New Normal การเกษตรพื้นที่ EEC ยกระดับรายได้เทียบเท่าอุตสาหกรรม

by ThaiQuote, 22 มิถุนายน 2563

ที่ประชุม EEC ตอบรับแนวคิดนายกรัฐมนตรี ปรับเปลี่ยนเข้าสู่ New Normal มุ่งยกระดับรายได้เกษตกรเทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมและการบริการ เล็งผ่อนปรนการเดินทางเข้าพื้นที่หลังโควิด-19 คลี่คลาย

วันที่ 22 มิ.ย.63 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2563 โดยที่ประชุมรับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC พร้อมรับนโยบายนายกรัฐมนตรี ในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรรูปแบบใหม่ New Normal ด้วยข้อมูลและนวัตกรรม รองรับการปลูกพืชเกษตรที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศและใช้หลักการตลาดนำการผลิต มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีคาดหวังว่าการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี จะเป็นต้นแบบ เน้นความสำคัญในการจัดสรรพื้นที่ที่ดี ด้วยวิธีการเกษตรสมัยใหม่แบบ new normal โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ เทคโนโลยี วิเคราะห์ ประเมินสภาพภูมิอากาศ น้ำ ดิน จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับพืชเศรษฐกิจในแต่ละประเภท ด้วยการจัดกลุ่มเกษตรกร การจัดทำโซนนิ่ง โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งน้ำทั้งการเกษตร การเพาะปลูกพืชต้องเน้นความต้องการของตลาดนำการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การผลิต การเก็บรักษารวมถึงการแปรรูป ขยายช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ ทั่วโลก ด้วย e-commerce รวมทั้งให้ความสำคัญด้านคุณภาพสินค้าและสุขอนามัยอาหารซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ

ทั้งนี้ ที่ประชุม กพอ. รับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี มีเป้าหมายเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ทัดเทียมกับกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ โดยให้ความสำคัญกับเกษตร 5 คลัสเตอร์ที่มีพื้นฐาน ทำได้ทันที ได้แก่ ผลไม้ – พืช Bio-Based3 - ประมง - สมุนไพร - พืชมูลค่าสูง (เช่น ไม้ประดับ/ผักปลอดสารพิษ) พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ โดยรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการจัดทำแผนเกษตรเชิงพื้นที่ต่อไป

โอกาสนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี หลังคลายล็อกดาว์นเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในไทยและต่างประเทศคลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะมีบุคลากรภาคธุรกิจทั้งในระดับผู้บริหารและแรงงานชั้นสูง ที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่อีอีซี

โดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อกำหนดกรอบแนวทางผ่อนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด อาทิ การตรวจคัดกรองก่อนการเดินทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย การออกใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางทางอากาศ (Fit to Fly) การจัดทำประกันด้านสุขภาพ รวมทั้งยังคงต้องมีการกักกันตัวเพื่อเฝ้าระวังอาการ Quarantine ด้วย ซึ่งจะได้มีการหารือแนวทางการขึ้นทะเบียนสถานที่และการบริการ Alternative State Quarantine เพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซีอีกด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศในพื้นที่อีอีซีอย่างละเอียด ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ทราบ มีรูปแบบหรือแพลตฟอร์มในการติดตาม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขทั้งผู้ที่เดินทางเข้าและประชาชนภายในประเทศเป็นสำคัญ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

"อุตตม" สั่งลุยแผนพัฒนาการเกษตรใน"อีอีซี" เน้น 5 คลัสเตอร์ ยกระดับรายได้เกษตรกร

อินเดียขายยา “ฟาวิพิราเวียร์” รักษาโควิด-19 แค่เม็ดละ 44 บาท