ช่วยกันซื้อ-ช่วยกันขาย "รักษ์พงษ์ เซ่งจริญ" ผอ.กองทุนหมู่บ้านคนใหม่

by ThaiQuote, 21 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

ทิศทางของ "กองทุนหมู่บ้าน" ที่เป็นกลไกหลักของรัฐบาลชุดนี้ที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการเติบโตและยั่งยืน กำลังจะพุ่งสู่ทิศทางใหม่ที่น่าจะดียิ่งขึ้น

เพราะการที่ได้ "รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ" เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) อย่างสดๆ ร้อนๆ นโยบายหลักจากความคิดของเขาในการบริหารก็เริ่มพรั่งพรูออกมาในทันที

วันที่เปิดตัวในครั้งแรกกับเก้าอี้ใหม่ที่จะมาช่วยรัฐบาลเดินหน้าเศรษฐกิจฐานราก รักษ์พงษ์ วางกรอบการทำงานระยะเร่งด่วนเอาไว้ให้กับผู้บริหารกองทุนหมู่บ้านแต่ละแห่ง ให้กลับไปรวบรวม "พลังของสมาชิก" เพื่อให้มาช่วยกันฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศอย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายหน้าหายตาไปจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

 

"มันส่งผลให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้น สมาชิกกองทุนหมู่บ้านช่วยได้ โดยให้กองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศออกไป 'ดูงาน' ในกองทุนที่ประสบความสำเร็จ มีการบริการที่ดีเด่นเป็นเลิศ ประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งกลุ่มม A B และกลุ่ม C เพื่อให้เอาแนวคิดนั้นกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง" กรอบวางนโยบายของรักษ์พงษ์ในคราเปิดตัวรับตำแหน่งใหม่

แนวคิดมาตรการแก้ปัญหาเร่งด่วนนี้ จะเข้าไปรับกันกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่น เพราะรักษ์พงษ์มองว่า เมื่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้านท่องเที่ยวกันเองระหว่างกันแล้ว จะมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมการท่องเที่ยวกันเอง รวมถึงเชื่อมผลดีไปสู่การท่องเที่ยวในประเทศให้ดียิ่งขึ้น เพราะกองทุนหมู่บ้านแต่ละแห่ง ก็มีแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง ที่พร้อมและรอต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ในสไตล์ท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ตามต่างจังหวัด

รักษ์พงษ์ สะท้อนอีกว่า ยังจะมุ่งเน้นให้เกิดการใช้นโยบายส่งเสริมให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านผลิตสินค้า ร่วมกันบริโภค ร่วมกันซื้อสินค้าร่วมกัน เพราะกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ 79,598 กองทุน เงินทุนหมุนเวียนรวมทั้งสิ้น 368,235 ล้านบาท มีสมาชิกขนาดใหญ่ 13 ล้านคน จำนวนมหาศาลเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อย่างเช่น เมื่อสมาชิกกองทุนหนึ่งปลูกข้าว หรือผลิตสินค้าท้องถิ่น อีกท้องถิ่นมาซื้อ ก็จะเกิดการหมุนเวียนเงินได้อย่างมาก

"ผมมารับตำแหน่งนี้ก็ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์สมาชิกกองทุนหมู่บ้านให้เป็นหนึ่งเดียว มีความกลมเกลียวระหว่างกัน เพราะสมาชิกทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการมาช่วยกันผลักดันนโยบายของภาครัฐ อีกหน้าที่ของผมคือจะเร่งรัดเพิ่มทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านอีก 2 แสนบาทต่อกองทุน ที่ต้องบอกว่าเร่งเพราะว่าเงินก้อนนี้จะเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ขณะนี้มันชะลอตัวอยู่" รักษ์พงษ์ กล่าว

อีกหนึ่งประเด็นที่รักษ์พงษ์จะเดินหน้าทำในทันที คือการเร่งฟื้นฟูกองทุนหมู่บ้านที่มีปัญหานี้สิน หรือกองทุนที่ถูกประเมินให้อยู่ในกลุ่ม D ที่มีอยู่ราว 7,000 กองทุน โดยตีกรอบเอาไว้ว่าในระยะเวลา 1 เดือนการฟื้นฟูจะต้องชัดเจน เพื่อให้กองทุนที่เคยมีปัญหาหนี้กลับมาพร้อมที่จะดำเนินการได้ดีต่อไป รักษ์พงษ์ ฉายภาพอีกว่า จะเข้าไปดูปัญหาของกองทุนหมู่บ้าน ไปดูการบริหารงานของผู้นำชุมชน ว่าจุดไหนมีปัญหา ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ทั้งหมดคือแผนเร่งด่วนของ "รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ" กับภารกิจดันกองทุนหมู่บ้านให้เกิดความเข้มแข็ง ดั่งใจที่รัฐบาลต้องการให้มีผลงานเป็นรูปธรรมให้ได้เร็วที่สุด

Infact กองทุนหมู่บ้าน A B C และ D

- ปัจจุบัน มีการประเมินผลงานของกองทุนหมู่บ้านออกเป็น 4 กลุ่ม เรียงลำดับไปตามการบริหารกองทุนฯ ที่ดีมีประสิทธิภาพ คือ กลุ่ม A B C และกลุ่ม D ซึ่งมีรายละเอียดแบ่งเป็น

- กลุ่มดีมาก A มีจำนวน 28,404 กองทุน กลุ่ม B มีจำนวน 31,358 กองทุน กลุ่ม C มีจำนวน 11,859 กองทุน และกลุ่ม D ที่ต้องปรับปรุงประมาณ 7,000 กองทุน

- ขณะนี้สมาชิกกู้ยืนเงินรวมสะสม 10 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 87 ของสมาชิกทั้งหมด

- การใช้เงินของสมาชิกส่วนใหญ่ นำไปใช้ด้านการเกษตร การค้าขาย อุตสาหกรรมเอสเอ็มอี และบริการ

- จากการศึกษาหลายหน่วยงานพบว่าสมาชิกกองทุนฯ มีอัตราการชำระหนี้คืนเฉลี่ยร้อยละ 90

ข่าวที่น่าสนใจ