ส่องแผน 5 กระทรวงหลักยื่นขอใช้ “เงินกู้ 4 แสนล้าน” พุ่งเป้าจ้างงาน - ฟื้นฐานราก

by ThaiQuote, 5 มิถุนายน 2563

โดย..กองบรรณาธิการ ThaiQuote

 

เปิดฉากกันแล้วกับการ “ยื่นเรื่องกู้เงิน” ของแต่ละกระทรวง เพื่อเอาเงินก้อนประวัติศาสตร์จากพ.ร.ก.กู้เงิน รวมมูลค่า 4 แสนล้านบาท ไปใช้พัฒนาตามเป้าหมายเพื่อกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติร่วมกันอย่างทุกภาคส่วน หลังจากที่เจอผลกระทบโควิด-19 มาอย่างหนักในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา

เมื่อเป็นเช่นนั้น ThaiQuote จึงรวบเอา “แผนงาน” การใช้เงินของแต่ละกระทรวง ที่ขอมีเอี่ยวกับเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อให้คอการเมือง ได้ทัศนา ได้วิเคราะห์ว่าแต่ละแผนของแต่ละกระทรวง มันเหนือชั้นแค่ไหน หรือมันช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

1.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรี เน้นจ้างงาน (ไม่ระบุวงเงิน)
- จ้างบัณฑิตจบใหม่ ที่ว่างงานจากโควิด - 19 รวม 2 แสนคน ระยะเวลา 1 ปี
- จ้างงานนักศึกษา 1 แสนอัตรา ระยะเวลา 1 ภาคเรียน ทำงานกับชุมชน พัฒนาชุมชน
- เป้าหมาย เสริมรายได้ให้เยาวชน

2.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี เน้นกระจายการช่วยเหลือ (ระบุวงเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท)
- เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัย สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
- เพื่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกันควบคุมโรค การวิจัยพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อการฟื้นฟูด้านสาธารณสุข
- เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- มีการตรวจสอบการใช้เงินผ่านคณะกรรมการ
- หากไม่เพียงพอจะของบเพิ่มเติม โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน เช่น ค่าใช้จ่ายการกักตัวในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) การวิจัยพัฒนา และจัดซื้อจัดหาวัคซีนในอนาคต

3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรี (ระบุวงเงินกู้ 9.5 หมื่นล้านบาท)
- เพิ่มศักยภาพและยกระดับการผลิต
- กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเศรษฐกิจชุมชน
- กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน
- สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต

4.กระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรี (ระบุวงเงินกู้ 1.55 แสนล้านบาท)
- ตั้งกองทุนดูแลผู้ประกอบการ SMEs หรือคนตัวเล็ก พยุงรักษาการจ้างงานเอาไว้ 1 แสนคน
- เน้นช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจชุมชน ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน
- ช่วยเหลือคนตกหล่นจากมาตรการเยียวยา
- หนุนโครงการของธ.ก.ส. อีก 5.5 หมื่นล้านบาท เน้นช่วยคนตกงานคืนถิ่น

5.กระทรวงคมนาคม (คม.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรี (ยังไม่ได้ระบุวงเงิน)
- พัฒนาระบบขนส่ง กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนทั้งประเทศ
- ปรับปรุงเส้นทางคมนาคมสู่การท่องเที่ยว
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเข้าแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้สะดวกมากขึ้น
- จ้างงานในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม กำหนดวันสุดท้ายที่จะต้องยื่นแผนการกู้เงิน 4 แสนล้านบาทของแต่ละกระทรวง กำหนดดีเดย์เอาไว้ที่ 5 มิถุนายนนี้ โดยตามรูปแบบแล้ว หน่วยงานที่จะพิจารณาแผนคือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ โดยเป้าหมายของการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟู “เศรษฐกิจและสังคม” ของประเทศไทย ซึ่งทั้ง 5 กระทรวงข้างต้นถือเป็นหัวใจหลักในการนำทีมฟื้นประเทศหลังพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ส่วนหน้าที่คนไทยมีประการเดียว คือเกาะติดการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทอย่างกระชั้นชิด ควบคู่ไปกับการรายงานของ Thaiquote ที่จะเกาะติดเรื่องนี้เพื่อรายงานต่อสาธารณะเช่นกัน

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