ถอดรหัส “โจรใต้” ถล่ม ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เกิดบ่อยแต่ทำไมไร้แผนป้องกัน

by ThaiQuote, 7 พฤศจิกายน 2562

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQoute
นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์เศร้าและรุนแรงอีกครั้ง กับเหตุกลุ่มคนร้ายบุกใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บ้านทางลุ่ม หมู่ 5 ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เมื่อเวลา 23.15 น.วันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิต 15 คน ลาดเจ็บจำนวนมาก

คำถามที่มากกว่าอะไรคือจุดที่ทำให้สถานการณ์กลับมารุนแรง อยู่ที่ว่า ทำไมเราไม่เคยเห็นแผนการป้องกันรัดกุม?

ปิยะภพ อเนกทวีกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวถึงประเด็นนี้ โดยเริ่มต้นเกริ่นที่มาที่ไปว่า ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และ ชุดคุ้มครองตำบล (คชต.) มีหน้าที่ทำงานสนับสนุนหน่วยการทำงานของกองกำลังหลัก ตามคำสั่งของรัฐมนตรีมหาดไทย โดยเป็นผู้มีสัญชาติไทย ร่างกายแข็งแรง และเป็นคนในพื้นที่ การจะเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยเหล่านี้ จะต้องได้รับการอบรมฝึกปฏิบัติ จึงจะได้รับมอบหมายให้เข้าทำหน้าที่

สำหรับบทบาทที่น่าสนใจ ปิยะภพ ขยายความว่า จุดเด่นของ ชรบ.และ คชต. จะมีด้วยกันจำนวน 5 คือ พวกเขา เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายที่รองรับหน้าที่ มีหน้าที่คุ้มครองหมู่บ้านและตำบล ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอ งานมวลชนสัมพันธ์ ดูแลประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มีความเข้าใจภาษาถิ่น ตรงนี้จะเป็นข้อได้เปรียบกว่าเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่นๆ และสามารถนำเจ้าหน้าที่รัฐทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้าย ช่วยลดความหวาดระแวดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน จึงมีตัวแทนคนในพื้นที่ที่เข้ามา เป็นเสมือนโซ่ข้อกลาง เพราะคนในพื้นที่จะมองว่า มีคนในหมู่บ้านในตำบล เข้าไปร่วมทำงาน ทำให้มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น


“การมีบทบาทของหน่วยงานเหล่านี้ เป็นการปรับบทบาทในพื้นที่ ย้อนกลับไปคล้ายกับสมัยมีกองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหาร ซึ่งชุดเหล่านี้ ชาวบ้านหายออกไปจากกรมีส่วนร่วมสมัย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปรับใช้การดำเนินเต็มรูปแบบ พอหมดยุคทักษิณ จึงมีการกลับมาใช้ในรูปแบบ 2 หน่วยงานนี้อีกครั้งตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการเปิดให้พลเรือนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมอีกครั้ง”

แม้จะมีจุดแข็งที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ดี จุดอ่อนของหน่วยงานเหล่านี้ก็มีอยู่ โดย ปิยะภพ อธิบายว่า ถึงแม้พวกเขาจะได้รับการฝึก แต่เป็นการฝึกที่เน้นการป้องกันตนเองเป็นหลัก มีความรู้ในการใช้อาวุธพื้นฐาน แต่ไม่มีความหรือหรือได้รับการฝึกปฏิบัติในระดับที่สูงขึ้น ในแบบที่ทหาร ตำรวจ ได้รับการฝึกฝนมา ตรงจุดนี้เอง คือ จุดอ่อนที่สำคัญ และมีทักษะการป้องกันภัยในระดับพื้นฐาน แต่ไม่สามารถที่จะรับมือการโจมตี การลอบโจมตี รวมถึงการลอบสังหาร นอกรูปแบบ พวกเขาเหล่านี้จะไม่สามารถรับมือได้

“จุดอ่อนอีกข้อที่ผมพบ คือ ความหละหลวม ไม่มีแผนรองรับ ในเวลาที่เกิดเหตุลอบโจมตี ที่ผ่านมาการลอบโจมตีแบบนี้ ที่มาเพิ่มระดับความรุนแรงในช่วงปีนี้ ปี 2558-2561 นั้น มีการเข้าโจมตี 2 หน่วยงานกองกำลังพื้นถิ่นนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ฝ่ายความมั่นคง ยังไม่เคยมีการวางแผนการรองรับเหตุการณ์การโจมตีฐาน ว่าจะรับมือหรือป้องกันอย่างไร ซึ่งตรงนี้คือช่องว่าง ในเมื่อโจมตีได้ฐานหนึ่ง เขาก็สามารถเข้าโจมตีได้ต่อเนื่อง เพราะไม่มีแผนการในการป้องกัน”

