตภัณฑ์ไปสู่ช่องทางออนไลน์ตรงนั้นได้ จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตร ที่มีนวัตกรรม ไม่ใช่โอทอปแบบที่คนไทยคุ้นเคย เพราะสินค้าเหล่านั้นจะไม่ค่อยมีจุดแข็ง สิ่งที่เราทำคือการหาเพชรในตม หาสินค้าทางการเกษตรที่มีนวัตกรรม’

 


จากการลงพื้นที่ของทีมเศรษฐกิจทันสมัย ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บอกเล่าต่อไปว่า เกษตรกรก็ต้องมีการปรับตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อจะนำผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ยกตัวอย่างที่ผ่านมา ไทยจะเน้นการส่งออกข้าวเป็นหลัก ซึ่งมีการแบ่งเกรดข้าวพันธุ์ดี แต่ทั้งนี้ก็ผลิตออกมาในรูปแบบที่เป็นอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ครั้งนี้ในการแนะนำช่วยเหลือเกษตรกรของทีม เราจะไม่ผลิตเพียงข้าวที่เป็นอาหารเท่านั้น แต่เราจะนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม อย่างที่เป็นแป้งเด็กที่ผลิตจากข้าว ตอนนี้เราเจอแล้ว ซึ่งนำมาสู่การทำโครงการ จากรวงข้าวชาวนาไทย แปรรูปป้อนขาช็อปออนไลน์จีน ด้วยนวัตกรรม


‘ตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ที่ได้มาจากผลผลิตทางการเกษตรไทยสู่ออนไลน์จีน โดยนำข้าวจากที่ชาวปลูก มาทำเป็นแป้งผงโรยตัวเด็ก หรือ ไรท์ แคร์ (rice care )ซึ่งจะแตกต่างกับแป้งเด็กทั่วไป เพราะแป้งฝุ่นทั่วไปมีส่วนผสมของสารทัลคัม(Talcum) ซึ่งเป็นแร่หินและเป็นสารก่อมะเร็ง สามารถสะสมในปอดจนเกิดอันตราย แต่แป้งที่เราผลิตจากข้าว จะไม่มีสารตัวนี้ จะเรียกว่าเป็นแป้งออแกนิกก็ได้ เราไม่เอาแค่ข้าวมาทำแค่ของกิน มาทำเส้นหมี่ แป้งหมี่ ซึ่งทำให้ตัวสินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น และในประเทศจีนขณะนี้ สินค้าที่ขายออนไลน์จีนดีที่สุด คือสินค้าหมวดที่เกี่ยวกับเด็ก ดูแลเด็ก และแม่ ผลิตภัณฑ์ตัวนี้ เป็นสิ่งที่คุณแม่ชาวจีนจะมีแนวโน้มสนใจ และซื้อไปใช้’

 


อย่างไรก็ตามแม้จะมีสินค้าตัวนี้ออกมา ผ่านงานวิจัยอย่างมีมาตรฐานแล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จในการเจาะเข้าสู่ตลาดจีน อ.อักษรศรี กล่าวว่า จึงเป็นช่องทางที่เราจะนำสินค้านี้ไปเปิดตลาด ซึ่งหากสามารถเปิดตลาดตรงนี้ได้ จะสามารถช่วยชาวนาไทย ข้าวไทยมีมูลค่าสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องนำไปตรวจสอบตามขั้นตอนและระเบียบของจีน
และสิ่งที่น่าสนใจของการทำงานทีมเศรษฐกิจทันสมัยนั้น คือการเน้นธุรกิจชุมชนเป็นหลัก ไม่ใช่การพัฒนาแบบทุนใหญ่ หรือบริษัทใหญ่ได้ประโยชน์ แต่เป็นการขับเน้นที่การที่ชุมชน หรือ เกษตรกรไทย เป็นผู้ได้ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเป็นที่ตั้ง


อย่างไรก็ดี เมื่อถามภาพรวมเศรษฐกิจไทย อ.อักษรศรี บอกเล่าว่า ปัญหาหลักๆที่เริ่มจากฐานราก อย่างเกษตรกร ปัญหาของเขาคือหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น และที่น่าเป็นห่วงระดับถัดมาคือหนี้สินภาคครัวเรือน ที่คนรุ่นใหม่จับจ่ายใช้สอยมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนบ้าน คอนโด รถยนต์

 


