เปิดใจ “ช่างสัก” อดีต “ผีน้อย” แชร์ประสบการณ์ตรงลักลอบทำงานเกาหลีใต้

by ThaiQuote, 4 มีนาคม 2563

ชีวิต “ผีน้อย” ในฐานะแรงงานเถื่อนสุขสบายมากน้อยแค่ไหน ถึงขั้นพอที่จะให้มนุษย์เงินเดือนในออฟฟิศ หรือผู้หาเช้ากินค่ำค่าแรงขั้นต่ำ 300-350 ต่อวันในเมืองไทย ต้องตาร้อนกันหรือไม่ วันนี้ ThaiQuote มีคำตอบ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 (โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019) ในประเทศเกาหลีใต้ ที่ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 5,000 คน ทำให้แรงงานที่อยู่อย่างผิดกฎหมายเพื่อลักลอบทำงาน หรือที่เรียกกันว่า “ผีน้อย” ยื่นความประสงค์ขอกลับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นประเด็นวิตกกังวลในการหามาตรการรองรับเพื่อป้องกันการลุกลามของไวรัสซึ่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

สำหรับ “ผีน้อย” ชาวไทยในแดนกิมจินั้นเป็นที่ทราบดีว่ามีเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้อยู่ในประเทศเกาหลีใต้โดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน เข้าไปโดยวีซานักท่องเที่ยวและแอบอยู่ยาวหมดอายุวีซา (วีซามีระยะเวลา 90 วัน) เพื่อแฝงตัวทำงาน ขณะที่บางคนใช้วิธีไปๆ-กลับๆ ทุกรอบ 3 เดือน

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ได้เปิดเผยว่า แรงงานไทยในเกาหลีใต้เริ่มมีมาราวปี 1998 และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุเกิน 100,000 คนช่วงปี 2018 ซึ่งในจำนวนกว่าแสนคนนั้นมีแรงงานที่ถูกกฎหมายเพียง 2 หมื่นกว่าคนเท่านั้น และไทยถือว่าเป็นชาติที่มีคนหลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้มากที่สุดอีกด้วย

 

โดยช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมาทั้งไทยและเกาหลีใต้เร่งเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกลุ่มหมายนี้ ทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรอง ตลอดจนเปิดช่องให้รายงานตัวกลับโดยสมัครใจ ซึ่งจะไม่เสียค่าปรับและไม่ถูกแบล็กลิสต์ อีกทั้งนโยบายจากกระทรวงแรงงานที่พาเข้าไปแบบถูกกฎหมาย แต่ในภาพรวมก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้เท่าที่ควรเพราะจำนวนผีน้อยแทบไม่ลดลง

จากจำนวนผีน้อยที่มากมาย จึงเกิดคำถามที่ว่า “เกาหลีใต้” คือแดนสวรรค์ของผู้ใช้แรงงานไทยใช่หรือไม่ เพราะเหตุใดคนไทยจึงยอมเสี่ยงทำผิดกฎหมายเพื่อไปขุดทองถึงที่นั่น ค่าตอบแทนมากมายมหาศาลแค่ไหนกัน การใช้ชีวิตอยู่ในฐานะแรงงานเถื่อนสุขสบายมากน้อยแค่ไหน ถึงขั้นพอที่จะให้มนุษย์เงินเดือนในออฟฟิศ หรือผู้หาเช้ากินค่ำค่าแรงขั้นต่ำ 300-350 ต่อวันในเมืองไทยต้องตาร้อนกันหรือไม่ วันนี้ ThaiQuote พอจะมีคำตอบ จากการพูดคุยกับผู้ที่ยอมรับว่าตัวเองเป็น “ผีน้อย” ตัวจริง ที่มีประสบการณ์ตรงจากการไปขุดทองที่แดนกิมจิซึ่งจะมาแชร์เรื่องราวให้ได้รับรู้กัน

คุณอาร์ท (นามสมมุติ) อดีต “ผีน้อย” คือชายหนุ่มวัยกลางคนอายุเลยหลัก 4 มาไม่มาก เปิดใจกับกองบรรณาธิการ ThaiQuote ว่า คนไทยที่ไปเกาหลีใต้เพื่อลักลอบทำงานส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กลุ่มผู้มีอิทธิพล เป็นมาเฟียสัญชาติเกาหลีที่ประกอบธุรกิจสีเทาอยู่ในเมืองใหญ่ต่างๆ โดยงานสีเทาดังกล่าวมีตั้งแต่ขายแรงงาน ค้าประเวณี และอีกอาชีพหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมคือการ “รับจ้างสัก” ให้กับชาวเกาหลีใต้

อาร์ทเล่าว่า ตนเองเป็นช่างสักลาย มีโอกาสได้ไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ผ่านนายหน้าซึ่งเป็นช่างสักลายด้วยกันชวนให้ไปรับงาน โดยมีนายจ้างซึ่งเป็นคนเกาหลีคอยดูแลอยู่ การรับงานเว็บไซต์เท่านั้น ไม่มีหน้าร้าน เพราะการรับจ้างสักในเกาหลีถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