ขณะเดียวกัน นักวิชาการสายทหารคนนี้ ยังชี้ไปอีกหนึ่งจุดอ่อนว่า กองกำลังเหล่านี้ไม่ได้มีกำลังที่มากพอ เมื่อเทียบกับกำลังของฝ่ายตรงข้าม ในบางพื้นที่มี ชรบ.-ชคต.จำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกัน บางพื้นที่กลับมีกำลังน้อยกว่า จึงทำให้ง่ายต่อการสืบข่าวและวางแผนของฝ่ายตรงข้าม ที่จะสามารถกำหนดจุดการโจมตีได้ เพราะรู้ว่า ฐานปฏิบัติการไหนมีคนมากหรือน้อย


“และอีกสิ่งหนึ่ง ที่เราสามารถสังเกตได้ คือ ยุทธวิธีของฝ่ายตรงข้าม เป็นการเข้าตีแบบยุทธวิถี ซึ่งจุดนี้เอง 2 หน่วยงานพื้นถิ่นไม่สามารถรับมือได้ เพราะถ้าสังเกตให้ดีการโจมตีที่ผ่านมานั้น อย่างครั้งล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ ที่จ.ปัตตานี เป็นปิดล้อมแบบยุทธวิธี ฝ่ายชรบ.-ชคต.ไม่ได้รับการฝึกต่อต้านการโจมตีแบบนี้ ย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด”

นอกจากนี้ อ.ปิยะภพ ยังได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนั้น มีการปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ที่จะใช้ยุทธวิธีในการดำเนินการ ยิ่งครั้งที่โจมตีฐาน ชรบ.ที่ปัตตานี ยิ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุด เพราะในครั้งนั้น มีการใช้ระเบิดยิงนำเข้ามาก่อน เมื่อกำลังในฐานแตกตื่น หรือ กระจัดกระจาย ผู้ก่อความไม่สงบ ก็จะเดินหน้าในการยิงถล่มใส่ โดยใช้วิธีการยืนสลับฟันปลา เพราะการตั้งแถวแนวยิงลักษณะแบบนี้ ฝ่ายที่ถูกโจมตีจะเสียเปรียบอย่างหนัก เพราะต้องรับระยะยิง 2 ชั้น และหากโจมตีกลับ ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็สูญเสียน้อยกว่า เพราะอาจจะโดนแค่คนหรือสองคน ซึ่งยุทธวิธีแบบนี้จะเห็นได้ในการทำสงครามแบบกองโจร รบนอกรูปแบบ ผสมกับการรบแบบทหาร

เมื่อถามต่อไปว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญในการเข้าโจมตีฐานกำลังพื้นถิ่นเหล่านี้ อ.ปิยะภพ กล่าวว่า เป็นการปรับเปลี่ยนยุทธวิธี ในเมื่อการเข้าโจมตีฐานแข็ง อย่างฐานทหาร ตำรวจ ที่มีศักยภาพมากกว่า ผู้ก่อความไม่สงบ ย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่หากเข้าโจมตีฐานอ่อน ย่อมมั่นใจในการเป็นฝ่ายที่เหนือกว่าในการกระทำ

“เพราะเขาดูจากผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติการก่อนหน้านี้ เมื่อรู้ผล จึงเลือกที่จะโจมตีฐานชรบ.-ชคต. และการทำแบบนี้ของฝ่ายก่อความไม่สงบ จะสร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ด้วย เพราะหน่วยงานที่ได้รับการฝึกมาแล้ว แต่ไม่สามารถรับมือการโจมตีได้ มันก็จะทำให้เสียขวัญกันไปด้วย”

ชรบ.ไม่เชี่ยวชาญ ช่องโหว่ที่ทำให้เป็น “เหยื่อ”

ผู้เชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธี ที่ใช้นามแฝงว่า “ลูกซองดำ” ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับที ThaiQuote ว่า ถ้าแบ่งตามระดับฝีมือในการปฏิบัติงาน สามารถแบ่งได้ 4 แบบ อย่างแรก ชุดปฏิบัติการพิเศษ มีทักษะสูงสุดในการรบ รองลงมาคือ ทหารที่ผ่านการฝึกระดับผ่านการฝึกโรงเรียนนายสิบขึ้นไป แบบที่3 คือทหารเกณฑ์ และสุดท้ายชุดเฉพาะกิจ ซึ่งมีจำนวนที่หลากหลาย และชรบ.-คชต.ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ลูกซองดำ มองเห็นการที่เกิดขึ้น มีช่องโหว่ตรงที่ความหละหลวม ด้วยความเคยชิน และหากจะพูดอย่างตรงไปตรงมานั้น ทุกคนมีทักษะแถวกับ ยามห้าง แต่แค่คุณมีปืนเท่านั้น

