ส่องโมเมนต์ประวัติศาสตร์ ควบ "ทีโอที-แคท" ชาติได้ทีลุยสู้เอกชน

by ThaiQuote, 16 มกราคม 2563

โดย..คเชนทร์ พลประดิษฐ์

14 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันที่สิ้นสุดการรอคอยของความพยายามในระยะเวลา 18 ปี เพื่อการควบรวมรัฐวิสาหกิจระหว่าง "ทีโอที" และ "กสท.โทรคมนาคม หรือ แคท" เพราะนับตั้งแต่ปี 2545 สมัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ เป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นับจากนั้นมาจนถึงยุคปัจจุบันภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การฝ่าฟันด่านหินอย่างสหภาพแรงงานของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งก็สำเร็จ กลายเป็น "บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ National Telecom: NT Co. ได้

ทำไมด่านใหญ่ อย่างสหภาพฯ จึงถูกทลาย หรือเพราะแค่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ได้รับปากว่าจะไม่มีการปลดพนักงานของแคท ที่มีอยู่ประมาณ 5,000 คน และทีโอทีที่มีจำนวนประมาณ 19,000 คน ออก ผลการควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ของรัฐวิสาหกิจไทยจึงฉลุยในยุครัฐบาล "ลุงตู่"

เมื่อมองให้ลึกในแง่ของรายละเอียด ข้อดีของทั้ง "ทีโอที" และ แคท" ทั้ง 2 องค์กรที่ต่างมีจุดเด่นของตัวเอง "แคท" ถนัดงานวางระบบสื่อสารระหว่างประเทศ ขณะที่ "ทีโอที" ก็ช่ำชองถนัดด้านการให้บริการระบบโทรคมนาคมในประเทศ และพื้นที่ต่างจังหวัด สองอย่างนี้คือจุดแข็งที่ทำให้หลายรัฐบาลมองเห็นถึงศักยภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็งแห่งหนึ่งของประเทศหากมีการควบรวมกัน

คาดการณ์ว่า ปัจจุบันได้มีการแบ่งโครงสร้างของ "บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ” ออกเป็น 5 หน่วยธุรกิจด้วยกัน คือ
1.หน่วยธุรกิจบริการทางสายและโครงข่ายบรอดแบนด์
2.หน่วยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่
3.หน่วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและบริการ
4.หน่วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
และ 5.หน่วยธุรกิจโครงข่ายระหว่างประเทศ

แต่กระนั้น ข้อเสียของทั้งสององค์กรก็มีเหมือนกัน และอย่างที่บอกไว้ในข้างต้น "สหภาพแรงงาน" ของทั้งสององค์กร ที่นับได้ว่าเป็นไม้เบื่อกับบอร์ดบริหารของทั้งสองแห่งมาแทบจะทุกยุคสมัย บวกกับมีความ "ภักดี-รัก" ในองค์กรของพนักงานเป็นอย่างมาก ทำให้การแตะต้อง หรือการควบรวมทั้งสองแห่งเข้าด้วยกันเป็นเรื่องยากเสมอ

อีกทั้ง ด้วยความที่ 2 องค์กรต่างทำงานในลักษณะที่เหมือน หรือแทบจะใกล้เคียงกัน มันจึงกลายเป็นเรื่องค้างคาใจของทั้งสององค์กร ที่แน่นอนว่าอาจจะต้องแข่งขันกันเพื่อชิงเด่นชิงดีกันอย่างตลอด

อย่างไรก็ตาม จากนี้จะต้องจับตาแผนดำเนินการควบรวม ที่มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาร่วมวางแผนธุรกิจโดยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จใน 6 เดือนนับจากนี้ ซึ่งมีการคาดการณ์แล้วว่าแผนการพัฒนาควบรวมทั้งสององค์กรเครือข่ายโทรคมนาคมระดับชาติ จะต้องมีกรอบการพัฒนาทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามที่ท่านผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ วางกรอบเป็นนโยบายหลักเอาไว้ และรวมไปถึงการ "รีดไขมัน" ส่วนเกินออกไปจากสององค์กรที่จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกันในวันข้างหน้า

นั่นย่อมหมายถึงการเข้าไป "แตะคน" ของทั้งสององค์กร ซึ่งอาจจะเป็นอีกงานชิ้นโตของท่านรัฐมนตรี "บี พุทธิพงษ์" ในฐานะที่รับผิดชอบงานนี้ รวมไปถึง "บิ๊กตู่" เองก็เช่นกัน เพราะไม่อาจลืมได้ว่าทั้งสององค์กรนี้มีความเข้มแข็งสูงทีเดียวในแง่ของสหภาพแรงงาน

แต่เมื่อเป้าหมายหลักยังอยู่ในเส้นทางข้างหน้า งานสำคัญคือการ "ร่วมวงประมูลคลื่น 5G" กับบิ๊กเนมโอเปอเรเตอร์ 3 ค่ายยักษ์ที่เป็นฝั่งเอกชนของเมืองไทย แน่นอนว่าแผนธุรกิจของ "บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือที่จากนี้คนไทยน่าจะได้ยินบ่อยครั้งขึ้น และคุ้นหูกับชื่อว่า "NT" จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เดินหน้าอย่างเต็มสูบ ตัดสินใจในตลาดของการสื่อสารที่มีมูลค่ามหาศาลได้อย่างรวดเร็ว และนั่นย่อมหมายถึงว่า "บุคคลากร" ขององค์กรจะต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจอย่างหนักหน่วงแน่นอนในอนาคต ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของการควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองไทยในครั้งนี้

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

โซเดียม ภัยเงียบจากของอร่อย แนะนำวิธีง่าย ๆ ในการลดเค็มลดโรค