80 ปีประชาธิปไตย วังวนที่วนเวียนอยู่ในท่อนหนึ่งของบทเพลง“ขุนเขายะเยือก”

by ThaiQuote, 6 สิงหาคม 2563

โดย....กองบรรณาธิการ ThaiQuote

บทสนทนาที่ ThaiQuote ได้พูดคุยกับ “นิด ลายสือ” หรือ ร่มใจ สาวิกันต์ ศิลปินเพื่อชีวิต ผู้เป็นเจ้าของบทเพลง “ขุนเขายะเยือก” บทเพลงดังในอดีตที่สะท้อนชีวิตผู้คนบนห้วงเวลาทางการเมือง แต่ครั้งนี้ เราไปนั่งคุยถึงเหตุบ้านการเมืองในยุคปัจจุบัน และความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักศึกษา และเยาวชน ในวันที่ “ยุคกระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” ซึ่งดูเหมือนว่า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ที่มาซึ่งทำให้เราต้องร่วมพูดคุยกับ “นิด ลายสือ” ถึงประเด็นดังกล่าวนั้น เนื่องมาจากเนื้อหาในบทเพลง “ขุนเขายะเยือก”ที่ว่า “ยุคกระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม...” โดยเป็นสำนวนซึ่งปรากฎขึ้นครั้งแรกในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาว่า "ผู้มีศีลจะเสียอำนาจ......นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย...น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม"

นิด ลายสือ หรือ ร่มใจ สาวิกันต์


ประวัติของเพลง “ขุนเขายะเยือก” ดูจะไม่เคยปรากฎให้ได้รับรู้ในทางสังคม แต่บทสนทนากับ “ร่มใจ สาวิกันต์” หรือ “นิด ลายสือ” อาจจะช่วยทำให้ที่มาที่ไปของบทเพลงนี้เด่นชัดขึ้น

“ขุนเขายะเยือก” เพลงซึ่งอัดแน่นด้วย ปรัชญา และบทกวี

ที่มาของเพลง “ขุนเขายะเยือก” เพลงซึ่งอยู่ในแทร็กที่ 5 อัลบั้มชุดที่ 2 “มาจากห้วยเกิ้ง” ปี 2540 เป็นคำถามแรกของเราในฐานะ “คนแปลกหน้า” กับข้อสงสัยที่อยู่ในใจมา 2-3 วัน เมื่อนึกถึงประโยคที่ว่า “ยุคกระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” ในเนื้อเพลง “ขุนเขายะเยือก” ช่างเป็นความหมายที่ตรงต้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบริบทสังคม ณ ขณะนี้ ด้วยเหตุอันทำให้ผู้คนตั้งข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรม และการทำงานของผู้มีอำนาจในประเทศ

“เพลงขุนเขายะเยือกถูกเขียนขึ้นระหว่างปี 34-35 ตอนที่ผมเรียนจบนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ในปี 2534 ก่อนจะมีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ซึ่งเราก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ มันเป็นช่วงของวัยหนุ่ม ที่สนใจเรื่องปัญหาบ้านเมืองและสังคม ถือเป็นช่วงที่เราแสวงหา เรียนรู้ ทั้งเรื่องชีวิต และการเมือง เพลงนี้แต่งออกมาด้วยความฮึกเหิมทางความคิด โดยไม่รู้ว่าเป้าหมายมันจะเป็นยังไง อนาคตจะเป็นอย่างไร มันเกิดขึ้นโดยพลังของความหนุ่ม จริงๆ แล้วเราก็ถือกีต้าร์นำหน้าไปเป็นคนแรกด้วยซ้ำไป เรียกว่าเราใช้เพลงนำม็อบสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะใช้เพลงปิดม็อบครั้งสุดท้ายที่ม.รามฯ”


เนื้อหาของเพลงนี้ “นิด” บอกกับเราว่า มันได้อาศัยวัตถุดิบที่อยู่ ณ เวลานั้น นั่นคือ ภาวะความเป็นไปของบ้านเมือง ด้วยส่วนตัวของเขาเป็นคนที่สนใจปัญหาของ สังคม ชีวิต ความห่วงใยของคนต่อคน อยู่ในเนื้อหา ซึ่งไม่มีการวางรูปแบบตาม“ทฤษฎีเพลง” มันผิดจึงผิดไปจากเพลงอื่นๆ

“พอเราเรียนรู้เรื่องปรัชญาของชีวิตในช่วงวัยเรียน มันก็นำไปสู่กระบวนการสร้างเพลง ในขณะที่เรากำลังจะจบ จะไปดำรงชีพอย่างไร เป้าหมายหนึ่ง มันอยากเดินไปสู่หนทางของการทำเพลง แต่ในอีกส่วนหนึ่งมันก็มุ่งไปสู่ปัญหาของบ้านเมืองที่คุกรุ่น รุ่มร้อน ซึ่งเราอยากถ่ายทอด” นิด อธิบายถึงจังหวะชีวิตของเขาที่ซุกซ่อนอยู่ในบทเพลงนี้

