"สมชาย"ติงเร่งแผนดูร้อนรนใช้เงิน 4 แสนล้าน หวั่นช่วยไม่ตรงจุด

by ThaiQuote, 6 มิถุนายน 2563

"สมชาย แสวงการ" ติงรัฐบาลดูร้อนรนเร่งรีบทำแผนใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน หวั่นเงินไม่ตรงกับการฟื้นฟู

 

วันที่ 6 มิถุนายน 2563 - นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทของรัฐบาล ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการรวบรัดและเร่งการใช้เงินมากจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้เม็ดเงินไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง โดยข้อความทั้งหมดระบุว่า

"#คนไทยเก่งที่สุดในโลก

ความมหัศจรรย์การเขียนโครงการขอใช้เงินกู้ 400,000 ล้าน แทบไม่น่าเชื่อว่าให้เวลาท้องถิ่นคิดโครงการไม่ถึง10วัน

เห็นด้วยกับความเร่งด่วนของการใช้เงินเยียวยาแต่ไม่เห็นด้วยกับกับการเร่งรีบร้อนลนรวบรัดครับ

 

 

เงินทุกบาทเป็นเงินกู้เป็นหนี้ที่ประชาชนทุกคนต้องใช้คืน กระสุนมีอย่างจำกัดต้องใช้ทุกนัดอย่างระมัดระวังเข้าเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและต้องประสพผล

ลองดูเอกสารประกอบกับเวลาในไทม์ไลน์ครับ

27 พ.ค. มีหนังสือด่วนที่สุด 1544 จากกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นส่งด่วนที่สุดไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศและทุกจังหวัด

28 พ.ค. ลงประกาศให้ทราบทางเว็ปไซด์

28 พ.ค. มีหนังสือจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรื่องการจัดทำข้อเสนอโครงการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและให้ดาวน์โหลดเอกสารตัวอย่างโครงการ

29 พ.ค. บางจังหวัดเรียกประชุม

30-31 พ.ค. 1-2 มิ.ย. ให้กลับไปทำโครงการให้เสร็จเพื่อส่งจว.ให้ทันภายในวันที่ 2 มิ.ย.
3-4 จังหวัดทยอยส่งกรมส่งกระทรวง

5 มิ.ย. เอกสารถึงมือคณะกรรมการครบถ้วน

มหัศจรรย์จริงๆ???

งานนี้บางคนบอกอ่านเอกสารยังแทบไม่ทัน
แต่ดูจากไทม์ไลน์จะเห็นว่าใช้เวลากันทำเอกสารโครงการกันแค่3-4วัน เท่านั้น ทั้งๆที่แต่ละโครงการเป็น10ล้าน ร้อยล้าน

ไม่ต้องถามถึงการได้ออกไปทำประชาคมถามความจำเป็น(need)ของประชาชนในพื้นที่ว่าได้ทำกันบ้างมั้ย เท่าที่ทราบไม่มีครับ ชาวบ้านบางคนบอกว่าเขาก็ทำกันแบบเดิมๆคือทำตามความต้องการ(want)ของราชการหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นไม่ได้สนใจneedของประชาชนเท่าใดนัก

จะเป็นโครงการเพื่อเป้าหมายภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน ภาคท่องเที่ยวและบริการ หรือแผนฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ พัฒนาสินค้าและบริการชุมชน พัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือพัฒนาทักษะฝีมือแรงงงาน ไม่ต้องกังวล ครับ อยากได้แบบไหน เดี๋ยวจัดให้

มีหลายตัวอย่างในอดีตไม่นาน

ชาวบ้านอยากได้ถุงยังชีพข้าวสารอาหารแห้ง อบจ.ลำพูนก็จัดถุงน้ำใจสบู่ยาสีฟันขันถ้วยช้อนไปให้

ชาวบ้านกลัวเชื้ออโควิดก็เลยทุ่มงบซื้อแอลกอฮอล์เกือบ 300 ล้านบาท ราคาสูงเกินลิตรละ 300 ไปฉีดพ่นราดถนนให้เกือบ1ล้านลิตร

ชาวบ้านอยากได้โรงสีชุมชนอบตนายอำเภอก็จัดโครงการถนนไร้ฝุ่นไม่ไร้คอรัปชั่นไปให้ หรือที่อำเภอท่าเรือก็จัดเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ 13 เครื่อง ไปตั้งในบ้านนายกท้องถิ่นให้ชาวบ้านเลิกซักผ้ามา หัดใช้บริการหยดเหรียญเครื่องซักผ้าให้ภรรยานายกเก็บเงินแทน เป็นต้น

สรุปว่าการเขียนโปรเจ็คแบบนี้ถ้าไม่ใช่สุดยอดสมองของคนคิดคนเขียนได้รวดเร็วทันใจ ก็คงไม่แคล้วปัดฝุ่นโครงการเดิมที่ถูกตัดไปมาตัดต่อพันธุกรรมใหม่ เพราะแว่วข่าวกรรมการพิจารณาบอกแล้วว่าอย่าปัดฝุ่นส่งมาโดนตัดแน่ๆ

บางแห่งจึงได้มีการตัดต่อในโครงการเดิมแก้ไขทั้งชื่อและไส้ในเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนวัตถุประสงค์เดิมให้เข้าทางเพื่อฟื้นฟูเยียวยาโควิด
ง่ายนิดเดียวไม่ต้องใช้เวลาคิดมากแค่ตัดต่อปรับโครงการในคอมพิวเตอร์10นาทีเสร็จ

ฝากให้กรรมการจากสำนักงบประมาณตรวจเทียบดูครับ

ฝากถึงนายลุงตู่และคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ พิจารณาดังนี้ครับ

1) ควรขยายเวลาการเสนอโครงการออกไป ให้เสนอได้ใหม่ทุกๆ เดือนโดยมีเงื่อนไขที่ทุกโครงการต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนที่สำคัญต้องเป็นการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพได้ทั้ง need จากประชาชนและwantจากภาครัฐและอปท

2) โครงการที่เสนอเข้ามายังคณะกรรมการแล้วควรพิจารณาอย่างรอบคอบ และควรอนุมัติเท่ที่จำเป็นอย่าให้เกิดทุจริตเด็ดขาด

3) ตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ที่น่าเชื่อถือได้แก่ตัวแทนจากภาคประชาสังคมหรือองค์การต่อต้านทุจริต จากภาควิชาการ จากตัวแทนสื่อมวลชนและจากตัวแทนภาคธุรกิจสภาหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรมหรือสภา smes เข้าไปช่วยตรวจสอบ"

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ

ส่องแผน 5 กระทรวงหลักยื่นขอใช้ “เงินกู้ 4 แสนล้าน” พุ่งเป้าจ้างงาน - ฟื้นฐานราก

ชื่นชมพนักงานสหวิริยา “ขุดหลุมช่วยเต่าตนุวางไข่” จนสำเร็จ