1 ต.ค.นี้! เปลี่ยนชื่อเรียก”ดีเซล”จาก บี 7 เป็น บี 10 แนะระวังให้ดี! เติมผิดชีวิตเปลี่ยน

by ThaiQuote, 13 กันยายน 2563

ดีเดย์! 1 ต.ค.นี้ ทุกสถานีน้ำมัน จะปรับชื่อเรียก”ดีเซล”จาก บี 7 เป็น บี 10 ชี้ รถรุ่นเก่าต้องระวังให้ดี! เติมผิดอาจส่งผลต่อเครื่องยนต์ได้

 

วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป ปั๊มปตท. ผู้นำตลาดจะจำหน่ายน้ำมันดีเซล บี 10 ในชื่อ ‘ดีเซล’ เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการ ตามนโยบายกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานกำหนดให้น้ำมันดีเซล บี 10 เป็นน้ำมันดีเซลฐาน แทนน้ำมันดีเซล ‘บี 7’ ที่เคยจำหน่ายในชื่อน้ำมันดีเซล ซึ่งทำให้น้ำมันดีเซล บี 7 ต้องเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเดิม (น้ำมันดีเซล บี 7)

 

 

ปัจจุบันน้ำมันดีเซลของไทยจึงมี 3 ประเภท ได้แก่ น้ำมันดีเซล บี 7 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 6.6-7% น้ำมันดีเซล บี 10 มี สัดส่วนไบโอดีเซล 9-10% และน้ำมันดีเซล บี 20 ที่มีสัดส่วนไบโอดีเซล 19-20%
เพื่อสนับสนุนการใช้ปาล์มน้ำมันของประเทศในภาคพลังงานให้มากขึ้น ด้วยการนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล (บี 100) ให้ได้ประมาณ 7 ล้านลิตร/วัน สามารถดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศที่มีประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี

นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เนื่องจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น ช่วยลดปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศมาผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป สามารถประหยัดงบประมาณและน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากขึ้นตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของไบโอดีเซล โดยน้ำมันดีเซล บี 10 ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้อีก 3% ของปริมาณการใช้ดีเซล คิดเป็นประมาณ 1.8 ล้านลิตร/วัน

 

 

ที่สำคัญเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ต้องประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำซ้ำซาก ตั้งเป้าหมายสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบของประเทศในระยะยาว

สำหรับรถใหม่ๆ ไม่มีปัญหาอะไรหากเปลี่ยนการเติมบี 7 มาเป็นบี 10 แต่ถ้าเป็นรถเก่าต้องระมัดระวัง
หากผู้ใช้รถยนต์รุ่นเก่าที่เติมน้ำมันดีเซล บี 10 ไม่ได้ แต่เข้าใจผิดคิดว่าเติมได้ หรือผู้ใช้รถยนต์ที่สนใจใช้น้ำมันดีเซล บี 10 แนะนำให้ติดต่อศูนย์บริการ/ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพื่อรับคำแนะนำและทำการตั้งค่าเครื่องยนต์ให้เหมาะสมก่อนเริ่มใช้น้ำมันดีเซล บี 10

กรมธุรกิจพลังงานยืนยันน้ำมันดีเซล บี 10 สามารถรองรับการใช้งานได้ไม่มีผล กระทบกับเครื่องยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์รับรองการใช้งานเรียบร้อยแล้ว สามารถตรวจสอบรุ่นรถได้จากประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่องกำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ.2563 ได้ตามลิงก์ http://elaw.doeb.go.th/document_doeb/TH/699TH_0001.pdf หรือเข้าไปที่เว็บไซต์กรมธุรกิจพลังงาน www.doeb.go.th


ทั้งนี้การเปลี่ยนชนิดน้ำมันโดยใช้ชื่อเรียก ‘ดีเซล’ เจ้าของรถเก่าๆ ต้องระมัดระวังเวลาเข้าปั๊ม เพราะแต่เดิมคนขับรถส่วนใหญ่จะชินปากกับการบอกเด็กปั๊มว่าเติม ‘ดีเซล’ แต่หลังวันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป เจ้าของรถเก่าหรือไม่แน่ใจว่าเติมบี 10 ได้หรือไม่ต้องเพิ่มการสังเกตหรืออย่าชินปากเหมือนในอดีต ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหากับเครื่องยนต์ได้

