ถามตรง ๆ กับนักรัฐศาสตร์ “งบเลือกตั้งท้องถิ่น” แค่ 3 วัน จากไม่มี ถึง “มีครับ” รัฐเล่นเกมอะไร?

by ThaiQuote, 18 มิถุนายน 2563

มันยังไงกันแน่? ถามตรงๆ กับนักรัฐศาสตร์ “งบเลือกตั้งท้องถิ่น” แค่ 3 วัน จากไม่มี ถึง “มีครับ” รัฐบาลกำลังเล่นเกมอะไร

โดย...กองบรรณาธิการ ThaiQuote

สืบเนื่องจากกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมายอมรับว่า “งบประมาณที่เตรียมไว้ใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19”

เสียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สวนกลับทันทีเพื่อความชัดเจนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า “จะมีการเลือกตั้งสักอย่างในปีนี้แน่ แต่ขอให้รอเวลาก่อน"

ก่อนที่ต่อมาจะเป็นฝั่งกกต. ที่ออกมาบอกว่ามีงบ 800 ล้านบาทรออยู่หากจะเลือกตั้งท้องถิ่นกัน

และคล้อยหลังเพียง 3 วันหลังจากที่วิษณุ เครืองาม บอกว่าไม่มีงบ ก็มาถึงการยอมรับว่างบนั้น “มีครับ”

สิ่งที่ตามมาจึงประเด็นร้อนระอุ ที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วฟ้าเมืองไทย กำลังรอคำตอบจากผู้มีอำนาจว่าที่สุดแล้วจะจัดการเลือกตั้งขึ้นเมื่อใด และเหตุใดเหตุผลจากส่วนกลางมันจึงย้อนแย้งและวกวนไปมาจนทำให้สับสน


วันนี้ทีมงาน ThaiQuote ได้มีโอกาสกลับมาพูดคุยกับ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อีกครั้ง การวิเคราะห์เจาะลึกถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังเป็นประเด็นร้อนระอุ ที่ไม่เกิดขึ้นสักที เลื่อนแล้วเลื่อนอีก จน ท่านรองฯ วิษณุ เครืองาม ออกมาบอกว่า

“งบประมาณที่เตรียมไว้ใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ถูกดึงไปช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 หมดแล้ว” จนบิ๊กตู่ ต้องออกมาแก้ทันควันว่า “ถ้าไม่ติดอะไร จะมีการเลือกตั้งสักอย่างในปีนี้แน่ แต่ขอให้รอเวลาก่อน"

โดย อ.ยุทธพร บอกกับเราว่า เรื่องนี้รัฐบาลพยายามจะเช็กกระแสสังคม ถ้าการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกเลื่อนออกไปประชาชนจะมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างไร เพราะว่าก่อนหน้านี้เราจะเห็นได้เลยว่า กระแสการเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นไปอย่างกว้างขวาง เพราะตั้งแต่สมัยยุครัฐบาลคสช. เข้ามาจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกเลย ดังนั้นคนที่อยู่ในท้องถิ่นเอง วันนี้ก็ครบวาระ กันถ้วนหน้าหมดแล้ว ซึ่งก็สะท้อนภาพว่าเป็นสิ่งที่นักการเมืองท้องถิ่นรอคอย จะได้เห็นการเลือกตั้งท้องถิ่นเร็วๆ นี้ ทำให้มีกระแสตรงนี้เกิดขึ้น


อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า การจะเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปีนี้มีโอกาส 50/50 เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีผลกับการเมืองระดับชาติ เพราะว่านักการเมืองท้องถิ่นจะไม่เหมือนกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพราะคนเหล่านี้ อย่างน้อยก็มีสายเกาะเกี่ยวกับข้าราชการส่วนภูมิภาค ถึงแม้ว่าคนเหล่านี้จะไม่ใช่ข้าราชการโดยตรง แต่ก็เป็นผู้ช่วยของนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ

ดังนั้นการที่จะเกาะเกี่ยวกับกลไกรัฐมากกว่า ดังนั้นการควบคุมสั่งการจะทำได้ง่ายกว่านักการเมืองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ที่การกำกับควบคุมดูแลไม่ใช่เรื่องง่าย

ซึ่งหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่ ก็อาจจะมีการขยับขับเคลื่อนในส่วนของกลุ่มการเมืองท้องถิ่นหรือการมีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองบางพรรคหรือว่ามีสายสัมพันธ์กับคนทางการเมืองบางส่วนในท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการเมืองระดับชาติ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการเลือกตั้งการ เมืองในท้องถิ่นที่ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก อย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้