‘ขอเรียนว่าจุดเด่นหรือจุดแข็งของไทยที่ยังแข็งแกร่งนั้น คือหนี้ภาครัฐต่อประชากรมวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ แม้เราอาจจะเห็นภาพการก่อสร้างจำนวนมากของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไม่เป็นการสร้างหนี้ให้กับประชาชนในรุ่นถัดไป ภาครัฐสามารถบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่ มากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเหล่านี้ แล้วยังรักษาวินัยทางการคลังไว้ได้ แต่จุดอ่อนเป็นเรื่องของหนี้ภาคครัวเรือน รวมทั้งหนี้เกษตรกรที่ต้องรอคอยฤดูกาล’


ทั้งนี้ อ.อักษรศรี ขยายความจุดแข็งประเทศไทยต่อไปอีกว่า อัตราการว่างงานเรายังต่ำ พูดง่ายๆว่าเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว มีงานทำกันทุกคน แต่ในขณะเดียวกันบางประเทศ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แม้กระทั่งประเทศจีนเอง ปัญหาคนตกงานมีจำนวนมาก หางานทำไม่ได้มีมาก แต่ไทยยังไม่มีปัญหาในเรื่องนี้


ถัดมา ในเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ ประเทศไทยไม่มี ระดับปัญหานี้ยังสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งหลายๆประเทศเกิดปัญหาตรงนี้ ต่อมาในเรื่องทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ไทยสามารถอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก เพราะเมื่อ 22 ปีที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไม่มีเหลือ จึงนำไปสู่การกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ แต่ในปัจจุบันไทยสามารถสะสมเงินทุนตรงนี้ได้ในระดับที่แข็งแกร่ง ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกา

 


‘จุดแข็งอีกส่วนคือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ไทยถือว่าก้าวหน้า ถนน สนามบิน ระบบราง เราอยู่ในเกณฑ์ดี แต่จุดอ่อนอีกเรื่องที่ต้องจับตา คือการพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง ถ้าพูดง่ายๆคือ เศรษฐกิจไทย ยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศ ต้องพึงพาเศรษฐกิจโลก ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจีน ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัญหา เช่น การส่งออกของไทย 100 % ในผู้ค้ารายสำคัญ จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเรา มีสัดส่วนถึง 16 % ในจำนวน 100 % เมื่อเศรษฐกิจจีนมีปัญหา เราก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย โครงสร้างของไทยตอนนี้พึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป และสินค้าที่เราพึ่งพาต่างชาติยังเป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ เช่น เราส่งออกยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น ไม่มีการเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำให้การส่งออกเราได้ราคาต่ำ และนำเข้าสินค้าเราไปแปรรูป ซึ่งในใจสิ่งที่เข้ามาร่วมงานตรงนี้ คือออยากเข้าเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกของประเทศไทย มุ่งเน้นการทำสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค เปลี่ยนจากเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรม เป็นผู้ผลิตโดยตรงเพื่อป้อนตลาด เช่น ตลาดของจีน ’


อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงแนวทางในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน คิดแนวทางการทำงานไว้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน อ.อักษรศรี มองว่า การทำงานครั้งนี้เป็นการวางแผนงานระยะยาว เป็นการปรับในส่วนโครงสร้าง อย่างเศรษฐกิจชุมชน เน้นไปที่การส่งเสริมการพัฒนาตนเอง พัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลักดันสินค้าโอทอปไปขายที่จีนให้ได้

 


‘เราจะลงไปที่ระดับพื้นฐาน ส่งทีมให้คำแนะนำไปถึงระดับหมู่บ้าน โดยจะรูปแบบโมเดล โดยทำงานกันไปร่วมกับหมู่บ้าน ร่วมพัฒนาด้วยกัน เช่น เกษตรกรที่เราลงพื้นที่ไปร่วมพูดคุย เป็นผู้สูงอายุ เราก็ยกท่านให้เป็นปราชญ์ เชิญท่านมาให้ความรู้กับลูกหลาน ที่เป็นทายาทของเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ที่คุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น อีเมล์ คอมพิวเตอร์ ระบบออนไลน์ต่างๆ ในภาวะสงครามการค้า ถ้ามองผลในระยะสั้น ก็จะเห็นแต่แง่ลบ แต่ส่วนตัวกลับมองว่า เป็นโอกาสที่สำคัญที่เราควรจะหยิบฉวยมา ซึ่งที่ผ่านมาจากที่เคยค้าขายกับสหรัฐอเมริกา จีนจะหันมาให้ความสนใจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และไทยมีแต้มต่อ รวมทั้งเสน่ห์หลายอย่าง อย่างจีนมีแผนในเรื่อง 10 อุตสาหกรรม ปี 2025 หนึ่งในนั้นจะพูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก ที่เป็นวัสดุใหม่ ต่อไปจะไม่ใช่โฟม แต่ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ และไทยเริ่มมีการผลิตภาชนะที่ทำมาจากผักตบชวาขึ้น ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ ตรงนี้คือสิ่งที่จะสามารถต่อยอดได้ในอนาคต ถ้าเรารู้จักนำสิ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาแปรรูป และปรับตามโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งจีนมีแผนรองรับ ไม่แน่ว่า ต่อไปจีนอาจจะใช้ภาชนะจากผักตบชวาของไทย ก็เป็นไปได้ และตลาดจีนก็กว้างขวางอย่างมาก ประกอบกับจีนไม่มีวัตถุดิบเหล่านี้ เพราะจากการชะลอสงครามการค้าจีน-สหรัฐ จีนจะเบนเข็มการลงทุนมาภูมิภาคนี้ มีบริษัทที่จะมาลงทุนในไทยมากขึ้น จึงมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาส’