“คุณก็คือยามหมู่บ้านนั้นเอง มีสิ่งพิเศษคือทางการแจกอาวุธให้ แล้วก็มีการฝึกอาวุธให้นิดหน่อย และระดับการฝึกที่ได้รับการสอนมา ก็ไม่เพียงต่อการปฏิบัติงานขนาดตำรวจที่หลายคนอาจจะมองว่า ทักษะไม่สูงมาก แต่หน่วยเหล่านี้ด้อยทักษะลงไปอีก”

นอกจากนี้ เขาอธิบายต่อไปด้วยว่า คนอยู่ภาคใต้ต้องนอนกอดปืน นอนในเปลก็ต้องกอดปืน ถ้าคุณเอาปืนไปตั้งกระโจม ก็จบ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเปิดหีบให้โจรดู
เมื่อถามถึงอาวุธประจำตัวของเหล่า ชรบ. ด้วยศักยภาพนั้น สามารถต่อต้านการโจมตีได้หรือไม่ ลูกซองดำ กล่าวว่า ถ้าให้คนที่มีฝีมือเท่ากัน ต้องถือว่าฝั่งผู้ก่อความไม่สงบ มีความเหนือกว่าในการต่อสู้ ให้ดูในลักษณะ เป็นคนสองคนเหมือนกัน ได้รับการฝึกเหมือนกัน แต่อาวุธของ 2 ฝั่ง อาวุธฝ่ายก่อการได้เปรียบกว่า

“แล้วลองนึกภาพดู อาวุธที่ใช้เป็นลูกซอง บางคนได้รับลูกซองด้ามไม้ ที่เรียกว่า เลมิลตั้น แต่ก็เข้าใจได้ว่าหน่วยเหล่านี้เป็นการสนธิกำลัง ระหว่างคนมีฝีมือกับคนไม่มีฝีมือ ซึ่งเรื่องแบบนี้มีเกิดขึ้นทั่วโลก ในการรบหลายๆครั้ง เอาชาวบ้านที่มีความแข็งแรงมาฝึกอาวุธ ไม่เก่งเท่ากำลังหลัก แต่ก็สามารถใช้ได้ในระดับหนึ่ง ใช้เป็นกันชนได้ เป็นหน่วยสนับสนุนได้ ใช้เป็นกองก่อกวนได้ เพื่อที่จะให้กำลังหลักสามารถรุกคืบได้ หรือหากมีการโจมตีหน่วยเหล่านี้ก็ยังพอที่จะยันข้าศึกได้ ไม่ให้เกิดการสูญเสียจนสามารถตีเข้าถึงกองบัญชาการใหญ่ เป็นภาพที่พูดให้เห็นได้ ก็คือเป็นลักษณะรั้ว ป้องกันที่ละชั้น เรียกว่าชั้นการป้องกันความปลอดภัย”

ขณะที่ถามต่อไปว่า การที่ชรบ.-ชคต.ถูกโจมตีบ่อยเพราะเป็นเป้าหมายที่โจมตีได้ง่ายนั้น เขาตอบว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด และเปรียบเทียบว่า เหมือนจะทำการขโมยของ ก็จะเลือกเหยื่อที่ไม่สามารถต่อสู้กลับได้ และด้วยความที่ชรบ.-ชคต.มีชุดความคิดที่เป็นพลเรือน หากเปรียบเทียบกับทหารที่ผ่านการรบมา จะไม่สำแดงอาวุธ หรือ ไม่จำเป็นจะไม่สำแดงอาวุธ ซึ่งจะทำให้ไม่ตกเป็นเป้าหมาย หรือ ไม่ถูกกาหัวในการโจมตี


“แต่ยอมรับว่าในบางครั้ง ชรบ.บางคนจะมีอารมณ์ที่ว่า เฮ้ย กูเป็น ชรบ.เว้ย และมักจะมีการเผยอาวุธที่ตัวเองมี ถ้าผมเป็นฝ่ายตรงข้ามผมก็จะล็อคเป้าเลย คนนี้มีอาวุธ และหากให้พูดหยาบๆคือ มีอาวุธและโง่ และหากถามถึงในเรื่องกลยุทธ์ ในความเป็นจริงไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เราคิดง่ายๆเลยว่า ถ้าให้ไปต่อยกับหน่วยรบพิเศษ กับ ชรบ. ใครก็รู้ว่าจะต้องเลือกต่อยกับใคร และถ้ายกระดับแผนงาน ถ้าคุณจะชิงปืน 20 กระบอก ถ้าคุณต้องเข้าตีฐานนาวิกโยธินกับป้อม ชรบ. คุณจะตีใครดีกว่ากัน ”