กับคำว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย...” ที่ “นิด” อธิบายให้เราฟังว่า มันเป็นคำในหนังสือรัฐศาสตร์ พูดถึงเรื่องหลักการปกครองในยุคของ “มารขึ้นครองเมือง” โดยประโยคที่ว่า “น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” เปรียบเสมือนคนที่มีปัญญา มีความรู้ มีความคิดดีต่อสังคม จะถอยหลังเข้าคลอง บ้านเมืองก็จะล่มจม

บทสรุปง่ายๆ ถึงความหมายของเพลงนี้ มันอาจไม่ใช่อย่างที่คนทั่วไปคิด เมื่อ “นิด” บอกว่า มันมาจากธรรมชาติของคนที่ต้องมีปฎิสัมพันธ์กับคนที่ผ่านไปผ่านมา เขาจึงหวังเพียงว่าให้คนที่ได้ผ่านพบ ผ่านเวลาในชีวิตของตัวเอง ได้เห็นเรื่องราวดีๆ จากบทเพลงจากชีวิตของตัวของคนนั้นเอง โดยคิดว่ามันเป็นปรัชญาที่คอยใช้เตือนตัวเอง และผู้อื่นว่า “ชีวิตก็มีวันสิ้น และคนไม่ยังรู้จักพออยู่เช่นเดิม...”

“นิด” อ่านหนังสือ และชอบที่สุดคือ นิยายจีนของ “โกวเล้ง” นักเขียนซึ่งมักหยิบยกเอาปรัชญาชีวิตมาซุกซ่อนไว้ในเรื่องราวของตัวละครในยุทธจักรอันโลดโผน และ “ขุนเขายะเยือก” บทกวีของผู้สันโดษ “ฮั่นซาน” ที่ “พจนา จันทรสันติ” นำเอามาแปลถอดความ เราจึงพบว่า หนังสือบางเล่มอาจทำให้ “นิด” ได้ซึมซับวิธีถ่ายทอดบทกวีจากอักษร สู่เสียงเพลงที่มีท่วงทำนอง

“เพลงนี้รวมบทกวี รวมปรัชญาชีวิต รวมกับอะไรไม่รู้มั่วไปหมด คือผมตอบเรื่องนี้แล้วผมก็งง มันเยอะไปหมด ต้องมองไปทีละส่วน เพลงนี้มันขึ้นต้นมาด้วยภาพของความเข้มแข็งของสัจธรรมในโลกนี้ จบลงด้วยปรัชญาชีวิตที่เราใช้เตือนตัวเองและผู้อื่น ว่า ชีวิตก็มีวันสิ้น และคนไม่รู้จักพอ แต่ก็มีน้องๆนักศึกษาเคยเอาเพลงนี้ไปทำวิทยานิพนธ์ แล้วเขาก็เอามาให้ผมดู โอ้โห ทำไมเขาจึงตีความเพลงนี้ให้ดูยิ่งใหญ่ถึงขนาดนั้น ขณะที่บางคนอาจมองว่า เพลงอะไรของมันว่ะ นานก็นาน แถมยังฟังไม่รู้เรื่องอีก ส่วนพวกเพื่อนผมก็จำได้แต่เพียง ท่อนที่ว่า “มากินเหล้ากันเหวย มาร้องเพลงเย้ย ยั่วเย้าจันทรา...” นิด บอกกับเราด้วยน้ำเสียงเจือหัวเราะ ทำให้เรานึกถึงภาพชายเจ้าของเพลงนั่งยิ้มอยู่ในที่ห่างไกลจากคู่สนทนา กว่าหลายร้อยกิโลเมตร


บทเพลงเพื่อชีวิต 80 ปีประชาธิปไตย สังคม และ การเมือง

มีบ่อยครั้งที่เพลงเพื่อชีวิต ปรากฎอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งการต่อสู้ทางการเมือง ตั้งแต่ยุค “14 ตุลา” มาถึงยุค “พฤษภาทมิฬ” พร้อมกับการหยิบยกเอาบริบทความเคลื่อนไหวของสังคม ณ ขณะนั้น มาเป็นวัตถุดิบในการทำเพลง นี่จึงอาจเป็นสาเหตุว่า เพลงเพื่อชีวิตไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงวงเวียนอยู่ในกงล้อของสังคม

“นิด” กล่าวกับเราว่าแม้จะผ่าน “80 ปีประชาธิปไตย” แต่การเมืองก็ยังคงอยู่ในวังวนของ กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย... เหมือนเดิมไม่ได้ไปไหน ซึ่งเขามองว่า ไม่ได้มีความหมายอะไรเลยกับประเทศไทย

