หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับ การสร้างคุณวุฒิวิชาชีพเกษตรกรไทย

by ThaiQuote, 18 พฤศจิกายน 2560

กรณีการจัดทำโครงการ “มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นการน้อมนำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และภาคีเครือข่ายนั้น ถือเป็นการน้อมนำการปฏิบัติตามหลักพระราชดำริ อย่างแท้จริงมาปรับใช้เพื่อในการสร้างมาตรฐาน และคุณวุฒิวิชาชีพให้กับเกษตรกรและประชาชนไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งในด้านองค์ความรู้ และฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สำหรับองค์ความรู้ที่ถ่องแท้ เกี่ยวกับหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั้น นายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานที่ปรึกษาของมูลนิธิน้ำเพื่ออีสาน ได้กล่าวความหมายไว้ว่า “เป็นพระราชดำริเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็ก ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทฤษฎีใหม่ เป็นขั้นของความเข้าใจและจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนคือ 30 เปอร์เซ็นต์ ขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝน ต่อมา 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารเพียงพอตลอดปีลดค่าใช้จ่าย ถัดมา 30 เปอร์เซ็นต์ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เหลือก็นำไปจำหน่าย และสุดท้าย 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่อยู่อาศัยเลี้ยงสัตว์และโรงเรือน หากเกษตรกรเข้าใจคำว่าทฤษฎีใหม่แน่นอนว่าครอบครัวเกษตรกรนั้นจะมีงานทำตลอดทั้งปี ทำให้เกิดทักษะ เกิดความขยันในการทำงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้และค่าตอบแทนแน่นอน ผลิตผลที่ผลิตในพื้นที่ย่อมมีกินตลอดปี และทำให้เกิดจิตวิญญาณที่จะมุ่งมั่นสู่การทำงาน ซึ่งจะได้ความสุขในชีวิตตอบแทนกลับคืนมาด้วย แต่ต้องมีความเพียรพยายาม ดังพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “การทำทฤษฎีใหม่ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง...ผู้ที่ปฏิบัตินี้ต้องมีความเพียร และต้องอดทน ...ทฤษฎีใหม่...ยืดหยุ่นได้และต้องยืดหยุ่น เหมือนชีวิตของเราทุกคนต้องมียืดหยุ่น” สำหรับ โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นการสร้างความยั่งยืนในการน้อมนำ “เกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมนำมาใช้เป็นแนวทางและหลักการอย่างตรงตามแนวพระราชดำริ ทั้งด้านองค์ความรู้ ความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างเป็นขั้นตอน ความสามารถในการวางแผนอย่างมีกระบวนการ การจัดการทรัพยากรการผลิตอย่างสมดุลและเหมาะสม จนเกิดนวัตกรรมในการพึ่งพาตนเองได้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์และบริบทพื้นที่ การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องมีการจัดแบ่งระดับของมาตรฐานวิชาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฏีใหม่ใน 3 ระดับ คือ 1.ระดับต้น โดยจะมุ่งกำหนดกรอบสมรรถนะเพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต รายได้ ความมั่นคงของตัวเกษตรกรและชุมชนชน มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง ถัดมา 2. ระดับกลาง ที่มีกรอบของสมรรถนะมุ่งเน้นการสร้างกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อดำเนินการการเกษตรอย่างครบวงจร และ 3. ระดับก้าวหน้า ที่มีกรอบสมรรถนะมุ่งเน้นการเป็นผู้ประกอบการ และสร้างเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกเพื่อสนับสนุนการผลิตและการตลาด ทั้งนี้ การจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อกำหนดแนวทางเดินให้กับเกษตรกร ซึ่งในตอนนี้เกษตรกรมีพื้นฐานความเข้าใจอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เรียกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” แต่อาจไม่สมบูรณ์ ถ้าหากทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพดำเนินการต่อยอดเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้าใจและชี้ให้เห็นภาพว่ามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพคืออะไร ตรงนี้ถือว่าสำคัญมาก ส่วนเรื่องเครื่องจักรกลต่าง ๆ ทางภาครัฐเองก็ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน ต้องทำตามพระราชดำรัสว่า “บวร” และต้องสร้างความริเริ่มในการพัฒนาให้กับเกษตรกรด้วย โดยทาง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จะต้องแนะแนวทางการสร้างมาตรฐานว่าควรเป็นแบบใดและขับเคลื่อนตามมาตรฐานได้อย่างไร” อาจารย์ปราโมทย์ อธิบายต่อว่า “นอกจากนี้ มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาเกษตรกรรม ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องเป็นการพัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะของเกษตรกรหรือผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างสอดคล้องกับการเกษตรกรรมตามแนวพระราชดำริ และทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรในบริบทของ Thailand 4.0 สู่การเป็นเกษตรกรที่มีมาตรฐาน และมีสมรรถนะมืออาชีพ นำไปสู่การขยายผลของความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมต่อไป
Tag :