วงเสวนาถกปมแก้กม. ชี้ ‘รัฐธรรมนูญ 60’ คือตัวเจ้าปัญหา

by ThaiQuote, 12 สิงหาคม 2562

พรรคสามัญชนตั้งวงถกแก้ปัญหารัฐธรรมนูญ2560 ‘จอน’ ชี้ต้องมีส.ว.จากการเลือกตั้ง ‘ทวี’เผยจังหวัดชายแดนใต้ไม่รับร่างรธน.

นอกเหนือจากปมร้อนอย่างการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดูเหมือนความร้อนแรงของการเรียกแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็กรุ่นด้วยดีกรีร้อนท้องร้อนคอคนสนใจการเมืองมิใช่น้อย และ 7 พรรคฝ่ายค้าน ก็โหมทัพลั่นกลองรบตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ยังไงๆ ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญสืบส่งทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แม้ในปัจจุบันตัวตนตามข้อกฏหมายจะไม่มีแล้ว แต่ยังคงเป็นเงาลางอยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
พรรคสามัญชนจัดเวทีเสวนา “การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมนอกสภา” ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และประธานคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน และ นางนุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค

 

 

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวเป็นคนแรกของวงเสวนาว่า แม้เราจะผ่านการเลือกตั้งมาแล้วก็ตาม แต่เราไม่ได้อยู่ในยุคที่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติครั้งที่ 2 ที่กล่าวแบบนี้เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกฯอยู่เป็นสมัยที่ 2 ซึ่งเป็นผลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการฝ่ายกฏหมายรัฐบาล รวมทั้งการมีอยู่ของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งหากไม่มีส.ว.ชุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมไม่มีทางเป็นนายกฯต่อ ซึ่งยิ่งแสดงให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์ยังทำงานอยู่ ยังสามารถชี้นิ้วสั่งได้

‘การจะแก้รัฐธรรมนูญได้นั้น ส.ว.อย่างน้อย 1 ใน 3 ต้องลงคะแนน เห็นชอบกับการแก้ไข แต่ส.ว.เหล่านี้ อยู่ในอำนาจคสช. ยากที่จะให้ยกมือได้ แล้วการแก้รัฐธรรมนูญนั้นแก้ยาก ถามว่า จะแก้อะไร เพราะมีปัญหาหลายจุดเหลือเกิน แต่อย่างแรกที่ควรจะแก้ คือ การทำให้ส.ว.ชุดนี้พ้นวาระไปเป็นอย่างแรก ให้เป็นส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ส.ว.ที่เป็นตัวแทนอาชีพต่างๆ ถ้าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คสช.จะสามารถผ่านกฎหมายต่างๆ โดยอ้างการปฏิรูปประเทศ และสามารถเอาเสียงส.ว.มาสนับสนุนการออกกฏหมายได้ นอกเหนือจากนั้น กลไกตรวจสอบรัฐบาลจะอ่อนแอลง เพราะรัฐบาลเป็นคนเลือกบุคคลทำงานในองค์กรอิสระต่างๆ นอกจากนี้ต้องมีการแก้ไขบทเฉพาะกาลต่างๆที่ให้อำนาจกับ คสช.’ นายจอน กล่าว

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าสังคมเผด็จการ ที่ผ่านมาประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ แต่มีเพียง 1 ฉบับเท่านั้นที่เป็นฉบับของประชาชนและมีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ประเทศไทยมีรากเหง้ามาจากระบบอุปถัมภ์ ที่ผู้น้อยต้องแทนผู้มีอำนาจ ผมมองว่ารัฐบาลปัจจุบันคือระบบอุปถัมภ์ และรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเพื่อให้ พลเอก ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

 


‘’ผมมีประสบการณ์ทำงานในภาคใต้ ตอนที่มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ชื่นชมประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าร้อยละ 80 การที่จะทำให้บ้านเมืองมีความสุข ขั้นแรกจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีสุขอยู่ดีกินดี สองคือกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ปกครองประเทศต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ประชาชนต้องมีสิทธิดำรงชีวิตได้อย่างมนุษย์ รัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะมีความคิด ซึ่งเราจะเห็นว่าวันนี้ประชาชนไม่มีมีสิทธิมีความคิด รัฐธรรมนูญต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พหุวัฒนธรรมต้องมีคุณค่า ต้องให้ความเสมอภาคแก่ทุกชาติพันธุ์ และสำคัญที่สุดรัฐธรรมนูญต้องมีความยุติธรรม วันนี้จะเห็นว่าประชาชนไม่มีโครงสร้างอำนาจที่จะดูแลทรัพยรกรของตนเองเลย เป็นเสมือนขอทานที่ต้องแบมือรับจากรัฐบาล รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงต้องได้รับการแก้ไข” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวว่า การฉีกรัฐธรรมนูญในหลายๆครั้งนั้น โดยอำนาจรัฐประหาร ทำให้มีการตั้งคำถามว่า สรุปแล้วรัฐธรรมนูญ ยังเป็นกฎหมายสูงสุดหรือไม่ และควรจะมีที่มาที่ไปอย่างไร เมื่ออ่านรายละเอียดต่างๆของรัฐธรรมนูญ 2560 เห็นแต่เพียงใครได้ประโยชน์อะไรบ้าง แต่ไม่มีรูปธรรมเรื่องปัญหาปากท้องชาวบ้าน ที่เห็นได้ชัดคือไม่มีการวางแผนรองรับปัญหาภัยแล้งต่างๆ ที่ควรจะมี ไม่มีแผนรองรับด้านสิ่งแวดล้อม มีแต่ปัญหาภัยความมั่นคงที่อยู่ในความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

‘ที่เอ่ยถึงเรื่องภัยแล้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดบทบาทหน้าที่ในการสร้างสำนึกแก่รัฐบาลและราชการ เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้าน และเมื่ออ่านไป พบว่าไม่มีความเป็นรากเหง้าของรัฐธรรมนูญ 2540 หลงเหลือเลย องค์กรอิสระกลายเป็นแขนขาให้กับผู้มีอำนาจ ทั้งที่ความเป็นจริงองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ปกป้องรัฐบาลแบบรัฐธรรมนูญ 2560’ นายเลิศศักดิ์ กล่าว

นางนุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า จากที่ประชาชน เคยรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เคยคิดจะเห็นสังคมที่เป็นธรรม แต่มาวันหนึ่งสังคมที่เป็นธรรมมันเปลี่ยนไป ประชาชนเองมีความแตกแยก การเข้าถึงสิทธิต่างๆ รัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างน้อยมีสภาประชาชน มีสิทธิชุมชน ความเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ แต่รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ไม่ปกป้องประชาชน แต่กลับไปปกป้องชนชั้นนำแทน ลิดรอนสิทธิประชาชนในชนชั้นต่างๆ ไม่คยมีใครพูดถึงปัญหาเหล่านี้

‘ปัญหาที่ดินในปัจจุบัน มันถูกทำให้กลายเป็นสินค้า มันถูกกักตุน มีการรุกล้ำที่ป่า เพื่อนำที่ดินเหล่านั้นมาประเคนให้นายทุน เข้ามาลงทุนโดไม่เสียภาษีด้วยซ้ำ ปัญหาเหล่านี้กระทบไปถึงทุกภาคส่วน ด้วยคำว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่รู้ว่าพิเศษสำหรับใคร ‘