พร้อมรับนักท่องเที่ยว! ทะเลปัตตานี-นราธิวาส “ปะการัง” สมบูรณ์สวยงาม

by ThaiQuote, 28 มิถุนายน 2563

ทะเลไทยพร้อมรับนักท่องเที่ยว หลังฟื้นตัวช่วงโควิด-19 กรมทรัพยากรชายฝั่ง เผยภาพ ทะเลปัตตานี นราธิวาส ปะการังสมบูรณ์ งดงาม

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มดีขึ้น ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในต่อเนื่องกันนานเกิน 1 เดือน พร้อมกับมาตรการผ่อนปรนทำให้ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในแบบปกติได้มากขึ้น

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาคึกคัก ธุรกิจและสถานที่ต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการ และสำหรับมาตรการผ่อนปรนเฟส 5 ในวันที่ 1 ก.ค.63 ที่จะถึงนี้ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ คืออุทยานแห่งชาติทั่วประเทศจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปเที่ยวชมได้อีกครั้ง

โดยช่วงที่อุทยานฯ ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ปิดทำการกว่า 3 เดือน ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว หลายแห่งมีรายงานพบสัตว์ป่าหายาก เช่นที่เขาใหญ่ รวมทั้งอุทยานฯ ทางทะเลที่สัตว์น้ำหายากโผล่มาอวดโฉมจำนวนมาก ตลอดจนใต้ผืนน้ำอย่างปะการังก็กลับมาสมบูรณ์งดงาม

ล่าสุด “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” ได้รายงานว่า ศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนล่าง ได้สำรวจประเมินสถานภาพปะการัง โดยวิธี Line intercept transect 4 สถานี เกาะเล่าปี่ และกองหินเล่าปี่ จ.ปัตตานี กองหินบราแว และกองหินการังเล้า จ.นราธิวาส

โดยผลการสำรวจพบการปกคลุมของปะการังของแต่ละพื้นที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลางถึงสมบูรณ์ดี ชนิดปะการังเด่น ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังลายดอกไม้แบบแผ่นตั้งยืน (Pavona decussata) ปะการังช่องเล็กแบบเคลือบ (Montipora sp.) ปะการังลายดอกไม้แบบเคลือบ (Pavona varians) ปะการังโขดผิวยู่ยี่แบบเคลือบ (Porites rus) ปะการังลายดอกไม้แบบเคลือบ (Pavona decussata) ปะการังดาวเล็ก (Cyphastrea serailis) ปะการังดาวเล็กช่องเหลี่ยม (Leptastrea pruinosa)

และสิ่งมีชีวิตหน้าดินอื่น ๆ ได้แก่ ฟองน้ำ (Sponges) กัลปังหา (Sea fan) ดอกไม้ทะเล (sea anemone) ความลึกน้ำทะเล 20-23 เมตร อุณหภูมิ 30 องศาเซนเซียส ความเค็ม 30 ppt ปลาที่พบได้มากคือปลากล้วยแถบเหลือง (Pterocaesio chrysozona) ปลาสลิดหินหางขลิบดำ (Chromis tematensis) ปลาสลิดหินหางพริ้วธรรมดา (Neopomacentrus cyanomos) ส่วนกลุ่มสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่พบได้มากที่สุดคือ กลุ่มปลิงสร้อยไข่มุก (Synapta maculata)

 

 

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