นอกจากนี้ อ.อักษรศรี ยังบอกอีกว่า สิ่งที่ทีมเศรษฐกิจทันสมัยทำอยู่ในขณะนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า อาจารย์ท่านนี้คือหนึ่งในผู้ร่วมร่างยุทธ์ศาสตร์ฉบับนี้ ซึ่งเป็นการที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ โดยเป็นการเน้นที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดาต้า เพื่อให้เราเป็นผู้ชนะในเศรษฐกิจใหม่นี้


ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน อ.อักษรศรี บอกว่า ในขณะนี้กำลังทำการศึกษา เถาเป่าวิลเลจโมเดล ซึ่งเป็นโครงการในความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและบริษัท อาลีบาบา ที่จีนทำและประสบความสำเร็จ ธนาคารโลกยังต้องมาดูงานโครงการดังกล่าว ซึ่ง เถาเป่า เป็นเว็บไซต์ของบริษัท อาลีบาบา การดำเนินโครงการนี้ เป็นการนำอินเทอร์เน็ตลงในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีประชากรหนาแน่น ซึ่งโครงการนี้ ให้ประชากรในพื้นที่ห่างไกล มีการรวมตัวกัน โดยมีจุดศูนย์กลาง แล้วให้คนในชุมชนดูว่า ใครสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น ทำนา ปลูกผัก ปลูกสตอเบอรี่ เป็นต้น แล้วจะมีตัวแทนหมู่บ้านที่เชี่ยวชาญด้านการค้าออนไลน์ โดยอาจจะเป็นทีมอาลีบาบาไปสอนให้ แล้วชาวบ้านก็จะนำสินค้าไปขายในออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์เถาเป่า แล้วพอมีออเดอร์จากผู้ซื้อ ก็จะมีลอจิสติกส์ของอาลีบาบา เป็นผู้ช่วยในการขนส่ง โดยโครงการดังกล่าวนั้น เริ่มต้นในปี 2014 จนถึงปีนี้ หมู่บ้านที่เข้าโครงการมีจำนวน 3000 กว่าหมู่บ้าน และสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาดอีกด้วย

‘ตรงนี้คือการนำเทคโนโลยีลงสู่ชนบท แล้วสอนให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในยุคดิจิตัล ผ่านการค้าออนไลน์ แต่แน่นอนต้องมีภาครัฐมาช่วย ในตอนเริ่มต้น และได้เอกชนอย่าง อาลีบาบาเข้ามาสนับสนุน เรื่องเทคโนโลยี และเปิดพื้นที่พิเศษ ให้ผู้ซื้อสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้ได้โดยตรง ทำให้คิดว่าไทย สามารถใช้โมเดลนี้ได้ และช่วยแก้ปัญหาความยากจน สร้างรายได้ให้กับชุมชน ผ่านการค้าออนไลน์ นี่คือรูปแบบที่เป็นรูปธรรม ที่จีนทำทำสำเร็จ และเราเรียนรู้ต่อเพื่อจะนำมาปรับใช้ เรื่องหนึ่งที่สำคัญของเถาเป่าวิลเลจนั้น คือคนในชุมชนมีความกระตือรือร้น ในการที่จะเรียนรู้เทคโนโลยี และมีหัวใจในการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีคนแบบนี้สักหนึ่งคน ที่จะมารับหน้าที่ตรงนี้ เพื่อที่จะมาดูแลเรื่องเหล่านี้ให้กับชุมชน’

อ.อักษรศรี สรุปทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