"ขยะอุตสาหกรรม” ในพื้นที่ ’อีอีซี’ ขุมทรัพย์ที่คู่กับการรักษ์โลก

by ThaiQuote, 5 พฤษภาคม 2563

หากเรามองภาพของ “ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ในประเทศไทย ภาพของ “ขยะ” น่าจะผุดขึ้นในความคิดของใครต่อใครหลายคน เพราะน่าเชื่อได้ว่าขยะมหาศาล ที่ผ่านขั้นตอนการทิ้ง จัดเก็บ ทำลาย อย่างผิดแผกจากสิ่งที่ควรทำ ก็ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อสภาพแวดล้อม

 

แต่ขยะที่ว่า มันเป็นภาพของขยะในครัวเรือน หรือตามบ้านเรือนต่างๆ จากชุมชนต่างๆ ที่มากมหาศาลตามจำนวนประชากร แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมี “กลุ่มขยะ” อีกบางประเภท ที่เริ่มมีปริมาณมากขึ้น สิ่งนั้นคือ “กากขยะอุตสาหกรรม”

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2560 สะท้อนว่าทั้งประเทศไทย มีขยะทั่วประเทศราว 27.37 ล้านตัน หรือคิดเป็น 74,998 ตัน/วัน โดยคนไทยมีส่วนสร้างขยะวันละ 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน ขณะที่ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นมากกว่า 50.6 ล้านตัน มาจากชุมชน 56% อุตสาหกรรม 43% และสถานพยาบาล 1%

จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เห็นภาพว่าสัดส่วนกากขยะอุตสาหกรรมก็มีสัดส่วนใกล้เคียงกับภาคชุมชนเช่นกัน มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธว่าแต่ละองค์กร แต่ละโรงงาน จะต้องมีส่วนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการของตัวเอง เพราะต้องไม่ลืมว่า กากขยะอุตสาหกรรม มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สูงมากกว่าขยะครัวเรือน หากมีการจัดการที่ไม่ดีพอ เพราะสารเคมี วัตถุอันตรายที่เคยใช้ในโรงงาน จะแทรกซึมไปยังแหล่งดิน แหล่งน้ำของแต่ละพื้นที่และแผ่ขยายออกไปในทันที

เมื่อมองลงไปในรายละเอียดของกากขยะอุตสาหกรรม พบว่าส่วนใหญ่แล้วจะถูกแบ่งออกมาเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย

1.กากของเสียไม่อันตราย คิดเป็นกว่า 95% ของปริมาณกากอุตสาหกรรมทั้งหมด เช่น กากอ้อย เศษเหล็ก กากน้ำตาล เถ้าลอย

2. กากของเสียอันตราย เช่น ตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย น้ำกรดจากการกัดผิวเหล็ก น้ำทิ้ง น้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากเราเลือกโฟกัสไปที่อนาคตของประเทศ แน่นอนว่าเป้าหมายคือในพื้นที่โครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี สำหรับพื้นที่แห่งนี้จากข้อมูลของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี 2562 พบว่า มีกากขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วอยู่ที่ประมาณ 2 แสนตัน ส่วนใหญ่เป็นประเภทของเสียไม่อันตราย หรือคิดเป็นกว่า 70% ซึ่งกากขยะอุตสาหกรรมพบได้มากที่สุดในจังหวัดระยอง คิดเป็น 51% ของปริมาณกากขยะจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ ‘อีอีซี’ ทั้งหมด

โดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐสนับสนุนให้กลุ่มนักลงทุนเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่ ‘อีอีซี’ เริ่มส่งผลให้มีจำนวนโครงการที่ได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 เพิ่มขึ้นกว่า 32% เมื่อเทียบปีต่อปีโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

ภาพทั้งหมดมันย่อมเกิดขยะกากอุตสาหกรรมมหาศาลแน่นอนในไม่ช้า แต่มันจะไม่ใช่ปัญหาเลยทีเดียว หากมีการจัดการในระบบการกำจัดขยะอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องเกิดขึ้นได้ และอีกด้าน มันจะเป็นโอกาสทองทีเดียวสำหรับคนที่มองเห็นธุรกิจการจัดการกากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี

