ศธ.เล็งเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหา’ลัย เป็น “แบบเดียวจบ”

by ThaiQuote, 20 เมษายน 2563

กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเปลี่ยนระบบการสอบเข้ามหา’ลัย เป็น “แบบเดียวจบ” ลดความเครียดเด็ก-ค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง หลังวิ่งรอกสอบ GAT PAT โอเน็ต 9 วิชาหลัก และแอดมิชชั่น เริ่มใช้ปี 66

 

วันที่ 20 เม.ย.63 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากกระประชุมแนวทางดำเนินการการจัดทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) และการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชาสามัญ ประจำปีการศึกษา 2563

โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน ร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

ได้ข้อสรุปว่า จะมีการทบทวนการจัดทดสอบต่างๆ เนื่องจากกระบวนการเดิมที่มีการสอบหลายครั้ง (สอบ O-NET, GAT/PAT ,สอบ 9 วิชาหลัก และสอบแอดมิชชั่น) ส่งผลให้เด็กมีความเครียดและผู้ปกครองมีความกังวล เพราะเด็กบางคนต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการสอบ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะกลับไปทบทวนการจัดทดสอบต่างๆ ในกลุ่มเด็กม.6 ให้เหลือการสอบเดียว

ส่วนวิธีการดำเนินการจะเป็นข้อสอบในรูปแบบใดนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สทศ.และ ทปอ.จะไปหารือร่วมกันในรายละเอียดอีกครั้ง

นายอำนาจ ระบุว่า ทปอ.เสนอว่า การทดสอบโอเน็ตและการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา น่าจะนำมารวมเป็นข้อสอบเดียวได้ เนื่องจากตอบโจทย์การวัดทักษะและสมรรถนะผู้เรียน โดย ทปอ.และ สทศ.จะไปประเมินข้อสอบของเด็กทุกระดับอีกครั้งว่าข้อสอบแบบไหนจะสามารถวัดทักษะและสมรรถนะเด็กได้ไปพร้อมกันได้ เพราะ สพฐ.เองจะมีการปรับหลักสูตรใหม่เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งจะต้องปรับข้อสอบให้มีความเชื่อมโยงด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการรื้อการสอบซ้ำซ้อนนั้นจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีการศึกษานี้ และจะประกาศใช้การสอบเดียวสำหรับเด็ก ม.6 ในปีการศึกษา 2566 ต่อไป


โดยนายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ. กล่าวว่า ทปอ.ได้รายงานแนวทางการรวมข้อสอบโอเน็ตกับ วิชาสามัญ 9 วิชา เข้าเป็นข้อสอบชุดเดียวกัน ว่า เป็นแนวทางที่ตรงกับสิ่งที่ ทปอ.คิด เนื่องจาก ทปอ.มีแนวคิดที่จะปรับปรุงข้อสอบและจะใช้ข้อสอบใหม่ปีการศึกษา 2566 โดยเห็นว่าควรลดจำนวนการสอบลง

ซึ่งข้อสอบวัดความรู้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนความรู้ และส่วนความถนัด โดยส่วนความรู้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนความรู้พื้นฐาน ซึ่งก็คือข้อสอบโอเน็ตเดิม และ ส่วนความรู้ประยุตก์ หรือวิชาสามัญ 9 วิชา เช่น ข้อสอบคณิตศาสตร์ 1 เป็นส่วนพื้นฐาน กับ คณิตศาสตร์ 2 ส่วนความรู้ประยุตก์ ซึ่งแล้วแต่ว่านักเรียนจะเลือกสอบ ดังนั้น ผลสอบออกมาแล้ว ข้อนี้เป็นความรู้พื้นฐาน ข้อนี้เป็นความรู้ประยุกต์ ก็นำไปใช้งานอย่างไรก็สามารถนำคะแนนไปใช้ได้

เลขาฯ กพฐ. กล่าวอีกว่า การสอบโอเน็ต และการสอบ 9 วิชาสามัญต่างกัน แต่วันนี้ข้อสอบมากเกินไปทำให้เด็กเครียด ซึ่ง ข้อสอบ 1 ข้อก็สามารถวัดเด็ก 2-3 อย่างได้ จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายวัดประเมินผลต้องคิดกันต่อไป คือไม่อยากให้เด็กต้องวิ่งสอบ หลายที่เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง

เด็กบางคนไม่มีค่าใช้จ่ายไปสอบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงอยากพิจารณาให้สอบรอบเดียว ข้อสอบเราเปลี่ยนรูปแบบได้ และการตรวจวัด วันนี้มีระบบ AI ก็นำมาใช้ได้ ดังนั้น ก็จะต้องมาหารือกันว่าจะใช้วิธีใด โดยจะออกประกาศให้เด็กทราบล่วงหน้า 3 ปี และใช้ในปี 2566” นายอำนาจ กล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ศธ.เคาะ 3-12 พ.ค.63 เปิดรับเข้า ม.1 - ม.4 ผ่านระบบออนไลน์

ตั้งทีมวิจัยภูมิต้านทานต่อโรคโควิด-19 ในเลือดของผู้หายป่วยโรคโควิด-19