เรารู้ปัญหา แต่ไม่ลงมือทำ???

by ThaiQuote, 26 พฤศจิกายน 2562

ประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขาดเสถียรภาพ หากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกก็จะกระทบกับเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้มาจากโครงสร้างที่อาศัยการส่งออกถึง 60-70 % ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างรู้ปัญหาดี


นายไพศาล มังกรไชยา ผู้สื่อข่าวอาวุโส ได้ ไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊ก Thaiquote เรื่อง“เรารู้ปัญหา แต่ไม่ลงมือทำ???”โดยกล่าวว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่ช่วงชะลอตัวในปีนี้ เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารรู้อยู่ แต่ขาดการลงมือปฏิบัติ(สามารถติดตามการไลฟ์สด มุมมองประเด็นดังของ คุณไพศาล มังกรไชยา ได้เป็นประจำที่ Thaiquote

เรารู้ปัญหา แต่ไม่ลงมือทำ แต่ไม่ลงมือทำใช่ไหม เป็นการเชื่อมโยงเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจ 2 ตัว ตัวแรกเป็นของสภาพัฒนฯที่คาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ผลออกมาตัวเลขต่ำกว่าที่คาด เดิมคาด 2.7 % แต่ปรากฏไตรมาส 3 โตได้แค่ 2.4 %

ในขณะที่เมื่อวันพฤหัสที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางกระทรวงพาณิชย์ก็แสดงตัวเลขส่งออก-นำเข้า เดือนตุลาคมตัวเลขล่าสุด ก็ปรากฏว่าตัวเลขก็ติดลบกว่า 4 % หมายความว่าส่งออกปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว เทียบกันเดือนต่อเดือน เป็นการติดลบติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้ 10 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกติดลบไปประมาณกว่า 2 % เพราะไตรมาส 4 น่าจะติดลบ 2 % หรือ 2 % เศษๆ ซึ่งเศรษฐกิจทั้งปีก็จะเป็นอย่างสภาพัฒนฯประเมินว่าน่าจะโตได้ที่ 2.6 % เป็นสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ฉะนั้นต้องมีมาตรการกระตุ้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่เดินช้า โจทย์ใหญ่อันหนึ่งคือเครื่องมือของทางรัฐบาลไม่พอ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องมาร่วมมือด้วย เพราะปัญหาที่สำคัญของการส่งออกในปีนี้คือค่าของเงินบาทที่แข็งค่ามาก และเศรษฐกิจที่เกินดุลก็ยิ่งหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ค้าขายมาก็ใช้เงินดอลลาร์แลกกันกลับไปไม่ต้องใช้เงินบาท ทำให้เงินบาทแข็ง แต่เงินบาทเป็นเงินสกุลปลอดภัยรองลงมาจากเงินเยนมองในฝั่งเอเชีย เป็นที่พักเงินของเหล่าบรรดานักค้าเงินด้วย

อย่างไรก็ตามมีเสียงสะท้อนมาจากฝ่ายรัฐบาลว่าเราจะต้องมาแก้กันที่ระดับโครงสร้าง ในระยะต้นจะต้องกระตุ้นก็กระตุ้นไป แต่ในระยะกลางและระยะยาวมีความจำเป็นต้องมาแก้ที่ระดับโครงสร้าง ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจกระจายลงมาระดับกลางและล่าง แทนที่มันจะไปพึ่งพิงอยู่เฉพาะภาคส่งออกตอนนี้ประมาณ 60-70 % ของจีดีพี รายได้ประชาชาติเราไปผูกอยู่กับภาคส่งออก ถ้าภาคนี้ดี เศรษฐกิจไทยก็ดีมาก การส่งออกของไทยเติบโตอย่างรวดเร็วประมาณปี 2540 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า เศรษฐกิจอาศัยช่องทางนี้มาเป็นเวลานาน แต่พอมันสะดุดก็สะดุดไปทั้งหมด เพราะเศรษฐกิจกระจุกตัวไปอยู่ในภาคส่งออก ส่งออกเป็นกลุ่มไหนบ้าง 1 ทุนต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทย 2.ทุนขนาดใหญ่ของไทยมีอยู่ไม่กี่ราย เพราะฉะนั้นในเชิงโครงสร้างต้องกระจายเศรษฐกิจ กระจายรายได้ลงมาสู่ระดับฐานราก ภาคการเกษตร เอสเอ็มอี กลาง เล็ก จิ๋ว ให้มีเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง และเป็นเสาหลักในการค้ำจุนเศรษฐกิจไทย

