“จิตสำนึกของคนขับรถ” คำขอจากผู้พิทักษ์ป่าเขาใหญ่ ในวันเปิดอุทยานฯแต่ต้องเจอ "เจ้าบ้าน" ตาย

by ThaiQuote, 14 กรกฎาคม 2563

ภาพของแม่ลิงกัง กำลังอุ้มลูกลิงที่ถูกรถชนมาวางไว้ข้างถนน ก่อนจะนำซากของลูกลิงเข้าป่าหายไป ในวันที่ 1 ก.ค.63 ซึ่งเป็นวันเปิดอุทยานแหง่ชาติเขาใหญ่วันแรก หลังปิดล็อกดาวน์จากไวรัสโควิด19 กลายเป็นภาพที่บีบหัวใจของคนไทยหลาย ๆ คน จนเกิดกระแสการรณรงค์จิตสำนึกให้ใส่ใจ เรื่องของการขับรถท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่เคสแรก ของสัตว์ป่า ที่ต้องมาประสบอุบัติเหตุและตายด้วยน้ำมือมนุษย์

ThaiQuote ได้คุยกับ “ญาณวุฒิ แสงวงศ์” ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สะท้อนข้อมูลกลับมาว่า สถิติของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่าบนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในแต่ละปีมีประมาณ 1% หรือเปรียบเทียบง่าย ๆ จะเกิดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่า ประมาณ 30 ครั้งใน 1 ปี และถือว่าเป็นตัวเลขที่มากพอสมควร

ที่น่าสนใจคือเราพบด้วยว่า สัตว์ส่วนใหญ่ที่ประสบอุบัติเหตุ เป็นสัตว์เล็ก เช่น กระรอก เป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ ลิง ส่วนสัตว์ใหญ่ที่พบเป็นประเภทของกวางป่า

ด้วยความที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นพื้นที่ซึ่งมี ถนนสาย 304 ตัดผ่านระหว่างพื้นที่ เขาใหญ่-ทับลาน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “สัตว์ป่า" ซึ่งอาศัยถนนสายดังกล่าวข้ามไปมาระหว่างพื้นที่ป่า ขณะทีอีกด้านก็ถือเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยว โดยในช่วงเปิดอุทยานที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวเต็มจำนวนที่จำกัดไว้ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 คือ บริเวณลานกางเต๊นท์ ลำตะคอง ประมาณ 800 คน และลานกางเต๊นท์ผากล้วยไม้ จำนวน 300 คน โดยข้อมูลนี้ยังไม่นับรวมกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งไป-กลับ ภายในวันเดียว


“ธรรมชาติของสัตว์ป่า ที่มีความไม่คุ้นชินกับคน เสียงรถยนต์ แน่นอนว่าในการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง อาจเกิดขึ้นจากกรณีการวิ่งตัดหน้ารถยนต์ แม้รถยนต์ที่ไม่ได้ใช้ความเร็วเกินขีดจำกัด เราก็มีการรณรงค์มาโดยตลอด ขอให้นักท่องเที่ยว หรือประชาชนให้ขับรถด้วยความเร็วจำกัดที่ 60 กม.ต่อชั่วโมง”

เรื่องของการรณรงค์ ที่อยากให้เป็นข้อปฏิบัติของนักท่องเที่ยว ซึ่งขับรถบนอุทยานแหง่ชาติเขาใหญ่ คือ 1.ขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม. ต่อชั่วโมง 2.ติดป้ายรณรงค์ในระหว่างทาง 3.การทำลูกระนาด เพื่อให้รถได้ชะลอความเร็วในบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง

นอกจากนั้นยังมีการรณรงค์โดยกลุ่มจิตอาสา เช่น กลุ่มใบไม้ และกลุ่ม 4 ม. โดย 4 ม. ที่ว่านั้นคือ 1. ไม่ขับรถเร็ว 2. ไม่ส่งเสียงดัง 3. ไม่ทิ้งขยะ 4.ไม่ให้อาหารสัตว์ป่า ซึ่งเป็นการรณรงค์ในช่วงเทศกาล

สิ่งที่ “ญาณวุฒิ” ได้กล่าวทิ้งท้าย ในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าและสัตว์ป่าคนหนึ่ง ด้วยความเชื่อที่ว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ล้วนมีจิตสำนึกหวงแหนต่อป่า สัตว์ป่า และทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ

“เรื่องของจิตสำนึก ผมขอแค่อย่าขับรถเร็ว ผมเชื่อประชาชนกว่าร้อยละ 60-70 มีความรับผิดชอบ และมีจิตสำนึกที่ดี ปฏิบัติตามการรณรงค์เรื่องการห้ามขับรถเร็ว โดยเฉพาะหลังจากเกิดกรณีที่ลูกลิงกังโดนรถชน ผมว่ากระแสตื่นตัวของประชาชนเพิ่มขึ้น ส่วนทางอุทยานฯเอง เราก็ได้เพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้น โดยเพิ่มเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้ามาดูแลบริเวณจุดเสี่ยง และลาดตระเวนในพื้นที่อื่น ๆ” ญาณวุฒิ แสงวงศ์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวทิ้งท้าย


เราไม่อาจบอกได้ว่า เหตุการณ์ลูกลิงที่ต้องตาย เพราะอุบัติเหตุที่กล่าวไปข้างต้นนั้น จะถือเป็นเหตุการณ์สุดท้าย แต่เราเชื่อว่า หลายคนไม่อยากเห็นภาพสลดใจดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แน่นอนว่าการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบ และจิตสำนึกของคนไทยทุกคน

 

ข่าวที่น่าสนใจ