เรียนออนไลน์ กทม.พร้อม! ย้ำพ่อแม่ ถ้าขาดอุปกรณ์ ไม่ต้องซื้อ

by ThaiQuote, 25 พฤษภาคม 2563

กทม.พร้อมการจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ ผ่านช่องทางการเรียนรู้ 4 On แนะผู้ปกครองหากไม่มีมือถือ คอมพิวเตอร์ ไม่ต้องซื้อ

 

วันที่ 25 พ.ค.63 นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ เนื่องในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิและโรงเรียนบ้านบางกะปิ เขตบางกะปิ

นายเกรียงยศ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการจัดการเรียนการสอนระบบออนไลน์ที่โรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิและโรงเรียนบ้านบางกะปิ จากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนดังกล่าวพบว่ามีความพร้อม 100% สำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ เครื่องมือ และครูผู้สอน

 

 

สำหรับภาพรวมความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 โรงเรียน มีความพร้อมประมาณ 70-80% ส่วนที่ยังไม่พร้อมจะเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่บริเวณชานเมือง บางแห่งมีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือเด็กนักเรียนมีฐานะยากจน เป็นต้น


สำนักการศึกษาได้ทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงเตรียมการจัดการเรียนรู้ให้ครอบคลุมนักเรียนทุกคน ทั้งกลุ่มที่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์และกลุ่มที่ไม่พร้อมเรียนออนไลน์ โดยผ่านช่องทางการเรียนรู้ 4 ช่องทาง ( 4 on) คือ

 

 

1. Online โดยการสอนสดผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งครูสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนได้ โดยใช้ Application ต่าง ๆ เช่น Microsoft Team, Google Classroom, Zoom, Facebook live เป็นต้น โดยจะมีตารางเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนจัดไว้และแจ้งให้นักเรียนทราบ ส่วนการเรียนนอกตารางเรียนครูจะจัดหาสื่อออนไลน์ เช่น คลิปวิติโอต่างๆ ตารางสอน DL TV เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนใช้เรียนรู้ด้วยตนเองและสามารถททวนบทเรียนได้ตลอดเวลา

2. On air โดยใช้สื่อ DL TV ภายใต้คำแนะนำและการติดตามดูแลของครู

3.On hand โดยการจัดส่งเอกสารต่าง ๆ ให้แก่ผู้เรียน เช่น คู่มือการเรียนรู้ด้วยตนเอง หนังสือเรียน ใบงาน แบบฝึกหัด เป็นต้น โดยครูจะจัดทำให้เข้าใจง่าย มีคู่มือแนะนำว่าผู้เรียนและผู้ปดรองต้องทำอะไรบ้าง

 

 

4.On site จัดกลุ่มผู้เรียนขนาดเล็กที่โรงเรียน ภายใต้มาตรการที่ ศบค.กทม. กำหนด สำหรับการประมินผล โดยติดตามผลจากครูเป็นระยะ และโรงเรียนรายงานผลให้สำนักการศึกษาทราบทุกสัปดาห์ทาง Google Form

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 เป็นต้นไป ทุกโรงเรียนจะทดสอบความพร้อมในการเรียน ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องที่พบจากการทดสอบ เพื่อให้มีความสมบูรณ์และเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุด รวมทั้งวางแผนการออกเยี่ยมบ้านในกรณีจำเป็น เช่น เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ เป็นต้น

อนึ่ง ในกรณีที่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ในวันที่ 1 ก.ค.63 ก็จะมีมาตรการดูแลและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้โรงเรียนเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ได้แก่ การจัดชั้นเรียนให้มีระยะห่างทางสังคม การเหลื่อมเวลามาเรียนเพื่อลดความแออัดและจำนวนเด็กนักเรียน การคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียน จัดให้มีเครื่องมือป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ face shield เป็นต้น

ส่วนกรณีไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ ในวันที่ 1 ก.ค.63 เนื่องจากยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะดำเนินการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ตามที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ สำหรับการสนับสนุนอุปกรณ์ให้แก่เด็กนักเรียน อาทิ กล่องทีวีดิจิทัล หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์

 

 

เบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้ประสานกระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างมอบหมายสำนักการศึกษา และโรงเรียน ทำการสำรวจจำนวนเด็กที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ แต่ยังขาดอุปกรณ์

“ผู้ปกครองนักเรียนไม่ต้องมีความวิตกกังวลใดๆ หากไม่มีอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนรู้ เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมความพร้อมด้านการเรียนการสอนไว้หมดแล้ว ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินเพื่อนำมาจัดซื้ออุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ หรือคอมพิวเตอร์

หากไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ทางโรงเรียนจะส่งครูไปดูแลถึงที่บ้าน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ 4 on ของกรุงเทพมหานคร” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้าย

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

“ครูตั้น”ส่งต่อศบค.เคาะ “โรงเรียนนานาชาติ” เปิด 1 มิ.ย. “ได้หรือไม่”

 สรรพากรเร่งช่วยคนไทย ชู 4 มาตรการภาษี “เลื่อน-คืน-ลด-จูงใจ”