“ธปท.” แจงยิบ! ปม หนี้สินแบงก์ชาติ 6 ล้านล้านบาท “ไม่ใช่หนี้สาธารณะ”

by ThaiQuote, 13 มิถุนายน 2563

ธปท. ชี้แจง ปมความเข้าใจผิดเรื่องหนี้สินของ ธปท. 6 ล้านล้านบาท ไม่ใช่เป็นหนี้สาธารณะที่จะเป็นภาระต่อผู้เสียภาษี เป็นหนี้สินในงบการเงินของ ธปท. และไม่เป็นภาระต่อฐานะการคลังของประเทศ

วันนี้ (13 มิ.ย.) จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา ตีพิมพ์ประกาศศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานฐานะการเงินประจําสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสํารองเงินตรา และกิจการธนบัตร เพื่ออนุวัติตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศรายงานฐานะการเงินประจําสัปดาห์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ทุนสํารองเงินตรา และกิจการธนบัตร งวดประจําสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ.2563 และงวดประจําสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2563 ลงนามโดย นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง ปฏิบัติราชการแทน รมว.คลัง

โดยพบว่ามีเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ สื่อยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ พาดหัวข่าว "ราชกิจจาฯ รายงาน ฐานะการเงินไทย หนี้สินประเทศ กว่า 6 ล้านล้าน!" โดยได้หยิบยก "หนี้สินอื่น" ณ วันที่ 2 เมษายน 2563 จำนวน 6,121,535,239,685 บาท และวันที่ 9 เมษายน 2563 จำนวน 6,131,743,833,754 บาท ก่อให้เกิดกระแสโซเชียลโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำนองว่าบริหารประเทศล่มจม เอาแต่แจกเงินประชาชนถ้วนหน้าจนเป็นหนี้สินจำนวนมาก

ล่าสุด นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์การ ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ตามที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ มูลค่า 6 ล้านล่านบาท เป็นหนี้สาธารณะ ที่จะเป็นภาระต่อผู้เสียภาษีในระยะต่อไปนั้น ขอชี้แจงว่าเป็นการแสดงรายการงบการเงินของแบงก์ชาติ จากการดำเนินงานตามภารกิจของธนาคารกลาง เพื่อบริหารสภาพคล่องในระบบการเงิน

"รายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงินของแบงก์ชาติที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารกลาง เช่น เมื่อระบบการเงินมีสภาพคล่องส่วนเกิน แบงก์ชาติจะออกตราสารหนี้ เพื่อดูดซับสภาพคล่องเข้ามาเก็บไว้ที่แบงก์ชาติ ในทางตรงกันข้ามหากระบบการเงินต้องการสภาพคล่อง แบงก์ชาติก็จะลดยอดการออกตราสารหนี้เพื่อปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลในตลาดการเงิน โดยสินทรัพย์และหนี้สินดังกล่าวเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินตามบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ โดยเฉพาะการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศในช่วงที่มีเงินทุนไหลเข้ามาจำนวนมาก

ดังนั้น หนี้สินที่ปรากฏจะมีรายการคู่ขนานที่เป็นด้านสินทรัพย์ที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศอยู่ด้วย หนี้สินในงบการเงินของแบงก์ชาติ เช่นเดียวกับธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ไม่ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะ ไม่เป็นภาระต่อฐานะการคลังของประเทศ แต่เกิดจากการดำเนินงานตามภารกิจของธนาคารกลาง ที่สะท้อนกิจกรรมในการบริหารสภาพคล่องในระบบการเงิน" นางจันทวรรณ ระบุ

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกอินโฟกราฟฟิกให้ความรู้ว่า ทำไมตามมาตรฐานสากล หนี้ของธนาคารกลางจึงไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ระบุว่า การทำการกิจของธนาคารกลาง ไม่ว่าการออกพันธบัตรเพื่อดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินให้เหมาะสม การพิมพ์ธนบัตรออกใช้ หรือการรับฝากเงินจากธนาคารพาณิชย์ ทำให้หนี้สินของธนาคารกลางเพิ่มขึ้น ในขณะที่สินทรัพย์ในรูปของเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือสินทรัพย์อื่นๆ (Counterpart Assets) ก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น หนี้ของธนาคารกลาง จึงไม่สร้างภาระให้รัฐบาลในการชำระหนี้ เนื่องจากมีสินทรัพย์หนุนหลัง อีกทั้งสินทรัพย์ของธนาคารกลางก็มิใช่สินทรัพย์ของรัฐบาล ปัจจุบันเกือบทุกประเทศในโลก ไม่นับรวมหนี้ของธนาคารกลางเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งในกรณีของประเทศไทย พ.ร.บ.หนี้สาธารณะที่ผ่านมา ก็ไม่นับหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ

 

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