สุ่ม 41 ตลาดตรวจ "ผัก-ผลไม้" พบสารเคมีตกค้างเพียบ

by ThaiQuote, 31 สิงหาคม 2563

กรมวิทย์ฯ สุ่มตรวจผัก-ผลไม้ 41 ตลาดทั่วไทย พบสารเคมีตกค้างเพียบ "ใบบัวบก คะน้า กะหล่ำปลี ส้ม องุ่น" เจอคลอร์ไพรีฟอส ส่วน "พริกขี้หนู ผักกาดขาว" มีสารไกลโฟเซต แต่ไม่เจอสาร "พาราควอต"

วันที่ 31 สิงหาคม 2563 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า มีการสุ่มตรวจผักและผลไม้สดจากตลาดในเครือข่าย 41 จังหวัด จำนวน 154 ตัวอย่าง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม ปี 2563 ตรวจวิเคราะห์ 3 สาร โดยใช้วิธีทางห้องปฏิบัติการ พบคลอร์ไพริฟอสตกค้าง ร้อยละ 13 ปริมาณที่พบน้อยกว่า 0.02-0.89 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างผักผลไม้สด 20 ตัวอย่าง ได้แก่ ใบบัวบก คะน้า กะหล่ำปลี ส้ม องุ่น ฝรั่ง มะยงชิด และพบไกลโฟเซตตกค้าง ร้อยละ 4 ปริมาณ น้อยกว่า 0.01- 0.13 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างผักผลไม้สด 6 ตัวอย่าง พริกขี้หนู ผักกาดขาว ผักแพว โหระพา ส้ม องุ่น แต่ไม่พบการตกค้างของพาราควอตในทุกตัวอย่าง และในเดือนพฤษภาคม ได้สุ่มเก็บตัวอย่างถั่วเมล็ดแห้งและธัญพืช ตรวจวิเคราะห์สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอต และไกลโฟเซต ในตัวอย่าง ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวบาเลย์ ข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี จำนวน 12 ตัวอย่าง ทั้งที่เป็นผลผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อทราบสถานการณ์การตกค้างในวัตถุดิบอาหาร พบว่าพบการตกค้างไกลโฟเซตในตัวอย่างถั่วเหลือง 4 ตัวอย่างจาก 6 ตัวอย่าง ปริมาณ 0.06-1.16 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตรวจไม่พบการตกค้างพาราควอตในตัวอย่างดังกล่าว

“สถานการณ์การตกค้างของ 3 สาร ตัวอย่างผักผลไม้สดที่สุ่มจากแหล่งจำหน่ายในตลาดมีความเสี่ยงในการตรวจพบคลอไพรีฟอสตกค้างโดยเฉพาะในผักใบและผลไม้หลายชนิด โดยไม่พบการตกค้างของพาราควอต สำหรับถั่วเหลืองเมล็ดเต็มและเมล็ดซีกที่ผลิตในประเทศและไม่ระบุแหล่งที่มา มีความเสี่ยงในการพบการสารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตตกค้าง ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังต้องติดตามการเฝ้าระวังเพื่อทวนสอบประสิทธิภาพของมาตรการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรและการจำกัดการใช้สารเหล่านี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป” นายแพทย์โอภาสกล่าว

นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า จากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 2-1/2563 ในวันที่ 30 เมษายน 2563 มีข้อสรุปลงมติ กำหนดให้สารคลอไพริฟอสและพาราควอต เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หรือ "แบน" 2 สารดังกล่าว สำหรับสารไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ จากนั้นมีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่6) พ.ศ.2563 ที่กำหนดสารคลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) คลอร์ไพริฟอส-เมทิล (chlorpyrifos-methyl)พาราควอต (paraquat) พาราควอตไดคลอไรด์ (paraquat dichloride)และ พาราควอตไดคลอไรด์ [บิส (เมทิลซัลเฟต)] {paraquat dichloride [bis (methyl sulfate)]} เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ด้วยภารกิจในการคุ้มครองผู้บริโภคของทางกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเฝ้าระวังสารตกค้างดังกล่าวในอาหารกลุ่มเสี่ยงทั้งในช่วงก่อนและหลังวันบังคับใช้เพื่อทราบสถานการณ์และวางมาตรการลดความเสี่ยงที่เหมาะสมต่อไป

 

ข่าวที่น่าสนใจ