ภาพหาชมยาก “ฉลามครีบดำผสมพันธุ์” บ่งชี้ “เกาะพีพี” สมบูรณ์

by ThaiQuote, 23 กันยายน 2563

ดร.ธรณ์ เผยภาพหาชมยาก “ฉลามครีบดำ” กำลังผสมพันธุ์ บ่งชี้ “เกาะพีพี” สมบูรณ์ เป็นหลักฐานสำคัญต่อการศึกษา-อนุรักษ์ฉลาม

 

วันที่ 22 ก.ย.63 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat”เผยภาพของ “ฉลามครีบดำ” ขณะกำลังผสมพันธุ์ที่เกาะพีพี พร้อมระบุว่า นี้คือสิ่งบ่งชี้ความสมบูรณ์ของทะเล จากพีพีโมเดล

โดยโพสต์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้

“#เมื่อฉลามมีความรัก
ภาพเหตุการณ์สุดหายาก ส่งมาจากเกาะพีพีเล โดยเพื่อนธรณ์ที่เป็นคุณไกด์ เป็นหลักฐานสำคัญยืนยันว่าเกาะพีพีคือแหล่งผสมพันธุ์ของฉลามครีบดำ
เกาะพีพีเลอยู่ในอุทยานหมู่เกาะพีพี ในช่วง 4-5 ปีของ #พีพีโมเดล ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลทะเล ทำให้เราเจอฉลามครีบดำเป็นประจำ
ที่ฮือฮาสุดคือฝูงฉลามแห่งอ่าวมาหยาที่โด่งดังไปทั่วโลก
จำนวนที่พบมากสุดในการสำรวจคือ 108 ตัวในครั้งเดียว
ผมเคยบอกว่าฉลามครีบดำเข้ามาเป็นฝูง เพราะมาหากินและมาออกลูกในแนวปะการังน้ำนิ่งในอ่าว
นักวิจัยเคยเจอแม่ฉลามกำลังออกลูก 2-3 ครั้ง แต่ไม่เคยถ่ายภาพได้
แต่ครั้งนี้ ที่แนวปะการังหน้าถ้ำไวกิ้ง ไม่ไกลจากอ่าวมาหยา
คุณไกด์พบฉลาม 2 ตัวกำลังทำท่าประหลาด จึงถ่ายภาพไว้และส่งมาให้ผมดู
ผมเชื่อว่านี่คือการผสมพันธุ์ของฉลามครีบดำ
เพราะเคยเห็นพฤติกรรมทำนองนี้ที่ออสเตรเลียสมัยเรียนอยู่ที่นั่น
และเคยเห็นฉลามเสือดาวผสมพันธุ์ครั้งหนึ่งที่เกาะสุรินทร์เมื่อนานมาแล้ว
ตลอด 40+ ปีที่ดำน้ำในทะเล ผมเคยเจอเพียง 2 หน
คงพอบอกคุณได้ว่า เหตุการณ์เช่นนี้เจอยากแค่ไหน
ฉลามครีบดำจะโตพร้อมผสมพันธุ์เมื่อยาว 1 เมตร และอาจผสมพันธุ์ทุกปี (แต่ไม่จำเป็นต้องตั้งท้องทุกครั้ง)
ก่อนผสมพันธุ์ ฉลามสาวจะว่ายส่ายไปมาใกล้พื้น เธอจะกดหัวลงต่ำ
นักวิจัยบางท่านเชื่อว่าฉลามจะปล่อยสารเคมีบางอย่างทำให้ตัวผู้รับรู้และว่ายตามเข้ามา
เมื่อได้จังหวะ ฉลามตัวผู้จะ “จับกด” โดยอาจกัด/คาบที่ครีบอกตัวเมีย (หรือกัดใกล้ๆ ด้านหลังเหงือก)
ไม่ต้องครับว่าจะเป็นแผลเหวอะหวะ
ปรกติแผลแบบนี้จะหายไปใน 4-6 สัปดาห์ เป็นแค่การงับไว้ไม่ให้ดิ้นมาก
จากนั้นตัวผู้จะกดหัวตัวเมียแนบพื้น หางชี้ขึ้นน้อยๆ ก่อนจะสอด clasper เข้าไป 1 แท่ง
(clasper - อวัยวะช่วยในการปล่อยสเปิร์ม ปรกติมี 1 คู่ มองเห็นชัดจากภายนอก ใช้จำแนกเพศฉลามได้ง่าย)
