พ.ร.ก.ฉุกเฉิน “ยาแรง” สู้โควิด-19 ประเทศไทยมาถูกทาง?

by ThaiQuote, 3 เมษายน 2563

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

เป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วที่รัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยาแรงที่รัฐบาลนำมาใช้ต่อสู้กับไวรัสร้ายโควิด-19 หลายคนคาดหวังและจับตาว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลจะมาถูกทางหรือไม่?

วันนี้ ThaiQuote ได้มีโอกาสพูดคุยกับ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อดีตรองอธิการบดี และอดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นักวิชาการด้านการเมืองคนสำคัญ เพื่อจะมาวิเคราะห์เจาะลึกถึง พ.รก.ฉุกเฉิน ยาแรง สู้โควิด-19 ถูกทาง?


ทำไมต้องเป็น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน?

ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีความพิเศษอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือเป็นการแพร่ระบาดอย่าง “ผันผวน” คือเริ่มจากจุดศูนย์กลางคือจีนและประเทศฝั่งเอเชีย แต่จุดศูนย์กลางได้ย้ายไปอยู่ทางฝั่งยุโรปแล้ว ล่าสุดลามไปถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัญหาลักษณะนี้เราจะเรียกกันว่า ”โรค โลกาภิวัตน์” ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนย้ายของคนในโลก การจัดการกับปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนประการที่สอง คือ ไวรัสโควิด-19 เป็นภัยรูปแบบใหม่ เป็นภัยที่มองไม่เห็น เราไม่เคยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับกรณีนี้มาก่อน ที่ผ่านมารัฐบาลจะใช้กับเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เป็นครั้งแรกใช้กับการแพร่ระบาดของโรค จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้มาตรการต่างๆที่อยู่ในกฎหมายนี้ให้สามารถใช้ได้จริง

หลายฝ่ายมองรัฐบาลรับมือช้าไปหรือไม่? ปัญหาตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลประกาศเร็วหรือช้า แต่อยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการและการตัดสินใจอย่างทันท่วงทีมากกว่า ยกตัวอย่างเรื่องการจัดการหน้ากากอนามัย ความจริงรัฐบาลต้องจัดเตรียมให้ทุกคนมีไว้ป้องกันตัว รวมไปถึงการให้ข้อมูลและการสื่อสารกับประชาชน ไม่ตรงกับสิ่งที่รัฐนำเสนอ สร้างความสับสน เช่นเรื่องการขาดแคลนปัจจัยจำเป็นในการป้องกันตนเองขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สิ่งต่างๆเหล่านี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า หลักการที่บอกว่าทุกคนต้องเข้าถึงสาธารณะสุขได้ ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังจากรัฐ ตรงนี้จึงนำมาสู่ความไม่เชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ในการแก้ปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมา


การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเมืองหลวงสู่ต่างจังหวัดอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหลักคืออะไร

ปัญหาสำคัญเกิดจาก”ความไม่เชื่อมั่น”ในมาตรการของรัฐบาล ที่สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวให้กับประชาชน จะเห็นได้ว่าก่อนหน้าที่จะเกิดการอพยพของผู้คนออกจากกรุงเทพฯ ภาครัฐไม่สามารถฉายภาพอนาคตให้เห็นได้ว่า ถ้าเขาอยู่ในกรุงเทพฯต่อไม่กลับบ้าน รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร คนหาเช้ากินค่ำจะมีรายได้จากไหน เขาจึงคิดว่าดีที่สุดคือกลับไปภูมิลำเนาตัวเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่รัฐบาลไม่มีแผนรองรับการเคลื่อนย้ายฝูงชนจำนวนมหาศาล ทำให้ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าลืมว่าประชากรกว่า 10 ล้านคนในกรุงเทพ ครึ่งหนึ่งเป็นประชากรแฝงจากต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงาน เมื่อกลับบ้านไปก็นำเอาการแพร่ระบาดเชื้อออกไปสู่ภูมิลำเนาตัวเองด้วย สะท้อนให้เห็นว่าการใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ก็เป็นเหมือนดาบสองคม ยิ่งทำให้คนตื่นตระหนกก็ยิ่งทำให้การแพร่ระบาดของโรค ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วกว่าเดิมด้วย

แนวโน้มในการประกาศ “เคอร์ฟิว” 24 ชั่วโมง
มีความเป็นไปได้สูง ตราบใดตัวเลขของผู้ติดเชื้อยังไม่ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ที่100 -130 ราย แต่ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะเห็นการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งจะไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นการปิดกั้นมากกว่า สุดท้ายแล้วแทนที่จะเป็นมาตรการป้องกันแก้ปัญหาก็จะกลายเป็นมาตรการสร้างความมั่นคงของรัฐบาลมากกว่าสร้างความมั่นคงทางสังคม เช่นการจำกัดการเสนอข่าวสาร การไล่ปราบเฟกนิวส์ ห้ามแสดงความคิดเห็น ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ห้ามตรวจสอบ ดังนั้นวันนี้ต้องให้สังคมเป็นตัวตั้งมากกว่าการนำมาตรการของรัฐมาเป็นตัวควบคุม เพราะว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนจึงจะสัมฤทธิ์ผลได้


มีโอกาสแพร่ระบาดไปถึงขั้น ยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาหรือไม่?

