บอร์ด สช. เดินหน้า ‘คุ้มครองเด็ก’ จากอี-สปอร์ต ไม่ต้านแต่ต้องมีกรอบ

by ThaiQuote, 17 กรกฎาคม 2563

“อี-สปอร์ต” โตต่อเนื่อง สธ.ไม่ปล่อย วางกรอบป้องกันภัยคุกคามเด็กไทย สร้างสมดุลให้เติบโตอย่างมีคุณภาพที่สุด


ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) รับทราบความคืบหน้าแผนปฏิบัติการ และร่างกฎหมายสร้างความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็ก ไฟเขียว! หนุนจัดสมัชชากรุงเทพมหานครครั้งแรกปลายปีนี้ และเตรียมออกประกาศยกระดับสมัชชาสุขภาพทุกจังหวัด หวังหยิบปัญหาของพื้นที่พัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของแต่ละจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนต่อ

วงประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องสำคัญ คือ รับทราบความคืบหน้าการดำเนินมาตรการป้องกันอันตรายต่อเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์โดยเฉพาะอีสปอร์ตตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ปี 2561 และเห็นชอบร่างประกาศสนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครขึ้นทุกปี

รวมทั้งจะหนุนยกระดับสมัชชาสุขภาพจังหวัดให้เป็นเวทีของประชาชนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันวิชาการ ภาคเอกชน และองค์กรประชาชนร่วมกันหยิบยกประเด็นปัญหาของพื้นที่ เพื่อหาผลสรุปร่วมกันเป็นฉันทามติหรือเป็นวาระร่วมของจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนให้เห็นผลสำเร็จเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

หลังประชุม นายอนุทิน ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องอีสปอร์ตเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมากขึ้นเมื่อคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ประกาศให้เป็นกีฬา และมีหน่วยงาน องค์กร สมาคม ชมรมส่งเสริมเรื่องนี้เกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนจึงเริ่มศึกษาประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ และผลกระทบด้านบวกและลบที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

และนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ปี 2561 จนเกิดเป็นมติ ‘ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก’ และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นายอนุทิน กล่าวต่อถึงรูปธรรมที่กำลังร่วมกันผลักดันว่า ขณะนี้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจำนวนมากยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการสร้างความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็ก ระยะที่ 1 พ.ศ.2563-2564

เป้าหมายสำคัญคือ ในปี 2563 ประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ อีสปอร์ตที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับเด็ก ในปี 2564 ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วนเกี่ยวกับอีสปอร์ต และในปี 2565 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีบรรทัดฐานในการดำเนินงานและการ ดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเติบโตของธุรกิจเกมออนไลน์

นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. เปิดเผยเพิ่มเติมถึงเรื่องอีสปอร์ตว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธานได้เห็นชอบให้มีมาตรการควบคุม และป้องกันอันตรายต่อเด็กและเยาวชนในการเล่นเกมและอีสปอร์ตโดยเร็วภายในหนึ่งปี และ สช. สสส. ได้ทำงานร่วมกับสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) รวมทั้งภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษาวิจัยและจัดทำ (ร่าง) กฎหมายการกำกับดูแลเกมและการประกอบกิจการเกมเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน พ.ศ. .... เพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจจากธุรกิจเกมอีสปอร์ตกับการคุ้มครองสุขภาวะของเด็กและเยาวชนเหมือนกับหลายประเทศที่ได้เดินหน้าเรื่องนี้ไปก่อนแล้ว ร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านการจัดเวทีรับความความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ไปแล้ว 2 ครั้ง และอยู่ในระหว่างเปิดกว้างฟังความเห็นของประชาชนและสังคม เพื่อปรับปรุงและเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป

สำหรับการเปลี่ยนแปลงในการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาเฉพาะพื้นที่นั้น นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. ได้เห็นชอบแก้ไขประกาศเน้นสนับสนุนให้มีการจัดและมีคณะกรรมการสนับสนุนจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) และคณะกรรมการสนับสนุนจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพจังหวัด (คจ.สจ.) มีองค์ประกอบมาจากภาคส่วนต่าง ๆ ภายในจังหวัด

“จากการสรุปบทเรียนและติดตามผลการดำเนินงานของการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ที่ผ่านมา พบว่า ในกรุงเทพมหานครไม่เคยมีการจัดสมัชชาสุขภาพเลย ต่างจากการจัดสมัชชาสุขภาพของแต่ละจังหวัดที่มีความหลากหลาย และมีหลายจังหวัดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีไม่มากนัก

ทำให้การขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้น มีข้อจำกัด ขาดพลังในการขับเคลื่อนให้เห็นผลลัพธ์ที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับกลไกการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร และของแต่ละจังหวัดขึ้นให้มีทุกภาคส่วนเข้าร่วมในลักษณะสานพลังเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามความพร้อมของแต่ละจังหวัด” เลขาธิการ คสช.กล่าว

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