ดูจากภาพ ฉลามตัวขวาคือตัวผู้ ท่าทางเอียงตัวและตัวเยื้องมาด้านล่างมากกว่า เพราะหัวกำลังกัดครีบอกตัวเมีย
การผสมพันธุ์จะใช้เวลา 2-3 นาที ก่อนตัวเมียจะดิ้นแล้วว่ายหนีไป
ฉลามครีบดำออกลูกแบบ viviparous หรือตัวอ่อนเติบโตในตัวแม่ ก่อนจะออกลูกเป็นตัว
แม่ฉลามตั้งท้อง 8-10 เดือน ก่อนจะออกลูกยาว 30-50 เซนติเมตร ในอ่าวน้ำตื้นมีแนวปะการัง เช่น อ่าวมาหยา
ลูกฉลามหากินตามน้ำขึ้นน้ำลง ช่วง 2 ปีแรกโตเร็วมาก ยาวขึ้นปีละ 20+ เซนติเมตร
แต่เมื่อเข้าช่วงปีที่สามและปีต่อๆ ไป ฉลามจะโตช้าลง ยาวขึ้นปีละ 5+ เซนติเมตร
จะเข้าวัยพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุ 4-5 ปี (ตัวผู้) และนานกว่านั้นสำหรับตัวเมีย
ฤดูผสมพันธุ์ฉลามครีบดำแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่ปรกติจะยาว 2-3 เดือนต่อปี
ในไทย เรายังไม่แน่ใจ แต่ภาพนี้ช่วยเป็นหลักฐานว่า ช่วงเดือนกันยายนมีฉลามผสมพันธุ์ในอันดามัน
และหากเทียบกับเวลาที่นักวิจัยพบฉลามออกลูก อาจเป็นได้ว่าช่วง 2-3 เดือนแถวตอนนี้แหละ (แต่ต้องศึกษาต่อไปอีกเยอะ)
ฉลามครีบดำอายุ 13+ ปี ยาวเต็มที่ 1.5 เมตร
แต่ไม่ต้องกลัวนะครับ ฉลามพวกนี้แทบไม่ทำร้ายมนุษย์
ภาพนี้เป็นหลักฐานสำคัญมาก และมีประโยชน์มากต่อการศึกษา/การอนุรักษ์ฉลาม
รวมทั้งยืนยันความสำคัญแบบสุดยอดของเกาะพีพีเล ว่าเป็นทั้งแหล่งหาอาหาร แหล่งผสมพันธุ์ และแหล่งออกลูกของฉลามครีบดำ
ฉลามเป็นนักล่าอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร มีความสำคัญสุดๆ ต่อระบบนิเวศ
ในยุคนี้ ฉลามยังกลายเป็นสัญลักษณ์ของทะเลที่สมบูรณ์
ทะเลที่ผู้คนอยากข้ามโลกมาเยี่ยมเยือน
เกาะพีพีจึงไม่ใช่แค่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยสุดๆ สำหรับคน ยังเป็นบ้าน/เป็นทุกอย่างของฉลาม
เคราะห์ดีที่เราเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันได้
และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถช่วยกันหาทางที่ยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณพี่ “ไกด์ฟาดิล” ผู้รายงาน
เป็นรายงานที่น่าตื่นเต้นสุดๆ และมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ฉลามและเกาะพีพีมากมายครับ”

 

#เมื่อฉลามมีความรัก ภาพเหตุการณ์สุดหายาก ส่งมาจากเกาะพีพีเล โดยเพื่อนธรณ์ที่เป็นคุณไกด์...

โพสต์โดย Thon Thamrongnawasawatเมื่อ วันอังคารที่ 22 กันยายน 2020


ข่าวอื่นที่น่าสนใจ