แปลง “ยางพารา” เป็น “ถุงเพาะชำ” เตรียมส่งออก “มองโกเลีย”

by ThaiQuote, 18 สิงหาคม 2562

นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง แปลงร่าง “ยางพารา” เป็น “ถุงเพาะชำชีวภาพ” ย่อยสลายได้ ลดการใช้ถุงพลาสติก ช่วยกู้วิกฤติยางพารา เตรียมส่งออกมองโกเลีย ใช้ในโครงการ “ปลูกป่า ฆ่าทะเลทราย”


นาย วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายณัฐวี บัวแก้ว และนางสาวกุลธิดา เกตุแก้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้เผยแพร่ผลงานการวิจัยเกี่ยวกับการใช้ยางพาราเป็นวัสดุในการทำถุงเพาะชำชีวภาพ ย่อยสลายได้ 


ทั้งนี้การใช้ยางพาราเป็นวัสดุในการทำถุงเพาะชำกล้าไม้ เกิดมาจากการที่สภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันเกิดปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และปัญหาขยะพลาสติกที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นจึงได้มีการทดลองนำยางพาราที่ผ่านการปรับปรุงสูตรให้เหมาะสมต่อการใช้เป็นถุงเพาะชำกล้าไม้ ทั้งสภาพที่คงทน การคงรูปของถุงเพาะชำ โดยสูตรที่คิดค้นขึ้น และจากการทดลองสามารถทำให้ถุงเพาะชำย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ทิ้งสารพิษตกค้างไว้ในดิน เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากถุงเพาะชำเดิม และส่งเสริมให้เกษตรกรได้ลดต้นทุนในการผลิต ประหยัดแรงงาน รวมถึงการรักษารากของกล้าไม้ที่เกิดจากการขนย้ายกล้าไม้อีกด้วย

“ผลงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากต่างประเทศ โดยประเทศจีนและมองโกเลีย ได้ติดต่อขอนำถุงเพาะชำกล้าไม้จากยางพาราไปใช้ในโครงการ “ปลูกป่า ฆ่าทะเลทราย” โดยคุณสมบัติที่อุ้มน้ำได้ดีและมีความคงทน สภาวะแห้งแล้งโดยอยู่ระหว่างการปรับปรุงสูตรเพื่อให้ถุงเพาะชำใช้ได้ทนต่อทุกประเภทของกล้าไม้ และพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ รวมถึงสามารถใส่ปุ๋ยลงในถุงเพาะชำเพื่อบำรุงกล้าไม้ได้อีกด้วย” นายวิจารย์ กล่าว


สำหรับจุดเด่นของนวัตกรรมดังกล่าวคือ เป็นถุงที่ย่อยได้เองในธรรมชาติ โดยมีสารอาหาร ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โปรแตสเซียม (K) ที่อยู่ในถุง โดยเมื่อถุงย่อยสลายแล้วจะกลายเป็นปุ๋ย

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
นวัตกรรมใหม่ พลาสติกย่อยสลายง่าย จาก ต้นกระบองเพชร