กรมสุขภาพจิต จับมือ สพฐ. เปิดตัวแอปฯ “Hero” คัดกรองสุขภาพจิตเด็ก

by ThaiQuote, 29 มิถุนายน 2563

ห่วงจิตใจเด็ก!! กรมสุขภาพจิต จับมือ สพฐ. เปิดตัวแอปพลิเคชัน “Hero” เครื่องมือช่วยครูสังกัด สพฐ. ใช้คัดกรอง ดูแล ช่วยเหลือสุขภาพจิตเด็กนักเรียน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้มีการลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการเฝ้าระวังเด็กวัยเรียนด้านสุขภาพจิต ทั้งนี้ ในยามปกติมีข้อมูล พบว่าเด็กไทย 20 % มีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคม แม้ไม่ใช่การป่วยจิตเวช แต่มีความเครียดซึ่งนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า เจ็บป่วยทางจิตใจ

และเมื่อมีสถานการณ์โรควิด-19 จากมาตรการและการต้องปรับตัวต่างๆ ย่อมจะส่งผลให้เกิดความเครียดทั้งโดยตรงกับตัวเด็กที่อาจต้องอยู่บ้างลำพังช่วงที่ผ่านมา เกิดความสับสนกับความเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีผู้ดูแลแนะนำ หรือเป็นอิทธิพลความเครียดของผู้ปกครองมาถึงตัวเด็ก เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพจิตเด็กวัยเรียนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพขี้น

กรมสุขภาพจิตจึงพัฒนาแบบสังเกต 9S เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพได้ครอบคลุมโดยตอบคำถามเพียง 9 ข้อ จากเดิมที่ใช้แบบคัดกรอง SDQ ต้องต้องตอบคำถามถึง 25 ข้อ ซึ่งได้นำร่องคัดครองนักเรียนชั้น ม.1 ใน 13 พื้นที่เสี่ยงไปพบว่าแบบสังเกต 9S ให้ผลดีกว่าเป็นเท่าตัว ช่วยให้เด็กเข้าถึงการดูแลอย่างถูกต้องมากขึ้น ได้รับการช่วยเหลือดูแลทันทีโดยไม่เสียค่าใช่จ่าย ไม่ต้องเสียเวลาไป รพ. สภาพจิตดีขึ้นและลดการส่งต่อ ได้ถึง 70%

จึงเสนอให้ สพฐ. นำแบบสังเกตนี้ไปใช้กับนักเรียนทุกคน โดยกรมสุขภาพจิตอำนวยความสะดวกการใช้โดยพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน “Hero” ให้ครูนำไปใช้ คัดกรอง เรียนรู้เทคนิคการดูแลสุขภาจิตเด็กเพิ่มเติม หรือแม้แต้ปรึกษา ส่งต่อหากเกินรับมือ กรมสุขภาพจิตเองได้เตรียมทีมสุขภาพติตไว้แล้วในทุกอำเภอ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างครูกับหมอด้วย Digital platform

ด้านนายสนิท แย้มเกสร รองเลขาธิการ สพฐ กล่าวว่า สพฐ.ดูแลโรงเรียนกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ ครูกว่า 4 แสนคน นักเรียนกว่า 6.7 ล้านคน ในเรื่องมาตรการความปลอดภัยสุขภาพกายนั้น โรงเรียนทุกแห่งที่ สพฐ.ดูแลได้เตรียมพร้อมและผ่านการประเมินตนเองตามาตรฐานความปลอดภัยที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้ว ขณะนี้ รร.จะเปิดเทอม 1 กรกฎาคมนี้ได้ 100% แต่รูปแบบการเรียนอาจจะเปลี่ยนไป สิ่งที่ห่วงคือ ในพื้นที่เด็กอาจไม่ได้รับดูแลด้านจิตใจ

สพฐ. ทั้ง 225 เขตพื้นที่ จึงพัฒนาให้มีนักจิตวิทยาดูแลในพื้นที่ พร้อมสร้างนักจิตวิทยาในโรงเรียนเพิ่มเติมเพื่อเป็นเครือข่ายดูแล ซึ่งความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิตวันนี้ จะช่วยให้การคัดกรอง ละเอียดและครอบคลุมได้มากขึ้น



ข่าวที่น่าสนใจ