“ประชาธิปไตย มันเป็นคำกล่าวอ้างเฉยๆ พอให้คนได้พูดแล้วมีเรื่องมีงานให้ทำต่อ แต่ฝั่งไหนได้มีอำนาจ ก็มองไม่เห็นหน้าเพื่อน พอเปลี่ยนไปอีกยุคหนึ่ง ในยุคนี้ คำว่า “ปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง” สรุปก็แค่การเปลี่ยนวิธีการรูปแบบในการเข้าไปแสวงหาอำนาจ ผลประโยชน์ ” นิด กล่าวกับเรา อย่างคนที่ปลีกตัวเองออกมามองการเมืองอย่างห่างๆ


ขณะที่ ณ ปัจจุบัน ตัวเขามองด้วยความชื่นชมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความกล้า ในยุคที่การสื่อสารพัฒนาแบบก้าวกระโดด ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ได้เรียนรู้ ทำกิจกรรม เรียนรู้ประสบการณ์ในชีวิต ที่จะใช้สอนตัวเขาเอง โดยเวลาช่วงนี้จะคัดกรอง สั่งสม ประสบการณ์ ไม่ใช่การใช้อุดมการณ์เพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเสียสละ

“เมื่อไฟถูกจุดขึ้นในหัวใจเด็กแล้ว ก็ให้เขามีไฟในการที่จะต่อสู้เพื่อบ้านเพื่ออเมือง ให้เขามีหัวใจที่จะต้องเสียสละ เป็นหัวใจที่เราจะต้องชื่นชม” นิด กล่าวกับเรา

ชีวิตต้องมีความฝัน กับ บั้นปลายทางที่เรียบง่าย

ในฐานะคนทำเพลงเพื่อชีวิต ปัจจุบันนี้ “นิด ลายสือ” ก็ยังคงหยิบยกเอาวัตถุดิบจากสังคมที่เขาเห็นความเป็นไป มาบอกเล่าผ่านเสียงเพลง ทั้งบทเพลงที่เขาร้องเอง และการแต่งเพลงให้คนอื่นๆร้อง ทั้งในวงการหมอลำ และลูกทุ่ง

นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมเพื่อสังคมที่เขาทำร่วมกับพรรคพวกเพื่อนฝูง เช่นการออกค่ายอาสา กิจกรรมเพื่อเด็กที่ด้อยโอกาส กิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น เรื่องของ ป่าแม่วงศ์ และการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง ฯลฯ เรียกว่าทุ่มเทสุดจิตสุดใจ ทำทั้งงานราษฎร์ งานหลวง จนทำให้ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปกรรม (ดนตรีร่วมสมัย) ในปี 2560 จาก ม.ขอนแก่น


“ชีวิตมันต้องหล่อเลี้ยงด้วยความฝัน จริงๆผมก็ยังทำงานอยู่คือการแต่งเพลง เขียนเพลง ซึ่งก็ทำอย่างหนัก ขณะเดียวกันก็ปลีกตัวเอง มาสร้างบำนาญให้กับชีวิต ด้วยการสร้างพื้นที่ให้กับตัวเอง ทำไร่ ปลูกป่า ปลูกทุกอย่าง ไม้มีค่า ไม่มีค่าบ้าง ไม้กินได้ ไม้ผล ปลูกหญ้าเลี้ยงวัว ขุดบ่อปลา เลี้ยงเป็ด ส่วนหนึ่งของคนก็ต้องรัก หวงแหน แผ่นดินที่อยู่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย อาหาร อากาศ ซึ่งเหล่านี้จะมีอยู่ที่นี่”
นิด บอกกับเรา ถึงการทำงานที่ยังคงวนเวียนอยู่ในเพลงเพื่อชีวิต และทำสิ่งซึ่งจะตอบแทนให้กับชีวิตตนเอง

บ้านไร่ที่ “นิด” เอ่ยให้เราฟังนี้ ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยเกิ้ง อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี แผ่นดินแม่ของเขาตัวเอง ซึ่ง “นิด” มองว่า “ขอแค่ให้มีที่พักที่แข็งแรง หายใจโล่ง พอได้หลับ อ่านหนังสือที่ตัวเองยังไม่ได้อ่าน ได้เชียร์บอลทีมที่ตัวเองรัก คือ ลิเวอร์พูล และขอนแก่นเอฟซี” ถือเป็นความสมบูรณ์ที่สุด ชีวิตของเขาต้องการแค่นี้ โดยมีดนตรีเป็นแก่นของชีวิต แก่นของความงามด้านศิลปวัฒนธรรม


ข่าวที่น่าสนใจ