เทคโนโลยีไขความลับ! “นาซา” ตรวจสอบหิน-ดินจากดวงจันทร์ หลังเก็บมานาน 40 ปี

by ThaiQuote, 8 พฤศจิกายน 2562

ครั้งแรกในรอบ 40 ปี! นาซาเปิดผนึกกล่องเก็บหินและดินจากดวงจันทร์ จากภารกิจอะพอลโล เผย เทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยอธิบายได้ชัดเจนขึ้น

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (5 พ.ย.62) นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือนาซา (NASA) เปิดตัวอย่างหินและดิน ที่นำกลับมายังโลกโดยยานอะพอลโล 17 (Apollo 17) ที่ถูกส่งขึ้นไปยังดวงจันทร์เมื่อเดือนธันวาคม 1972 หลังเวลาล่วงเลยมามากว่า 40 ปี

นาซาระบุในแถลงการณ์ว่า ตัวอย่างหมายเลข 73002 ถูกเก็บมาจากดวงจันทร์โดย จีน เคอร์แนน (Gene Cernan) และ แจ็ก ชมิต (Jack Schmitt) นักบินอวกาศของยานอะพอลโล 17 ด้วยการปักท่อที่มีความกว้าง 4 เซนติเมตรลงบนพื้นผิวของดวงจันทร์

รายงานระบุว่า ตัวอย่างที่ได้จากภารกิจของยานอะพอลโล 15, 16 และ 17 บางส่วนที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างมิดชิดมาโดยตลอด จะถูกนำมาศึกษาและวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีการวิเคราะห์ที่ก้าวหน้ากว่าในอดีตที่มีการทำภารกิจอะพอลโล
“การวิเคราะห์ของเราในวันนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในสมัยภารกิจอะพอลโล” ซาราห์ โนเบิล นักวิทยาศาสตร์นาซา กล่าว

นาซาชี้แจงอีกว่า เทคโนโลยีทันสมัยในปัจจุบันซึ่งทำให้สามารถศึกษาตัวอย่างได้ดีขึ้นมากจากเมื่อหลายปีก่อน ได้แก่ เทคโนโลยีสร้างภาพสามมิติโดยไม่ทำลายวัตถุ (non-destructive 3D imaging) เทคโนโลยีแมสสเปกโตรเมทรี (mass spectrometry) และการตัดตัวอย่างด้วยความละเอียดสูง (ultra-high resolution microtomy)

ตัวอย่างหมายเลข 73002 และตัวอย่าง 73001 ที่จะถูกเปิดเผยเพื่อนำมาศึกษาในช่วงต้นปี 2020 นั้น คือผิวดินของดวงจันทร์ (Regolith) ซึ่งได้จากท่อที่มีความยาวราว 60 เซนติเมตร โดยเก็บมาจากดินถล่มใกล้หลุมอุกกาบาตลารา (Lara Crater) ในที่ตั้งของยานอะพอลโล 17

ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้คือชั้นดินในแนวดิ่งของผิวดินบนดวงจันทร์ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับดินถล่มบนดวงจันทร์ที่ไร้ซึ่งอากาศ และสารระเหยที่อยู่ในผิวดินของดวงจันทร์

“ผลลัพธ์จากการศึกษาตัวอย่างเหล่านี้จะทำให้นาซาได้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ของดวงจันทร์ ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวดินของดวงจันทร์ สาเหตุของการเกิดดินถล่มบนพื้นผิวดวงจันทร์ และวิวัฒนาการของชั้นเปลือกดวงจันทร์” ชาร์ลส์ เชียร์เรอร์ นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา กล่าว

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
นาซาเผยความลับ! ทำไมภารกิจเหยียบดวงจันทร์ไม่เคยง่าย แม้ไปมาหลายรอบ