เว็บไซต์ bangkokbanksme ของธนาคารกรุงเทพ สะท้อนมุมมองต่อธุรกิจการจัดการขยะอุตสาหกรม และโฟกัสในพื้นที่อีอีซีเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า ธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจไม่ค่อยมีผู้เล่นรายใหม่ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการขนส่ง, ระบบคัดแยกและแปรรูป, ระบบบำบัด และอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการขนส่งกากขยะอุตสาหกรรมมายังโรงบำบัด โดยเฉพาะกากขยะอันตรายที่การขนส่งต้องเป็นไปอย่างรัดกุม ตรงตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งภาครัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดนโยบายเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุน โดยให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ โรงงานที่มีกระบวนการแปรรูปเพิ่มเติมและกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) สามารถได้รับการยกเว้นอากร ทั้งการนำเข้าเครื่องจักร การนำเข้าเพื่อวิจัย และพัฒนาวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี

ส่วนโรงงานคัดแยกขยะได้รับการยกเว้นภาษี 5 ปี คาดว่านโยบายส่งเสริมจากภาครัฐจะสามารถแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในธุรกิจดังกล่าว อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของการจัดการกับปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม และยังส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยและคนทำงานในพื้นที่ ‘อีอีซี’ ดีขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันสำหรับอนาคตในอีกราว 4 ปีข้างหน้า การรีไซเคิลขยะจะก้าวกระโดดทำให้มีความสำคัญอย่างมาก และการรีไซเคิล จะเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ขยะล้นเมืองหรือสิ่งของเหลือทิ้งต่างๆ ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมประเมินว่าตลาดรีไซเคิลในไทย จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.7% จากปี 2019 ที่มีมูลค่า 1.7 แสนล้านบาท จะเพิ่มมูลค่าพุ่งสูงถึง 2.24 แสนล้านบาท ในปี 2024 หรือมีขนาด 1.2% ของจีดีพีรวมภายในประเทศเลยทีเดียว

สาเหตุที่ตลาดรีไซเคิลของไทยเติบโตก้าวกระโดดในอีก 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG Model) ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

รวมทั้งภาครัฐได้ตั้งเป้าหมายลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2027 การขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้สร้างความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นความต้องการวัสดุรีไซเคิลในกระบวนการผลิต แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่การไม่คัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในส่วนนี้ ‘รีไซเคิลแพลตฟอร์ม’ จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ขายและผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล นำไปสู่การหมุนเวียนของขยะรีไซเคิลในวงจรเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ท้ายสุดสำหรับปัจจุบัน กากขยะอุตสาหกรรมจำเป็นต้องได้รับการจัดการที่รัดกุม ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทขยะและข้อกฎหมายบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกากของเสียอันตรายที่มีเงื่อนไขในการติดตามตั้งแต่แหล่งกำเนิดขยะ การขนส่งอย่างมีระบบเอกสารกำกับ การขนส่งของเสียอันตราย (Manifest System) รวมถึงการบำบัด ซึ่งไม่เพียงกำหนดคุณสมบัติในการรับเข้าบำบัดแล้ว ยังต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามากำจัดที่เหมาะสมด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับกากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย แม้จะไม่มีกฎหมายข้อบังคับมากเท่ากากอุตสาหกรรมอันตราย แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เหมาะสม ตลอดทั้งมีการบริหารจัดการพื้นที่กำจัดขยะอย่างรัดกุม รวมถึงด้านความปลอดภัย เพราะมีโอกาสที่จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายได้

 


ขอบคุณข้อมูลจาก

กรมควบคุมมลพิษ

กรมโรงงาน

กระทรวงอุตสาหกรรม

และเว็บไซต์ bangkokbanksme

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