เทคนิคเปิดใจรับฟัง 10 ประการ ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต

by ThaiQuote, 2 ธันวาคม 2562

กรมสุขภาพจิต แนะเทคนิคในการเปิดใจรับฟังกัน 10 ประการ ตามแนวคิด “ฟังกัน...วันละสิบ” เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าใจกันมากขึ้น รับฟังกันมากขึ้น ลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต และส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพใจที่เข้มแข็ง

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับความรู้ด้านสุขภาพจิตมากขึ้น ไม่ต่างจากสุขภาพทางกาย แต่ปัญหาด้านสุขภาพจิตและความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โลกยุคใหม่ที่เร่งรีบ เคร่งเครียดมากขึ้น มีเวลาให้กันน้อยลง สาเหตุเหล่านี้นำไปสู่ความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา อาทิ โรคซึมเศร้าที่มีผู้ประสบกับปัญหานี้อยู่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 รายต่อปีจากการฆ่าตัวตาย หรือมีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 1 รายในทุก 2 ชั่วโมง รวมทั้งมีคนพยายามฆ่าตัวตายปีละ 53,000 คน หรือมีคนพยายามฆ่าตัวตายทุก 9 นาที 55 วินาที

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการรณรงค์แสดงพลังและสร้างความตระหนักถึงความเข้าใจด้านสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง กรมสุขภาพจิต ขอแนะนำเทคนิคในการเปิดใจรับฟังกัน 10 ประการ ตามแนวคิด “ฟังกัน...วันละสิบ” เพราะการรับฟังคือพลังที่ดีที่สุด รวมทั้งเพื่อสื่อถึงการให้คนไทยใช้เวลารับฟังคนรอบตัวให้ได้ครบ 10 ครั้งในหนึ่งวัน หรือใช้เวลารับฟังกันเพิ่มขึ้นอีกวันละ 10 นาที ดังนี้
1. แสดงความใส่ใจ ประสานสายตา พยักหน้าตอบรับด้วยท่าทีอบอุ่น
2. ฟังอย่างเปิดใจ แล้วทำความเข้าใจผู้พูดให้มาก เพราะถ้าเราฟังเพื่อเข้าใจเขา เราจะรับรู้ตามความเป็นจริง
3. ใจอยู่กับผู้พูดตลอด ไม่เผลอคิดเรื่องอื่น ไม่เผลอคิดแทนว่า เขาควร... หรือตัดสินว่า เขาเป็นแบบนั้นแบบนี้
4. สังเกตภาษากายของผู้พูด สีหน้า แววตา ท่าทาง ตั้งแต่เริ่มพูดคุยเป็นอย่างไร ระหว่างที่คุยหรือแม้แต่สิ้นสุดการคุยว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร
5. ฟังน้ำเสียง จังหวะการพูด ว่าเขามีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรต่อเรื่องที่เล่า
6. ระหว่างที่ฟัง เราพยักหน้าหรือขานรับเป็นระยะๆ ให้รู้ว่า เราฟังเค้าอยู่ ก็จะช่วยให้เขาเปิดใจที่จะพูดเพิ่มขึ้น
7. มีการทวนข้อความ หรือซักถามประเด็นเพิ่มเติม เพื่อเราและเขาเข้าใจตรงกันในเนื้อหาที่กำลังสนทนา
8. การฟัง จะช่วยให้พวกเขาได้ระบายความเครียดออกมา พวกเขาจะรู้สึกมีคนที่พร้อมจะเป็นเพื่อนและอยู่เคียงข้างเขา
9. คนทุกคนอยากมีค่าในสายตาของใครสักคนเสมอ
10. เราสามารถใช้ใจของเรารับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูดได้

ขอแค่ตั้งใจเรียนรู้และฝึกฝน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยการ “ใช้หัวใจฟัง” ให้ได้ยิน ในวันที่เขายังมีลมหายใจอยู่ข้างๆ คุณ จะช่วยให้คนไทยเข้าใจกันมากขึ้น ห่วงใยกันมากขึ้น และได้ระบายความทุกข์ใจก่อนที่จะสะสมจนกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา รวมทั้งเพื่อช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต และส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพใจที่เข้มแข็ง อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

 

ข่าวที่น่าสนใจ
อย่าด่วนสรุปว่าคนเป็นโรคจิตก่ออาชญากรรม