กรมอนามัย เตือน บริโภค “เห็ด” แปลก อาจเสี่ยงถึงชีวิต

by ThaiQuote, 18 กรกฎาคม 2563

ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประโยชน์ของ “เห็ด” ว่าเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ซึ่งประกอบด้วย ใยอาหาร โปตัสเซียมสูง โซเดียม และวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบีที่จะช่วยควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร รวมทั้งซีลีเนียม ทำหน้าที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโปตัสเซียม ที่ช่วยควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ปรับสมดุลของน้ำในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมการทำงานของธาตุเหล็ก

 

นอกจากนี้ เห็ดชนิดต่าง ๆ เช่น เห็ดหอมห็ดนางรม เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดแชมปิญอง เห็ดโคน เห็ดออรินจิและเห็ดเข็มทอง ยังประกอบด้วยโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) ที่จะทำงานร่วมกับแมคโครฟากจ์ (macrophage) ซึ่งทำหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย รวมถึงช่วยเสริมภูมิต้านทานที่ดี ซึ่งก่อนนำเห็ดมาปรุงประกอบอาหาร ต้องล้างน้ำให้สะอาดหลาย ๆ ครั้ง และปรุงให้สุกร้อนก่อนกินทุกครั้ง

แต่ในขณะเดียวกัน หากผู้บริโภค ไม่ทราบชนิดของเห็ด หรือไม่รู้จักชื่อ ก็อาจมีความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะเห็ดที่ขึ้นอยู่ในป่า โดยเฉพาะช่วงนี้ ซึ่งเป็นหน้าฝน เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติจึงมีชุกชุม ดังนั้นจึงควรระวังอันตรายจากเห็ดที่มีพิษ ซึ่งไม่ควรนำมารับประทาน

โดยข้อมูลจาก นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เผยว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปี มักพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิตที่พบได้บ่อยคือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้

ดังนั้นประชาชนควรหลีกเลี่ยงเห็ดที่มีลักษณะสีน้ำตาล เห็ดที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรู ๆ แทนที่จะเป็นช่อง ๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นในมูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ รวมทั้งไม่ควรเก็บหรือซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหาร หรือกินแบบดิบเด็ดขาด

 

ข่าวที่น่าสนใจ

กปน. รณรงค์ คนกรุง ใช้น้ำอย่างประหยัด เหตุน้ำในเขื่อนน้อยกว่าเกณฑ์

สทบ. ชวนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศร่วมอุดหนุน ลำไย เชียงใหม่