วันนี้ถ้าถามว่า รัฐบาลมีความพร้อมในการบริหารจัดการเลือกตั้งหรือไม่ ยืนยันว่า มีเพียงพอและพร้อมแล้ว กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับก็ออกมาเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมในส่วนอื่นๆ เช่นการมีการมีคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนของท้องถิ่นต่าง ๆ ก็จะเป็นกลไกใหม่ที่จะทำให้การเมืองท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมกับ กกต. ในการบริหารจัดการ เลือกตั้ง ดังนั้นถ้าจะพิจารณาเรื่องของความพร้อมผมคิดว่า เขาพร้อมทั้งหมดอยู่แล้ว เหลือเพียงแค่ว่าจะได้รับสัญญาณไฟเขียวจากรัฐบาลให้มีการจัดการเลือกตั้งได้เมื่อไหร่เท่านั้นเอง

ส่วนเรื่องที่มีหลายฝ่ายออกมาพูดว่ารัฐบาลกำลังยื้ออำนาจหรือซื้อเวลา อ.ยุทธพร มองว่า “ก็ไม่ผิดถ้าจะบอกว่ารัฐบาลพยายามจะยื้อเวลาสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองระดับชาติในหลาย ๆ ส่วน เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นคือฐานสำคัญของการเมืองระดับชาติ

และเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมผ่านกลไกของระบบราชการได้ อย่างเข้มข้นมากนัก เมื่อเป็นเช่นนี้แน่นอนว่าความพร้อมของพรรคแกนหลัก อย่างพรรคพลังประชารัฐต้องอยู่ในสภาวะความพร้อมเสียก่อนที่จะลงสู้ศึกในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ แต่ถ้าตรงนี้ยังไม่พร้อม เราก็จะไม่เห็นการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงเวลานี้แน่นอน”

ขณะเดียวกัน ก็มีหลายคนออกมาแสดงความกังวลว่า ถ้าจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงเวลานี้ อาจมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ อ.ยุทธพร กล่าวว่า จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ถ้าเราสามารถ บริหารการเลือกตั้งให้ดี ไม่ว่าจะเป็นกกต.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงครั้งนี้จะมีกลไกใหม่ อย่างคณะกรรมการ การเลือกตั้งประจำองค์กรส่วนท้องถิ่นด้วย ถ้าใช้กลไกเหล่านี้ในการขับเคลื่อนให้ดีคิดว่าโอกาสที่ทำให้เกิดประเด็นต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก

ในขณะที่วันนี้อย่าลืมว่า การติดเชื้อภายในประเทศก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นระยะกว่า 20 วันมาแล้ว ที่เราไม่มีการติดเชื้อในประเทศเพิ่มอีก จึงไม่น่ากังวล ตราบใดที่เรายังไม่ได้เปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนที่มาจากต่างประเทศ เข้ามาโดยไร้การควบคุม คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเลือกตั้งท้องถิ่น อ.ยุทธพร มองว่า จริง ๆ แล้วควรจะเกิดขึ้นภายในปีนี้เพราะว่าวันนี้องค์กรส่วนท้องถิ่นต้องบอกว่าทุกแห่งในประเทศไทยล้วนแต่ครบวาระด้วยกันหมดแล้วทั้งสิ้น ที่ยังทำงานอยู่ได้ก็ เป็นการรักษาการ หรือบางพื้นที่ก็จะใช้การสรรหา ซึ่งก็จะทำให้การใช้อำนาจหน้าที่ในบางเรื่องตามกฎหมายทำไม่ได้ และนอกจากนี้การขับเคลื่อนนโยบายหลายอย่างที่จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนก็ทำได้ยาก

ยิ่งในวันนี้ มีเรื่องของงบประมาณจาก พ.ร.ก.ต่าง ๆ ยื่นผ่านสภาลงสู่พื้นที่ไปแล้วด้วย จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้อย่างจริงจัง จึงเห็นว่าควรมีการเลือกตั้งในปีนี้ เพราะถ้าช้าไปกว่านี้ กลไกเหล่านี้ก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนหรือแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้

ส่วนด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมากลับลำ ว่ามีงบเพียงพอแล้ว ก่อนที่จะมีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมา ตอกย้ำความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งได้มีการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งอบจ.กลุ่มแรก 19 จังหวัด อาทิ กระบี่ , ชัยนาท , ชุมพร , ตรัง , ตราด , นครปฐม , ปราจีนบุรี , ปัตตานี , พระนครศรีอยุธยา , และสุราษฎร์ธานี

สุดท้ายก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะออกมารูปแบบใด และช่วงเวลาใด เพื่อยืนยันความจริงใจในความตั้งใจของรัฐบาล ที่จะให้การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ตามคำพูด “บิ๊กตู่” ที่ลั่นวาจาไว้

 

เรื่องที่น่าสนใจ

เลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ใกล้คลอด จุดกระแสเลือกตั้งท้องถิ่นตามมาแน่นอน

ญี่ปุ่นขยายข้อตกลง AJCEP เปิดช่องให้ไทยตั้งธุรกิจ “บริการ” แบบ 100%