“พาณิชย์” แจงยิบ วัดเจดีย์ จดลิขสิทธิ์ ”ไอ้ไข่” 10 รายการ ใครละเมิดไม่ได้

by ThaiQuote, 21 กันยายน 2563

พาณิชย์ชี้วัดเจดีย์ยื่นจดลิขสิทธิ์ “ไอ้ไข่” 10 รายการ "ผ้ายันต์ รูปหล่อบูชา" คุ้มครอง 50 ปี ใครละเมิดไม่ได้

สืบเนื่องจากกรณี “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” จังหวัดนครศรีฯ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นิยมสักการะเพื่อขอโชคลาภที่โด่งดังที่สุดอยู่ในขณะนี้ เกิดข้อถกเถียงและเรียกร้องสิทธิ์ในผลงานลิขสิทธิ์ “ไอ้ไข่” เด็กวัดเจดีย์ เนื่องจากปัจจุบันมีบุคคลอ้างชื่อไอ้ไข่ไปเปิดเป็นวัดไอ้ไข่สาขาต่างๆ ทั่วประเทศ และจัดทำวัตถุให้เช่าบูชาด้วยนั้น

ล่าสุด นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช. พาณิชย์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับแจ้งจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่า วัดเจดีย์ แจ้งผลงานลิขสิทธิ์ “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น 11 ผลงาน โดยแจ้งเมื่อปี 2551 จำนวน 10 ผลงาน และแจ้งเพิ่มอีก 1 ผลงาน เมื่อปี 2563 ซึ่งกระทรวงพร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พร้อมเห็นวิกฤตเป็นโอกาสสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจสอบการยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของวัดเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช พบว่า มีการยื่นจดผลงานลิขสิทธิ์เกี่ยวกับ “ไอ้ไข่” รวม 10 รายการ ได้แก่ ผ้ายันต์ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ แบบที่ 1 ถึงแบบที่ 4 รูปหล่อบูชา ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ 1 และ 2 รูปหล่อลอยองค์ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ปี 2546 เหรียญอาร์ม พระครูเจติยาภิรักษ์และไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ปี 2546 เหรียญวงรี ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ปี 2526 แบบที่ 1 และเหรียญวงรี ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ปี 2546 แบบที่ 2 และจดเพิ่มต้นปี 2563 อีก 1 รายการ คือ งานนิพนธ์ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ซึ่งผลงานทั้งหมดจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่เกิดผลงานนั้นๆ ขึ้นมา หากใครจะนำผลงานของวัดไปใช้ จะต้องได้รับอนุญาตก่อน ถึงจะดำเนินการได้


โดยผู้แจ้งต้องรับรองตนเองว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานที่รับแจ้งนั้นด้วย ซึ่งในกรณี “ไอ้ไข่” ที่แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์โดยวัดเจดีย์ในฐานะเป็นนิติบุคคล หากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่รับแจ้งก็จะได้รับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์เป็นเวลา 50 ปี นับแต่สร้างสรรค์ผลงาน

นายทศพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผลงานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองทันที เมื่อสร้างสรรค์ผลงานแล้วเสร็จโดยไม่ต้องจดทะเบียนหรือแจ้งข้อมูล ตามหลักกฎหมายลิขสิทธิ์จะให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่า โอน หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

“อย่างเหรียญไอ้ไข่ ปี 2526 มีลิขสิทธิ์ตั้งแต่ทำขึ้นมา แม้จะเพิ่งมาจดแจ้งในภายหลัง โดยมีอายุคุ้มครองถึงปี 2576 ใครหรือวัดไหนจะเอารูปแบบของเหรียญที่เป็นวงรี และมีรูปไอ้ไข่ยืน ไปทำเลียนแบบไม่ได้ ถ้าทำต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่ถ้าจะทำเป็นเหรียญ โดยใช้ไอ้ไข่ นั่ง หรือนั่งชันเข่า หรือรูปแบบอื่นๆ สามารถทำได้ แต่คนจะเชื่อหรือนิยมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะไอ้ไข่ ใครจะจินตนาการเป็นยังไงก็ได้ แต่จะไปห้ามไม่ให้ใช้ชื่อไอ้ไข่ไม่ได้ เพราะคำว่าไอ้ไข่ ไม่ได้รับการคุ้มครอง ใครก็สามารถใช้ได้”

ส่วนประเด็นเรื่องรูปปั้น ก็ต้องตรวจสอบว่า ปั้นขึ้นมาเมื่อใด เพราะทางวัดไม่ได้ยื่นจดลิขสิทธิ์ไว้ แต่ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นเมื่อทำขึ้นมาในทันที และจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย 50 ปี เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ต่อไป
เนื่องจากแต่ละกรณีจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่จะต้องนำมาพิจารณาแตกต่างกันไป และหากมีการฟ้องร้องจะต้องนำสืบข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝ่าย โดยศาลจะเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดต่อไป

อย่างไรก็ดี กรมทรัพย์สินทางปัญญามีบริการไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท และยุติปัญหาโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการของศาล โดยรายละเอียดสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.ipthailand.go.th หรือติดต่อไปที่กองกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร “02 547 5029

 

ข่าวที่น่า

กรมชลฯ เผย โนอึล ทำน้ำล้นตลิ่งหลายพื้นที่ น้ำในเขื่อน-แม่น้ำสายหลักยังปกติ