“นายกฯ" ลั่น! กล้าใช้มาตรการเข้ม สู้โควิด-19 แต่ยังไม่ถึงเวลา

by ThaiQuote, 23 มีนาคม 2563

นายกฯประชุมใหญ่ศูนย์โควิด 19 ทำเนียบรัฐบาล ไม่มีหารือใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมสถานการณ์เพิ่ม พร้อมปลดล็อคให้บริษัทจดทะเบียน สามารถเลื่อนการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้น จาก กำหนดเดิม 30 เมษายนนี้ออกไปได้ หากจำเป็นประชุม ให้ใช้ระบบประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อย่างพร้อมเพรียง

ภายหลังการประชุม นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุม เน้นย้ำ 6 มาตรการของรัฐบาลที่ออกไป โดยเฉพาะมาตรการ การคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศไทย การปิดพรมแดนทั่วประเทศ ยกเว้นช่องทางขนส่งสินค้าเท่านั้น รวมถึงเรื่องการกระจายหน้ากากอนามัย

โดยที่ประชุมยังไม่ได้มีการพูดคุยถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อมาดูแล สถานการณ์ในขณะนี้ ทั้งนี้การประชุม ครม. พรุ่งนี้จะมีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยา ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังมีมติ ให้บริษัทจำกัด บริษัทมหาชน ที่จดทะเบียนทางการค้ากับพัฒนาธุรกิจการค้า ในกระทรวงพาณิชย์สามารถแจ้งเพื่อขอเลื่อนการประชุมกรรมการ ผู้ถือหุ้น ประจำปี จากเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 เมษายนนี้ของทุกปี โดยทางกระทรวงพาณิชย์ จะยกเว้นค่าปรับ แต่หากบริษัทใดมีความจำเป็นก็สามารถใช้วิธีการประชุมผ่านระบบอีเล็กทรอนิกส์ได้ หรือ ผู้ถือหุ้นใช้วิธีมอบอำนาจกรรมการอิสระได้

แต่หากจำเป็นต้องจัดประชุม ก็ต้องปฎิบัติตามมาตรการการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดทั้งการจำกัดจำนวนคน ตรวจวัดอุณภูมิร่างกาย การจัดที่นั่งให้มีระยะห่างตามที่กำหนด การให้มีแอลกอฮอลล้างมือในจุดต่างๆ

ทั้งนี้นางรื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทที่จดทะเบียนมากกว่า 700 บริษัท ซึ่งทาง ก.ล.ต.จะแจ้งข้อมูลนี้ไปยังทุกบริษัท พร้อมย้ำว่า สามารถใช้วิธีการประชุมทาง อิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES ก็ยืนยันว่า สามารถใช้ระบบการประชุมนี้ได้

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำว่า บริษัทสามารถใช้การประชุมอิเล็กทรอนิกส์ได้เพราะคำสั่ง คสช.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เป็นการประชุมที่กฎหมายให้การรองรับ โดยมีเพียงสองเงื่อนไขเท่านั้น ที่ประชุมได้ถูกต้องตามกฎหมายคือ 1. จะต้องมีผู้ร่วมการประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุม จะต้องมาเข้าร่วมประชุม เช่น หากมีคระกรรมการ 14 คน องค์ประชุม จะต้องมี 7 คน

ดังนั้น 1ใน 3 ของคระกรรมการ 7 คนนี้ ก็เท่ากับ 3 คนต้องอยู่ในที่ประชุมร่วมกัน ก็ถือว่าประชุมร่วมกันได้ ส่วนอีกเงื่อนไข คือผู้ร่วมประชุมต้องอยู่ในประเทศ พร้อมทั้งยืนยันว่าการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลในทางคดีต่างๆ ทั้งนี้เพื่อลดการแพร่เชื้อ และความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค และถูกต้องตามกฎหมาย ใช้เทคโนโลยีถูกต้องตามสถานการณ์

 

ข่าวที่น่าสนใจ