การแก้ไขปัญหาแบบนี้รัฐมีบทบาทสำคัญ รัฐมียุทธศาสตร์ 20 ปีในการกระจายรายได้ ความมั่งคั่ง สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ด้วยการทำให้สินค้าเกษตรได้ราคา มีรายได้ ปัจจุบันมีนโยบายปะผุกันด้วยการทำประกันราคา ประกันรายได้ ซึ่งเป็นการทำที่ไม่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่นเราสร้างดีมานต์ภายในประเทศของกลุ่มยางพารา ถ้าสามารถสร้างจนขยายเป็นขนาดใหญ่ได้ ทำให้ราคายางพาราไม่ตกต่ำ มีเสถียรภาพ เกษตรกรยางพาราก็มีรายได้ สามารถไปจับจ่ายใช้สอยได้ ก็ส่งผลขับเคลื่อนไปยังกลุ่มพ่อค้า เอสเอ็มอีต่อไปเป็นทอด ๆ รัฐเป็นตัวกระตุ้นได้เป็นอย่างดี เพราะรัฐมีงบก้อนใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายถึงตีบตันจนคิดไม่ออก แต่การแก้เชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจให้กระจายลงมาฐานรากนั้นควรทำอย่างไร คิดกันได้ และคิดกันมานานแล้ว รัฐบาลยุคคสช.ก็คิด จนผลักดันเป็นยุทธศาสตร์ชาติ แต่ลองดูเถอะถนนยางพาราทำไมยังไม่เกิด ตลาดกลางขายผลไม้ทำไมยังไม่เห็น ทั้งหมดนี้เพราะเรายังไม่ทำ คือตอนนี้เรามีนโยบาย แต่ส่งไปถึงภาคปฏิบัติ จะไม่ปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นหน่วยงานที่ทำถนนยางพารา ต้องไปแก้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อออกทีโออาร์เพื่อการประมูลต่อไป ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดสรรงบ ที่จะต้องดึงเอางบเดิมบางส่วนมาซื้อน้ำยางพาราเพื่อไปประกอบในการทำถนน ซึ่งจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ใช้ซีเมนต์เป็นส่วนประกอบในการทำถนน เขาจะยอมแบ่งหรือไม่ ถ้าไม่ยอมก็จะมีการขัดขวางและถ้ายิ่งรัฐลงไปด้วยก็จะเกิดการไม่ปฏิบัติ มีนโยบายแต่ไม่ปฏิบัติ เพราะปฏิบัติไปจะเสียประโยชน์

เรื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาไม่ใช่เราไม่รู้ในเรื่องในเชิงปฏิบัติ แต่เป็นปัญหาที่เราไม่ทำ การสร้างฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เราต้องสร้างฐานตลาดภายในให้เติบโต รัฐต้องสนับสนุนให้สร้างฐานตลาดภายใน ให้กลุ่มฐานราก เอสเอ็มอี ธุรกิจขนาดกลางและขนาดจิ๋วได้แข็งแรง ส่วนของบริษัทขนาดใหญ่ หรือกลุ่มผู้ส่งออกเขาจะเติบโตก็ปล่อยไป

ฉะนั้นแม้ว่ามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีนโยบายรัฐ แต่ถ้าไม่ปฏิรูปกลไกรัฐให้ตอบสนองและทำงานตามนโยบายรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เราก็ยังเจอปัญหาวนเวียน ถ้าหากสงครามการค้าจีน-สหรัฐเกิดคลี่คลาย การค้าโลกกระเตื้อง การส่งออกเป็นบวก ก็เป็นไปได้ว่าเราก็ลืมๆ ไป เศรษฐกิจดีขึ้น ก็อาจไม่ได้พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ก็ทำให้เราเสียโอกาสไป เสียจังหวะไปเรื่อย แล้วก็จะมีเริ่มในช่วงที่วิกฤตแล้วมันก็ทำได้อย่างยากลำบากมาก จริงๆ แล้วต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะระบบราชการการจะไปยกเลิกเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก นอกจากนี้หากปรับมากไปข้าราชการก็ไม่ให้ความร่วมมือ หรือในอีกกรณีหนึ่งข้าราชการการเมืองในขณะนี้ก็มีประวัติเป็นข้าราชการมาก่อนทำให้ยังคุ้นชินกับการทำงานในระบบราชการ อย่างไรก็ตามก็ขอสรุปว่าไม่ใช่เราไม่รู้ปัญหา เรารู้อย่างดีแล้วมีแผน ยุทธศาสตร์แล้ว เพียงแต่นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็จะเกิดผลตามา



ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
"คลัง" เทหน้าตักช่วยทุกชนชั้น กระตุ้นเศรษฐกิจท้ายปี