นอกจากนี้ ในฐานะที่ ลูกซองดำ เป็นครูสอนยิงปืนและมีทักษะในเชิงกลยุทธ์ ทีมข่าวได้ให้เขามองว่า ถ้าในอนาคตจะต้องมีการวางแผนสำหรับต่อต้านการโจมตี ซึ่งเขาอธิบายว่า การฝึกนั้น จะมีด้วยกัน 4 ขั้น 1.วินัยพื้นฐาน 2.หลักการใช้อาวุธ ยิงเป็น บรรจุเป็น ยิงเข้าเป้า ครองอาวุธได้ ไม่ไปสร้างความเดือดร้อน เรียกรวมว่า รู้เกี่ยวกับอาวุธและรู้วิธีการใช้ 3.เรียนรู้เรื่องยุทธวิธี เช่น การเข้าเคลียร์สถานที่ปิด เช่น ห้อง ทำอย่างไร การวางเวรยามทำอย่างไร กำลังน้อยกว่าต้องทำอย่างไร ลาดตระเวนอย่างไร มีคนเจ็บแล้วต้องต่อสู้อย่างไร รูปขบวนคืออะไร 4.กลยุทธ์และการเผชิญเหตุ ในจุดนี้ ถ้าอธิบายภาพให้นึกออกทันที เขาใช้คำว่า ตรงนี้ก็คือแบบขงเบ้ง ยอดกุนซือ จากหนังสือสามก๊ก ที่ใครก็ก็นึกภาพจำออกว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญกลยุทธ์ขั้นสูง ซึ่งจะต้องเรียนรู้การแปรขบวน การวางตำแหน่งทัพ ตำแหน่งกำลังพลแบบไหน การไปสนธิกำลังกับหน่วยอื่นต้องทำอย่างไร ในส่วนการเผชิญเหตุ ยกตัวอย่างไปเจอคนร้าย จะต้องทำอย่างไร หรือถ้าจะพูดให้ง่ายก็คือ จะต้องเจอเหตุการณ์แบบไหน ก็ทำการฝึกแบบนั้น

และเขายังตั้งข้อสังเกต ที่มีความเป็นไปได้ในเรื่องการสอนทักษะการเผชิญเหตุในแบบที่อรินทราชฝึกกัน จะสามารถนำมาฝึกให้กับ ชรบ.-ชคต.ได้หรือไม่

“การฝึกเผชิญเหตุนั้น คุณต้องเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆที่คุณจะต้องเจอ เช่น เหนื่อย ง่วง หิว โมโห โกรธ ในการฝึกของทหาร ก็จะเป็นการฝึกคลานต่ำ ในขณะที่คลานไปนั้น ก็จะมีการยิงปืนที่เป็นประเภทอาวุธหนักยิงผ่านหัวไปตลอด ห้ามเด็ดขาดในการเงยหัวขึ้นมา ต้องมีการฝึกปฏิบัติกันในอารมณ์แบบนี้ แต่ถ้าว่ามีใครเคยเจอ ไม่มีใครเคยเจอ ด้วยความที่เขายังมีความเป็นพลเรือน

ยกตัวอย่าง ถ้ามีการยิงด้วยระเบิด M-79 ก็เป็นธรรมดาที่ต้องวิ่งแตกฮือ แล้วผมเคยฝึกยิงสาธิตด้วยปืนกลหนัก คนที่มาสังเกตการณ์ยังตกใจและคิดว่าคงเหมือนในเกม แต่ก็เพิ่งมารู้ว่าเสียงมันดังมาก แล้วลองขึ้นว่า ในสถานการณ์จริง โจมตีแล้วตายจริง มันหนักกว่ามาก เพราะมันมีกลยุทธ์อยู่ด้วยว่า การจะเอาชีวิตใคร เราจะต้องทำลายขวัญกำลังใจเขาก่อน ดังนั้น การเข้าโจมตีต้องเข้าให้ตกใจ แตกตื่นอย่างมาก และหากเป็นเช่นนั้น ฝ่ายที่เป็นคนกระทำก็ประสบความสำเร็จ”

และเขายังบอกด้วยว่า วิธีการที่ยกตัวอย่าง ฝ่ายตรงข้ามนั้น เขาก็รู้ยุทธวิธีแบบนี้ เพราะเขามีคนฝึกให้ และข้อต่างระหว่างทหารกับพลเรือน ทหารตกใจยังคว้าอาวุธขึ้นสู้ แต่พลเรือนตกใจแล้วคือตกใจเลย นั่นจึงจำเป็นที่ต้องมีการฝึกให้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ยะลาเดือด! พลีชีพ 15 ศพ คนร้ายบุกถล่มป้อม ชรบ.