“ไม่มีอิสระจริงบนถนนการเมือง” เมื่อคำว่า “พรรค” ถูกเงิน-อำนาจ ครอบงำ

by ThaiQuote, 1 พฤศจิกายน 2562

เปิดงานวิจัย ชี้พรรคการเมืองและนักการเมืองไทยถูกครอบงำ มีทั้งบุคคล คณะบุคคล อำนาจเงิน และมีอิทธิพลเหนือพรรค

สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดงานนำเสนอผลงานวิจัยหัวข้อ ความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตย : ศึกษากรณีพรรคการเมืองไทยภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายความเป็นพรรคการเมืองของไทยออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้การนำของคนๆเ ดียว เวลาจะเลือกตั้ง ผู้สมัครต้องวิ่งเข้าหาคนๆ เดียว เช่น พรรคของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีหลากหลายชื่อพรรค เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา รวมถึงพรรคอนาคตใหม่เองก็เหมือนกันที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ ความเป็นสถาบันพรรคการเมือง ไม่ควรขึ้นกับคนๆ เดียว ไม่เช่นนั้น หากมีเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น พรรคนั้นจะหมดสภาพไปทันที ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรค เพราะทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับคนๆ เดียว

2.พรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การนำของคนๆ เดียว แม้จะมีหัวหน้าพรรคก็ตาม แต่เป็นลักษณะคณะบุคคล หรือคณะบุคคล อาจหมายถึงคนที่ไม่ได้อยู่ในกรรมการบริหารพรรค แต่มีอำนาจเงินและมีอิทธิพลในพรรค ซึ่งพรรคที่เข้าข่ายคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคแบบนี้ มีความเป็นสถาบันพรรคการเมืองมากกว่าแบบแรก และยั่งยืนกว่า

และ3.การไม่ให้อำนาจคนส่วนใหญ่ แต่ต้องมีคณะทำงาน ซึ่งมีความเป็นองค์รวม และให้ฐานอยู่ที่ประชาชนคนหมู่มาก เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในกิจกรรม ซึ่งที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทย ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนในการจัดตั้งและกำหนดทิศทางการเมืองของพรรคน้อยมาก ดังนั้นพรรคการเมืองต้องมีส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วน จึงทำให้เกิดความยั่งยืน

 

 

ดร.ไชยันต์ ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจกับพรรคพลังประชารัฐ โดยบอกว่า มองไม่ออกว่าเป็นพรรครูปแบบไหน เพราะมีหลายขั้วการเมืองที่เข้ามาอยู่ร่วมกัน และยังไม่รู้ว่าใครคือผู้คุมตัวจริง ด้านพรรคเพื่อไทย บทบาทต่างๆ ของนายทักษิณควรจะลดลง เพื่อเพิ่มการแข่งขัน

“ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค แล้วได้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มาแทน ก็ยังไม่โดดเด่นไม่เป็นที่จดจำ ก็ต้องปรับตัว ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ มีความโดดเด่นของตัวบุคคล 3 คนหลักๆคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และน.ส.พรรณิการ์ วานิช ก็ขอแนะว่าควรทำให้บุคคลอื่นในพรรคเป็นที่รู้จักด้วยเช่นกัน”

ดร.ไชยันต์ สะท้อนอีกว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของบุคคลและคณะบุคคล แม้ว่าจะพยายามเพิ่มพื้นที่ให้กับสมาชิกมากขึ้นก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองหลายมาตรา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำรงสถานะ และกระบวนการคัดสรรผู้สมัคร ก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าความพยายามในการเปิดพื้นที่ให้คนหมู่มาก เป็นผลโดยตรงของกฎหมายพรรคการเมือง แต่กลายเป็นว่าการมีบทบาทเพิ่มขึ้นของสมาชิกพรรค เป็นผลจากการพยายามปรับตัวของพรรคการเมือง เพื่อเอาชนะในการแข่งขันภายใต้ระบบเลือกตั้งใหม่มากกว่า”

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ได้มองว่า การทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะทำแบบเต็มรูปแบบ ขอตั้งข้อสังเกตว่าจะมีไม่กี่พรรคการเมืองที่สามารถทำได้ เนื่องจากหลายพรรคติดขัดข้อกฎหมาย และปัญหาการจัดการ รวมถึงความแตกแยกภายในพรรคจากการที่ต้องเลือกผู้ชนะลงสมัคร

 

 

เพราะการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา พบว่าพรรคอนาคตใหม่ ทำไพรมารี่โหวต แต่มีกระบวนการคือ คัดเลือกก่อนส่งให้สาขาพรรคลงมติอีก โดยอ้างว่าเพื่อให้ได้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกับพรรค พบว่ามีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น ดังนั้นกรณีที่พรรคใช้ไพรมารี่โหวตแบบเปิด ปัญหาจะเกิดขึ้นแน่นอน คือ ได้บุคคลที่ไม่ตรงกับอุดมการณ์ของพรรค และอาจเสียความเป็นตัวตนของพรรค รวมถีงปัญหาความเป็นเอกภาพของพรรค โดยเฉพาะการลงมติในสภาฯที่ ส.ส. อาจจะลงมติสวนพรรคได้ ส่วนการทำไพรมารี่โหวตของ ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ข้อดีคือ ให้สมาชิกพรรคเป็นผู้กำหนดลำดับผู้สมัคร ตามการลงคะแนนของสมาชิกพรรคในจังหวัด ดังนั้นนายทุนพรรคไม่มีสิทธิกำหนดอันดับของตนเองได้ตามใจ ซึ่งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ยังไม่พบพรรคการเมืองใดทำ จึงเป็นสิ่งท้าทายว่าหากทำแบบเต็มรูปแบบจะมีผลลัพธ์เป็นอย่างไร