ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือแรงบันดาลใจ

by ThaiQuote, 27 ตุลาคม 2560

ในงานถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แรงรัก..พลังศรัทธาที่เปี่ยมล้นในหัวใจไทยทุกดวง ก้าวข้ามเปลวแดดที่แผดจ้า...ก้าวผ่านสายฝนที่เทกระหน่ำลงมาระลอกแล้วระลอกเล่า ไปปักหลักพักค้างกันข้างถนนข้ามวันข้ามคืนเพียงเพื่อให้ได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอันเป็นที่เคารพรักสูงยิ่งในรัศมีที่ใกล้ที่สุด เสมือนหนึ่งพระองค์ท่านคือแรงบันดาลใจ ถามว่า”เหนื่อยมั้ย?” ถามว่า”ลำบากมั้ย?” คำตอบที่ประสานเสียงเปล่งออกมาอย่างหนักแน่น จากหัวใจที่สุดรักสุดอาลัยโดยพร้อมเพรียงกันคือ... “ไม่เหนื่อย...ไม่ลำบาก” ทำไมผู้คนถึงมีความรัก..เลื่อมใส..ศรัทธาในหลวงรัชกาลที่ 9 มากมายเหลือคณานัป??? คำตอบต่อข้อสงสัยนี้น่าจะแจ่มชัดในทุกดวงใจที่ได้สัมผัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านพระราชกรณียกิจ...พระราชจริยาวัตร...พระราชดำรัส...พระบรมราโชวาท...พระราชดำริ...และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติด้วยพระปรีชาญาณ...พระอัจฉริยภาพ...และพระวิริยะอุตสาหะ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ตลอดห้วงเวลาที่ทรงครองสิริราชย์สมบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทรงกระทำล้วนทรงมุ่งมั่นให้เป็นไปตามพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ที่ได้พระราชทานไว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 การทรงครองแผ่นดินโดยธรรมของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามครอบคลุมในทุกมิติทั้งรัฐศาสตร์...นิติศาสตร์...วิทยาศาสตร์..เทคโนโลยี...วิศวกรรมศาสตร์...ชลศาสตร์...เกษตรศาสตร์...สุนทรียศาสตร์ 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ...48 บทเพลงพระราชนิพนธ์...7 บทพระราชนิพนธ์คือพระราชานุกิจรัชกาลที่ 8 -เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์-นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ-ติโต-พระมหาชนก-ทองแดง-พระราชดำรัส...รวมทั้งอีกกว่า 4,000 โครงการตามพระราชดำริ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงมุ่งผลเพื่อประโยชน์สุขประชาชนเป็นที่ตั้ง คือเครื่องยืนยันความมุ่งมั่นของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการประกอบพระราชกรณียกิจให้บรรลุตามพระราชปณิธานที่ทรงตั้งไว้ พระวิริยะอุตสาหะ..พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาญาณของในหลวงรัชกาลที่ 9 มิได้สัมผัสรับรู้อยู่ในวงจำกัดเฉพาะคนไทย แต่ได้แผ่กว้างไกลไพศาลไปทั่วทุกหัวระแหงของโลกโดยพิสูจน์ยืนยันได้จากคำถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านทั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ และในที่ประชุมยูเนสโก หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 5 ประการคือ พอประมาณ-มีเหตุผล-ไม่ประมาท-ขยันหมั่นเพียรศึกษาหาความรู้-มีคุณธรรม ได้ถูกองค์การสหประชาชาติน้อมนำไปเป็นแก่นแกนของแนวทางการพัฒนาอย่างยืนในประชาคมโลก หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นในประชาคมโลกให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2573 คีริลล์ บาร์สกี้ เอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำประเทศไทย ซึ่งให้ความสนใจศึกษาพระราชกรณียกิจ และโครงการตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างละเอียดได้กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่ทรงมุ่งมั่นทำทุกอย่างเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม...เพื่อแก้ปัญหาความอดอยากยากจนของคนโดยไม่เลือกหน้า บัดนี้แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะสวรรคตเสด็จสู่สรวงสวรรค์ไปแล้ว แต่พระองค์ยังทรงเป็นแรงบันดาลใจ และตราตรึงอยู่ในหัวใจคนไทยทุกๆคนตลอดไปตราบนานเท่านาน...... ............................................................ ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค

Tag :