“จากภาษีบุหรี่” ถึง “ปลูกกัญชง” ทางไหนรอดสำหรับเกษตรกร “ใบยาสูบ”

by ThaiQuote, 12 มิถุนายน 2563

วิเคราะห์และเจาะให้ลึก จากประเด็นร้อนและเดือดร้อนใจของพี่น้องเกษตรกรใบยาสูบ กับการขึ้นภาษีบุหรี่ 40% รวมไปถึงแนวทางการปลูกกัญชง!!

โดย....คเชนทร์ พลประดิษฐ์, กันติพิชญ์ ใจบุญ

ภายหลังที่มีการเปิดเผย การพิจารณาวาระลับของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการขึ้นภาษีบุหรี่ และภาษียาเส้น ของกรมสรรพสามิต ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ให้มีการขยายเวลาการเก็บภาษีจาก 20% เป็น 40% ไปอีก 1 ปี คือจากที่จะต้องขึ้นภาษีในวันที่ 1 ต.ค.63 เป็น 1 ต.ค.64

ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องของการขึ้นภาษีบุหรี่ และยาเส้น อาจเป็นเพียงส่วนน้อยของกระแสสังคม หากนับว่าเราเป็นสิงห์อมควัน ผู้สูบบุหรี่ เพราะเราอาจต้องซื้อในราคาที่แพลงขึ้นจากซองละ 60 เป็น 100 บาท

แต่เชื่อหรือไม่ว่ามันกระทบต่อหลายฝ่าย ขมวดเป็นปมหนึ่งที่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้บริหารประเทศก็ไม่ควรมองข้าม เพราะมันเกี่ยวพันถึงสุขภาพของคนไทย เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

“ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เคยกล่าวไว้ใน “การประชุมแนวทางนโยบายภาษียาสูบต่อการควบคุมยาสูบสำหรับประเทศไทย” เมื่อวันที่ 28 ก.พ.63 ว่า ‘ยาสูบ’ เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมไม่ใช่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรี เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยข้อดีของการขึ้นภาษียาสูบจะส่งผลให้ผู้ที่สูบยาสูบเลิกสูบ ลดปริมาณการใช้ยาสูบในกลุ่มผู้ที่ยังสูบอยู่ และป้องกันการเข้าถึงของนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งผลการศึกษาของธนาคารโลก พบว่า การเพิ่มภาษียาสูบให้ราคายาสูบสูงขึ้น 10% จะลดการบริโภคยาสูบลงถึง 4% ในประเทศที่มีรายได้สูง และลดลง 8% ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง

ขณะเดียวกันการไม่ปรับอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา (2562) ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีสรรพสามิตยาสูบเกือบ 4,000 ล้านบาท และจากภาษีอื่นๆ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีมหาดไทย ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ รวมกว่า 1,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ จะต้องปรับภาษียาเส้นให้ใกล้เคียงกับภาษีบุหรี่ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันผู้บริโภคที่อาจหันไปซื้อ “ยาเส้น” แทนหากบุหรี่ปรับขึ้นราคา ตามหลักสากลที่ว่า สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในลักษณะเดียวกันต้องเก็บภาษีเท่ากัน เพื่อลดการบริโภคสินค้าทดแทนที่เสียภาษีถูกกว่าหรือไม่เสียภาษี

นี่คือข้อคิดเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่เป็นร้อยละ 40 ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ และการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาล

ขณะที่ฝ่ายซึ่งไม่เห็นด้วยหากจะมีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ กลุ่มที่เราเห็นภาพชัดเจน คือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ โดย “สุธี ชวชาติ” นายกสมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบ จ.ลำปาง และตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นผ่าน Thaiquote ภายหลังที่มีการชะลอเวลาขึ้นภาษีบุหรี่ต่อไปอีก 1 ปี

“แม้มันจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน แต่ก็ช่วยต่อลมหายใจให้กับชาวไร่ยาสูบได้อีกช่วงเวลาหนึ่ง วันนี้เราจึงต้องมองว่าการแก้ไขอย่างยั่งยืนนั้นจะทำอย่างไร ก็อยากฝากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้ช่วยแก้ไขปัญหานี้ เพราะมันคืออาชีพของคนกลุ่มหนึ่งที่ทำมาหากินและมีวิถีชีวิตอย่างนี้มาเป็นร้อยปีแล้ว” สุธี เริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยการมองการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ย้อนกลับไปถึงข้อเรียกร้องของชาวไร่ยาสูบที่ผ่านมา การขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2560 ทำให้ชาวไร่ยาสูบได้รับผลกระทบ เพราะรายได้รวมของชาวไร่ยาสูบหายไปเกือบ 230 ล้านบาท ในฤดูกาลปลูกปี 2561/2562 จากการถูกลดโควตาการรับซื้อใบยาลงเฉลี่ย 50% ส่งผลต่อเนื่องให้การจ้างงานในท้องถิ่นลดลงตามไปด้วยเป็นลูกโซ่ สะเทือนถึงเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่ปลูกยาสูบ