 

 

 

ขณะที่ นายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐต้องจริงใจกับเรื่องนี้ บอกกับผู้ใช้รถยนต์อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ใช้วิธีฉลาดแกมโกง ควรทำให้ชัดเจน น้ำมันแบบไหนก็แสดงตัวเลขนั้น เหมือนน้ำมันเบนซิน การนำดีเซล บี 10 มาใช้ชื่อดีเซลอย่างเดียว คนใช้รถทั่วไปต้องคิดว่าน่าจะไม่มีบี หรือไบโอดีเซลผสมอยู่เลย เพราะดีเซลประเภทอื่นมีตัวเลขกำกับอยู่ บี 7 แต่จริงๆ แล้วมีไบโอดีเซลมากกว่าด้วยซ้ำ

“ผมไม่ได้คัดค้านในเรื่องการสนับสนุนให้ใช้ไบโอดีเซลให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ใช้วิธีศรีธนญชัยแบบนี้ การใช้ชื่อที่ไม่ตรงไปตรงมา อาจทำให้มีผู้ใช้รถยนต์เติมน้ำมันดีเซล บี 10 มากขึ้น แบบรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว หรืออาจจะไปใช้น้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมมากขึ้น เพราะแม้จะแพงกว่าแต่ขอให้สบายใจ เครื่องยนต์ไม่พังทีหลัง กลายเป็นเตะหมูเข้าปากหมากันไป”

นายพัฒนเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งออกมาสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้รถยนต์ รวมถึงอาจร่วมกับค่ายรถยนต์ ในการให้ลูกค้าเก่านำรถมาติดสติ๊กเกอร์ว่าเครื่องยนต์รุ่นนั้นๆ สามารถเติมน้ำมันดีเซลประเภทใดได้บ้าง เพื่อให้เติมน้ำมันได้ถูกต้องตรงกับสเป๊กรถ

 

 

นอกจากนี้ต้องอบรมเด็กปั๊มให้เข้าใจน้ำมันแต่ละประเภท พร้อมทั้งสื่อสารกับลูกค้าให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด

ในส่วนของรถใหม่ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เตรียมติดสติ๊กเกอร์ที่ฝาถังน้ำมันเพื่อแสดงให้เจ้าของรถยนต์ และพนักงานปั๊มน้ำมันมองเห็นชัดเจน จะได้ไม่เกิดความผิดพลาด

ขณะที่รถเก่าต้องติดต่อศูนย์รถของตนเอง ว่ารถยนต์รถ่นที่ใช้อยู่นี้ สามารถเติมน้ำมันอะไรได้บ้าง พร้อมทั้งติดสติ๊กเกอร์ที่ฝาถังน้ำมัน เพื่อให้มีความชัดเจนเวลาเติมน้ำมัน

 

 

สำหรับเจ้าของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลทั่วไปต้องศึกษาทำความเข้าใจว่ารถยนต์ของตัวเองนั้นสามารถเติมน้ำมันประเภทใดได้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในอนาคต นอกจากนี้ พนักงานปั๊มน้ำมัน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญ จะต้องแจ้งลูกค้าก่อนเติมว่าต้องการเติมน้ำมันประเภทใด เพื่อให้เข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะช่วงรอยต่อที่เชื่อว่าจะต้องมีความสับสนอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มองว่าน้ำมันดีเซล บี 7 ควรยังคงต้องมีต่อไป เพื่อเป็นน้ำมันทางเลือกให้กับเจ้าของรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่า ที่ไม่สามารถเติมน้ำมันดีเซล บี 10 ได้
ย้ำกันอีกครั้งหลังวันที่ 1 ต.ค.นี้ เจ้าของรถเครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่าๆ หากไม่แน่ใจว่าเติมบี 10 ได้หรือไม่ ควรรีบหาข้อมูลจากค่ายรถ หากไม่สามารถเติมน้ำมันชนิดนี้ได้ เวลาเข้าปั๊มอย่าติดปากว่า ‘เติมดีเซล’ อีกเป็นอันขาด

 

เรื่องที่น่าสนใจ