ไทย ติดกลุ่มบ๊วย ความพร้อมระบบบำนาญ

by ThaiQuote, 24 ตุลาคม 2562

บลูมเบิร์ก เผย ดัชนีบำนาญโลก 2562 เนเธอร์แลนด์ และ เดนมาร์ก คว้าแชมป์ มีมูลค่าดัชนีสูงสุดที่ 81.0 สูงสุดติดต่อกัน 10 ปี ขณะ ไทย อยู่กลุ่มท้ายตาราง ได้ 39.4 คะแนน จากการสำรวจปีแรก

เว็บไซต์ สำนักข่าว บลูมเบิร์ก เผยแพร่รายงาน“ดัชนีบำนาญโลกเมลเบิร์น เมอร์เซอร์ 2562” ซึ่งเป็นการศึกษาความพร้อมของระบบบำเหน็จบำนาญใน 37 ประเทศทั่วโลก ผ่านการประเมินด้วยเกณฑ์ต่างๆ กว่า 40 เกณฑ์ เช่น สิทธิประโยชน์ของวัยทำงาน การเก็บออม ความเป็นเจ้าของบ้าน การเติบโตของสินทรัพย์ สินทรัพย์รวม ความครอบคลุมของระบบบำเหน็จบำนาญ ประชากรศาสตร์ การเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นต้น

ผลการศึกษาได้จัดให้ ประเทศ เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีระบบรายได้รองรับการเกษียณอายุของพลเมืองดีที่สุดในโลก ทั้งแง่ของคุณภาพและความยั่งยืน ตามมาด้วย ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และชิลี

ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์ มีมูลค่าดัชนีสูงสุดที่ 81.0 และครองอันดับต้นๆ อย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี จากข้อมูล 11 ปี นับตั้งแต่ที่มีการรายงานดัชนีบำนาญ

ปัจจุบัน หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสู่วัย จึงเป็นความท้าทายและเป็นแรงกดดันอย่างยิ่งในการจัดสรรทรัพยากร เพื่อดูแลสุขภาพและสวัสดิการแก่กลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มคนวัยเกษียณ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2613 โลกจะมีประชากรถึง 1 ใน 5 ที่อยู่ในวันเกษียณ

สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีการสำรวจดัชนีบำเหน็จบำนาญในปีแรก มีอันดับอยู่รั้งท้ายตาราง ถูกจัดในเกรด D ได้รับคะแนนภาครวม 39.4 คะแนน โดยพบว่า แม้ไทยจะมีระบบเงินบำเหน็จประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตน มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่นายจ้างสามารถเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์เพื่อการออมอื่น ๆ เช่น ประกันชีวิต รวมถึงกองทุนอาร์เอ็มเอฟ แต่ผู้จัดทำดัชนีชี้วัด เห็นว่ายังไม่เพียงพอและได้แนะนำให้ไทยเพิ่มระบบบำนาญที่มีความครอบคลุมมากขึ้น และให้คำแนะนำเรื่องเกณฑ์ขั้นต่ำ ในการเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุให้กับคนอายุ 60-69 ปี เดือนละ 600 บาท อายุ 70-79 ปี เดือนละ 700 บาท อายุ 80-89 ปี เดือนละ 800 บาท อายุ 90 ปีขึ้นไป เดือนละ 1,000 บาท และให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน

ส่วนคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ สูงสุดที่เดือนละ 6,375 บาท แต่เมื่อรวมเงินสนับสนุนทั้งหมดแล้วก็อาจยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่ได้เก็บออมเงินเพื่อการเกษียณของตนเองด้วย

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเมินว่า คนไทยควรมีเงินออมเพื่อการเกษียณขั้นต่ำ 4 ล้านบาท จึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตเมื่อไม่ทำงาน แต่ทุกวันนี้ คนไทยวัยเกษียณกว่า 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 1 ล้านบาท และผู้สูงอายุเกือบ 1 ใน 3 ยังต้องทำงาน เพื่อหาเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
เตือน !โจรอ้างโครงการ บำเหน็จ-บำนาญ หลอกโอนเงิน