ประเทศไทยคงไปถึงขั้นแพร่ระบาดหนักอย่างทางยุโรปหรืออเมริกา เพราะดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อบ้านเรา ไม่ได้ก้าวกระโดดมากขนาดนั้นถึงแม้จะมีตัวแบบที่คำนวณว่าจะติดจะติดเชื้อแสนกว่าคนหรืออาจจะมีผู้เสียชีวิตถึง 7,000 คน ในกรณีเร็วร้ายที่สุด แต่เมื่อดูจากตัวเลข1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาการติดเชื้อในต่างจังหวัดไม่ได้สวิงมากมาย เชื่อว่าคงไปไม่ถึงขนาดนั้น

บทบาทในการช่วยเหลือแก้ปัญหาบ้านเมืองในฐานะ”นักการเมืองและพรรคการเมือง”
วันนี้บทบาทของพรรคการเมืองในการช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองยังคงไม่ชัดเจน ควรจะต้องเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในการสะท้อนปัญหาต่างๆส่งไปถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจ อันนี้คือสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำ ไม่ใช่การแก้ปัญหารายวัน เช่นการเร่ขายไข่ไก่คงไม่ได้ช่วยอะไรมาก


วันนี้รัฐบาลมาถูกทางหรือยัง?

วันนี้ก็มีหลายอย่างเข้าที่เข้าทางมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ค่อนข้างจะบริหารกันแบบสะเปะสะปะอยู่พอสมควร ซึ่งการแก้ปัญหาก็ได้จากเสียงสะท้อนของพี่น้องประชาชน รัฐบาลจึงต้องรับฟัง และไม่ควรไปจำกัดการสะท้อนปัญหา การร่วมตรวจสอบ การแสดงความคิดเห็น ซึ่งรัฐบาลจะเก็บเกี่ยวไปใช้ได้ จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้หลายๆเรื่องที่รัฐบาลไม่เคยทำแต่กลับมาทำ เมื่อฟังเสียงสะท้อนของประชาชน วันนี้หลายอย่างรัฐบาลจึงมาถูกที่ถูกทางมากขึ้น ถ้าวันนี้รัฐบาลใช้สังคมเป็นตัวตั้งแล้วก็ฟังเสียงสังคมด้วย เชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดีแน่นอน

ต้องใช้เวลานานแค่ไหนประเทศไทยถึงพ้นวิกฤตนี้
คาดว่าอย่างเร็วสุด 3 เดือน อย่างช้าที่สุดก็ 1 ปี เพราะมันเกี่ยวข้องกับวงจรของโรคด้วย ซึ่งถ้าเราเอาตัวแบบของจีน การแพร่ระบาดของโรคจะอยู่ประมาณ 3 เดือน จากนั้นสถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายจนยกเลิกการปิดเมืองไป เพราะผู้ติดเชื้อหายจากอาการป่วยตามวัฎจักรของเชื้อไวรัส ซึ่งในไทยก็จะคล้ายๆกัน แต่ถ้ามีการระบาดมากกว่านั้นก็อาจจะ 6 เดือนถึง 1 ปี แต่เชื่อว่าการระบาดในบ้านเราคงจะไม่รุนแรงเกินไปกว่าประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้แน่ เพราะวันนี้ประชาชนมีความตื่นตัว ในการที่จะป้องกันตนเองมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการยับยั่งการแพร่ระบาดของไวรัสขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นและช่วยเหลือขั้นพื้นฐานในการป้องกันตนเองและสาธารณสุขต่างๆที่ประชาชนต้องเข้าถึงได้ด้วย นี่คือสิ่งที่รัฐต้องสนับสนุน ไม่ใช่เพียงขอความร่วมมืออย่างเดียว แต่ต้องให้เครื่องไม้เครื่องมือในการป้องกันด้วย


บทสรุปสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพนั้น จะหวังพึ่งภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม “ประเทศไทยถึงจะผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้”..!!

ส่วนเรื่องปัญหาปากท้องที่เกิดจากผลกระทบของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เชื่อว่ารัฐบาลจะมีแนวทางในการแก้ไขอยู่แล้ว ส่วนภาคประชาชนก็พร้อมช่วยเหลือ เพราะเชื่อ “คนไทย” ยังไงก็ไม่ทิ้งกัน.!


ข่าวที่น่าสนใจ