“ 3 ปีที่แล้ว การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) มีกำไร แต่วันนี้กำไรลดลงร่วม 90% จนเกือบขาดทุน ทั้งยังคาดการณ์ว่า ถ้าขึ้นภาษีเป็น 40% ยอดขายของ ยสท. อาจลดลง 40-50% ในปีหน้า และอาจต้องงดรับซื้อใบยา เพราะสต็อกคงพอใช้ไปอีก 2-5 ปี วันนี้สมาชิกเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ ลดลงจากกว่า 5 ครัวเรือนเหลืออยู่ 2.6 หมื่นครัวเรือน รายได้ลดหายไป 50% หรือเปรียบเทียบตัวเลขง่ายๆคือรายได้จาก 1 แสนบาท ปัจจุบันเหลือ 50,000 บาทต่อฤดูกาล ในสัดส่วนที่ปัจจุบันหากนับ จำนวนการปลูกครัวเรือนละ 4 ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้อยู่ที่ 50,000-60,000 บาทต่อฤดูกาล ซึ่งหากลดไปกว่านี้เราอยู่ไม่ได้แล้ว” สุธี แจกแจงถึงรายได้ที่ลดลงซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ โดยตรง

จำนวนของเกษตรกรที่หายไปเกือบครึ่ง เพราะยอมจำนนต่อจำนวนโควต้าการรับซื้อใบยาสูบที่ลดลง หันกลับไปสู่การทำเกษตรกรรมอย่างอื่นเป็นอาชีพหลักแทน เช่น การปลูกข้าว และข้าวโพด ซึ่งก็อยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นเดียวกัน

ดังนั้นต่อจากนี้ สุธี บอกกับเราว่า จะต้องหารือร่วมกันระหว่างเกษตรกร หน่วยงานรัฐ ซึ่งขณะนี้ยังคงมืดแปดด้าน ที่จะหาพืชอื่นๆหาทดแทนอย่างยั่งยืน และมีรายได้ที่เทียบเท่ากับ การปลูกใบยาสูบ

“กลุ่มชาวไร่ยาสูบเอง พร้อมจะเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีชนิดพืชที่จะมาทดแทน โดยทำให้เรามีรายได้เท่ากับการปลูกหาสูบ ซึ่งผมเชื่อว่ากระทรวงเกษตรฯเองก็ให้คำตอบเรื่องนี้ไม่ได้ ที่สำคัญการส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนแน่นอนว่าจะต้องหาตลาดให้กับเราด้วย” นี่คือประเด็นที่ “สุธี” มองว่ารัฐบาลยังไม่มีทางออกให้กับเกษตรกร ซึ่งหากมีพืชทดแทนได้จริงพวกเขาพร้อมขยับ

กระแสปัญหาของชาวไร่ยาสูบ เหมือนจะดังไปถึงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พรรณสิริ กลุนาถศิริ ได้หยิบยก เอาข้อเสนอให้นำพืช “กัญชง” มาปลูกเป็นพืชทดแทนใบยาสูบ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส .สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ มในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาพืชกัญชง มาหารือที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย “สุธี” มองเรื่องดังกล่าวว่า ถือเป็นทางเลือกที่ดี

“มันเรื่องที่ดีนะ ผมว่ามันเป็นความฝันที่ทุกคนอยากได้ แต่มันจำเป็นต้องมีการปลดล็อกก่อน แล้วต้องอย่าลืมว่า ปลูกได้แล้ว จะขายใคร ที่ผ่านมา ยสท.เองก็มีทดลองปลูกแต่ก็ต้องหยุดไปเพราะกฎระเบียบ ซึ่งหากสามารถนำกลับมาได้ เราก็มีความหวัง ซึ่งหากมีการอนุญาต หาตลาดให้เรา เราพร้อมที่จะเริ่มต้นได้ทันที หากรัฐบาลเปิดล็อกให้เรา ทำอย่างจริงจัง เราเชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ” “สุธี” กล่าวกับเราในตอนท้ายถึงความหวังของการปลดล็อกกัญชง และทำให้ชาวไร่ยาสูบ กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ถอดปม “VAT อี-เซอร์วิส” ไม้ตายรัฐเก็บภาษี Netflix แต่ภาระอาจมาอยู่ที่คนไทย

ผู้ว่าฯ เมืองลิง จับมือเพื่อน รวมเงินกว่า 3 แสน ไถ่เครื่องมือทำกินให้ชาวบ้านทั้งจังหวัด