อ่านเกม "อนาคตใหม่" ในอนาคต หลังคำสั่งศาล "ยุบพรรค"

by ThaiQuote, 22 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ธาราวิน พยัคชาติ


กลายเป็นว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ถูกกำหนดให้เป็นอีกหนึ่งวันที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะต้องจดจำ เพราะมันคือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของ 16 ชีวิตกรรมการบริหารพรรคนี้อีก 10 ปี จากปมเงินกู้ 191.2 ล้านบาทที่หยิบยืมจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

มันจึงเป็นความผิดในแง่ของตัวบทกฎหมายและการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้พรรคเลือดใหม่ที่อยู่บนสนามการเมืองไทยยังไม่พ้นสองขวบปี ต้องปิดฉากลงอย่างรวดเร็ว

น่าสนใจว่านับจากนี้ ทิศทางของ "อนาคตใหม่" จะเป็นอย่างไรต่อ แกนนำของอดีตพรรคนี้ทั้งหลาย โดยเฉพาะกับตัวผู้เล่นหลักทั้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - ปิยบุตร แสงกนกกุล หรือแม้แต่พรรณิการ์ วานิช ที่นับจากนี้พวกเขาจะไร้สนามเล่นการเมืองอย่างถูกกฎหมายประชาธิปไตย เพราะทั้งสามชื่อข้างต้นถูกรวมอยู่ใน 16 ชื่อของกรรมการบริหารพรรคที่ต้องหายไปจากสารบบการเมืองนานนับ 10 ปี

รวมไปถึงอีก 65 ส.ส.ตัวแทนประชาชนที่เคยได้สังกัดกับอนาคตใหม่ หลังจากนี้พวกเขาทั้งหมดจะเคว้งคว้างในท้องทะเลการเมือง และพวกเขาจะต้องหาเรือลำใหม่ พรรคการเมืองใหม่เข้าสังกัดให้ได้ในกรอบเวลา 60 วัน ซึ่งก็น่าสนใจว่าอุดมการณ์ที่เคยสั่งสมมาร่วมกันกับพรรค จะแปรเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่


ThaiQuote เข้าไปนั่งคุยกับ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อดีตรองอธิการบดี และอดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักวิชาการด้านการเมืองคนสำคัญ เพื่อไปถอดรหัสกับคำถามในข้างต้น

อาจารย์ยุทธพร เปิดฉากว่า แกนนำของอนาคตใหม่จะต้องเข้าไปควบคุมสถานการณ์การกระเพื่อมภายในพรรคให้จบลงอย่างรวดเร็วให้ได้ เพราะทั้ง 65 ส.ส.จะต้องทำงานต่อไปอย่างมีเอกภาพ และเพื่อไม่ให้เกิดการแตกแถวในทางยุทธศาสตร์เดิมของอนาคตใหม่ที่เคยวางเอาไว้ อีกทั้งยังต้องหาจุดสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนงานในสภาและนอกสภาให้เดินหน้าคู่ขนานกัน

"แกนนำที่เป็นกรรมการบริหารพรรคจะต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง พวกเขาเดินเข้าสภาในฐานะส.ส.ไม่ได้อีกแล้ว การเคลื่อนงานการเมืองข้างนอกจึงต้องเดินกับข้างในสภาอย่างเป็นระบบ ผมคิดว่าอนาคตใหม่เตรียมการมาไว้บ้างแล้ว และพร้อมจะรับผลลัพธ์เช่นนี้ พวกเขาคงไม่ได้เริ่มทำแต่มีการวางงานอย่างเป็นระบบเอาไว้ หรือเริ่มทำตั้งแต่นายธนาธรถูกตัดสิทธิ์ความเป็นส.ส.จากประเด็นถือหุ้นสื่อแล้วด้วย" รศ.ดร.ยุทธพร ฉายภาพ

นักวิชาการผู้นี้ มองอีกว่า เกมในสภาของอนาคตใหม่จะอ่อนแรงลงอย่างมากหลังจากคำสั่งยุบพรรค โดยเฉพาะกับศึกซักฟอกรัฐบาลที่กำลังจะถึงในไม่ช้า เพราะผลลัพธ์ของการยุบพรรคมันมีเอฟเฟกค์ที่ใหญ่เกินคาดคิด การขาดบุคลากรทางการเมืองของพรรคเพื่อไปสู้กับรัฐบาลจะมีผลทันที เพราะพวกเขาไม่ได้เตรียมคนมาทดแทน ผู้นำในรุ่นที่สองก็ไม่มี ซึ่งแน่นอนว่าการแสวงหา "ลีดเดอร์" ขึ้นมานำกลุ่มจะต้องใช้เวลา