“เนื่องจากไปทำสิ่งผิดกฎหมาย ชีวิตเราจึงขึ้นอยู่กับนายจ้าง หากเราได้นายจ้างดี เราก็จะได้รับการดูแล ทั้งเรื่องอาหาร ที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ แต่นอกจากนายจ้างดีแล้ว เราต้องเป็นลูกจ้างที่ดีด้วย เช่น ทำงานตามระบบ เป็นระเบียบ งานดี ฝีมือ และต้องตั้งใจทำงาน” อาร์ทกล่าว

ส่วนค่าจ้างที่ได้รับนั้น ช่างสักชาวไทยเปิดเผยว่า อยู่ในขั้น “ดี” โดยรายได้สูงสุดของช่างสักไทยแต่ละคนจะได้ประมาณ 100,000 บาทต่อเดือน จำนวนนี้ถือว่าเต็มเพดาน หากเป็นช่างสักมือใหม่ก็จะอยู่ที่ประมาณ 40,000-60,000 บาทต่อเดือน โดยรายได้ดังกล่าวขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงก่อนที่จะเดินทางมา หากในรายที่ได้นายจ้างตรงไปตรงมา ก็จะมีการจ่ายมัดจำล่วงหน้าให้ครึ่งหนึ่งของเงินเดือน

“เงินมัดจำโอนเข้าบัญชีให้ก่อนเดินทาง นายหน้าคนไทยจะหัก 10% ประมาณ 15,000-20,000 บาทต่อครั้ง นอกจากนี้ก็จะมีทิปพิเศษในการสักของแต่ละงาน โดยค่าทิปจะเรียกว่า “ใบ” ซึ่งมีตั้งแต่ 3 ใบ จนถึงสูงสุดคือ 15 ใบ 1 ใบจะเท่ากับ 10,000 วอน หรือประมาณ 275 บาท”

 

 

ส่วนช่วงเวลาที่อยู่ทำงานนั้น อดีต “ผีน้อย” ท่านนี้ อธิบายว่า แต่ละครั้งนั้นก็แล้วแต่จะตกลงกัน แต่ได้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน เพราะวีซาหมดอายุ (วีซานักท่องเที่ยว) ก็จะต้องบินกลับ เวลาทำงานจริงประมาณ 2 เดือนกว่า ปกติจะทำงานประมาณวันละ 10 ชั่วโมง มีวันหยุดให้ 1 วันต่อสัปดาห์

อาร์ทเล่าอีกว่า เนื่องจากเป็นงานผิดกฎหมาย รายได้จำนวนมากกับความเสี่ยงถือเป็นของคู่กัน บางคนทำตัวไม่ดี ผิดสัญญา ย้ายไปอยู่กับนายจ้างใหม่ระหว่างที่ยังอยู่ในสัญญา นายจ้างเก่าก็แจ้งจับ คนที่ไปทำต้องระวังเรื่องของความซื่อสัตย์ เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญอาชีพ หากซื่อสัตย์นายจ้างก็จะดูแลเราดี

“ความเสี่ยงก็มีด้วยกันทั้งนั้น ทั้งเรื่องของฝีมือ การทำงาน นิสัยการทำงานของเรา แล้วก็โชค ตามที่บอกตอนแรกว่า ได้นายจ้างดีก็ดีไป ดูแลดี รับงานแต่ละครั้งเขาก็จะสกรีนให้เรา แต่ถ้านายจ้างไม่ดี เราก็จะลำบาก เช่นเรื่องการกิน ที่อยู่ เพื่อนบางคนเล่าให้ฟังว่า บางครั้งหลับอยู่มาปลุกให้ตื่นขึ้นมารับงานก็มี ถ้าเจอนายจ้างไม่ดีก็ต้องทนทำงานให้ครบตามสัญญา”

ช่วงเวลาที่ช่างสักชาวไทยไปเป็นผีน้อยที่เกาหลีใต้กินระยะเวลาราว 3 ปี ช่วง พ.ศ.2557-59 โดยใช้วิธีบินไปๆ-กลับๆ ตามอายุวีซา สุดท้ายเขาถูกจับและถูกห้ามเข้าประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อถามว่า ทุกวันนี้ยังอยากกลับไปทำงานรูปแบบนั้นอีกหรือไม่ เขาบอกว่าคง “ไม่” อีกแล้ว เพราะตลอดเวลาที่ทำคำนวณแล้วพบว่า “ไม่คุ้ม” กับความเหนื่อยและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ โดยที่ผ่านมาถือว่าเป็นประสบการณ์

“เอาแบบไม่โลกสวยนะ ผมโดนแบล็กลิสต์ห้ามเข้าประเทศ 8-10 ปี เพราะมีช่วงหนึ่งที่บินบ่อย 8-10 ครั้งต่อปี ทำให้ ตม.เริ่มสงสัย สุดท้ายก็ไม่รอด แม้มีรายได้ดีแต่ก็ไม่คุ้ม ที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ ประสบการณ์ของชีวิตที่มาพร้อมความเสี่ยง ถามว่าอยากไปอีกมั้ย ก็ไม่แล้ว เพื่อนผมบางคนยังติดคุกอยู่ที่นั่นเลยนะ” อาร์ท กล่าวทิ้งท้าย

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