ดังนั้นแล้ว ภาระหน้าที่ในการซักฟอกรัฐบาลของฝ่ายค้านจึงไปตกอยู่กับพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว แต่ยังเชื่อว่าจะมีการทำงานแบบเชื่อมต่อกันระหว่างอนาคตใหม่และเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม มันอาจจะเกิดคำที่ว่า "การเมืองแบบรีโมท" ในไม่ช้าสำหรับอนาคตใหม่ เพราะจะเป็นการทำงานแบบกดปุ่มสั่งการจากนอกสภา ซึ่งก็เหมือนๆ กับพรรคเพื่อไทย


รศ.ดร.ยุทธพร มองทิศทางของ 65 ส.ส.ของอนาคตใหม่อีกว่า คงไม่ทิ้งพรรคเดิม หรือทิ้งอุดมการณ์ไป แม้ว่าจะมีกระแสว่าที่เหลือจะถูก "ช้อนซื้อ" จากพรรคอื่นๆ ให้เข้าไปร่วมสังกัด เพราะคนที่ยังอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ในเวลานี้แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากก็ยังไม่ทิ้งกัน ฉะนั้นเชื่อว่าทั้ง 65 ส.ส.ไม่ได้ทิ้งกันไปไหนแน่นอน แต่จะมาในรูปแบบไหนอันนี้ก็สุดจะคาดเดา

จากภาพที่เห็นผ่านการวิเคราะห์ของรศ.ดร.ยุทธพร สิ่งที่เด่นชัดคืออนาคตใหม่จะอ่อนแรงลงในสภา และแน่นอนว่ามันจะทำให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้นจากผลพลอยได้ที่ได้รับมา กระนั้น เราก็ไม่อาจยั้งปากหากจะถามนักวิชาการผู้นี้ว่า มันเป็นไปได้หรือไม่ที่ "การเมืองนอกสภา" หรือการเมืองในท้องถนนจะเกิดขึ้นจากเอฟเฟกค์ยุบพรรคอนาคตไม่

"เรื่องที่นายธนาธรอาจปลุกมวลชนลงถนน ผมมองว่าในระยะสั้นคงไม่เกิดขึ้น แต่ระยะยาวมันก็ไม่แน่ และมีโอกาสเป็นไปได้สูง เราอาจจะได้เห็นการจุดกระแสขึ้นมาจากมวลชน การสร้างพลัง ระดมมวลชน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่ากลัวเหมือนกัน เพราะฐานการเมืองไม่ได้อยู่ในมือของคนในสภาแค่ไม่กี่ร้อยคน แต่ฐานการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยแท้จริงแล้ว มันอยู่ในมือของประชาชนเป็นหลัก หากประชาชนรวมพลังกันก็เป็นไปได้สูงที่อาจจะเห็นคนในท้องถนนอีกครั้ง" คำตอบจากอาจารย์ยุทธพร

อีกสิ่งที่รศ.ดร.ยุทธพร ค่อนข้างกังวลว่าจะเกิดขึ้น คือสายตาของโลกที่มองมายังไทยกับประเด็นนี้ ซึ่งจะมีผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างแน่นอน เพราะต่างชาติเองก็เฝ้าติดตามการก้าวเดินของประชาธิปไตยในบ้านเรา ที่มันมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ และด้านการลงทุน

"การพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นเป็นที่จับตามองของประเทศฝั่งตะวันตกหลายประเทศมานานแล้ว เราจะเห็นได้ว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ก็มีตัวแทนจากชาติตะวันตกในหลายประเทศเข้าไปร่วมฟัง ดังนั้น ความเชื่อมั่นเหล่านี้จึงต้องมีการเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการเชื่อมั่นทางการเมืองด้วย เพราะมันมีผลกังวลต่อความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้น" รศ.ดร.ยุทธพร ทิ้งท้าย

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