เตือนนักท่องเที่ยว ซื้อเนื้อสัตว์ป่าริมถนนเมืองกาญจน์ ติดคุก ปรับเป็นแสน

by ThaiQuote, 27 ตุลาคม 2563

กรมอุทยานฯ แจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ซื้อเนื้อสัตว์ป่า ริมถนนกาญจนบุรี ระวังติดคุก ถูกปรับเป็นแสน พร้อมร้านค้าผู้ขาย

 

 

วันที่ 27 ต.ค.63 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ที่ต้องการให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้ค้าสัตว์ป่า และให้ประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายสัตว์ป่าให้กับนักท่องเที่ยวหรือประชาชนทราบโดยทั่วไป

จากนโยบายดังกล่าว ตนเอง และนายประทีป เหิมพยัคฆ์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ. 3 (บ้านโป่ง)ได้เดินทางมาตรวจติดตามการติดป้ายโฆษณาประกาศแจ้งเตือน ให้ร้านค้า ผู้ขาย และนักท่องเที่ยว ผู้ซื้อ ระวังติดคุกและถูกปรับเป็นแสนจากการขาย และซื้อเนื้อสัตว์ป่า ริมทางถนนสายกาญจนบุรี โดยมีข้อความดังนี้

1.ผู้ขายติดป้ายโฆษณาขายเนื้อ กวางป่า กระต่ายป่า เก้ง ตรวจสอบแล้วเป็นเนื้อสัตว์ป่าคุ้มครอง

ผู้ขายมีความผิดตามมาตรา 29 ระวางโทษ จำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับผู้ซื้อมีความผิดครอบครองเนื้อสัตว์ป่าคุ้มครอง มาตรา 17 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

2.ผู้ขายติดป้ายโฆษณาขาย เนื้อกวาง กระต่าย ตรวจสอบแล้วเป็นเนื้อสัตว์ชนิดอื่นผู้ขายมีความผิดหลอกลวงการขายตามปอ.มาตรา 271 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท และมีความผิดหลอกลวงผู้บริโภค มาตรา 47 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท สำหรับผู้ซื้อ ถือได้ว่าเป็นผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ขาย

3. ผู้ขายติดป้ายโฆษณาขาย เนื้อหมูป่า หมูป่าไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ขาย และผู้ซื้อสามารถซื้อขายเนื้อหมูป่าโดยไม่ผิดกฎหมาย

นายนิพนธ์ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้นำแผ่นใบปลิวโฆษณาข้อกฎหมายแจ้งเตือนดังกล่าว ไปแจกให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจะได้ทราบข้อกฎหมายดังกล่าว และแจกร้านค้า ที่ขายเนื้อสัตวป่า ริมถนนกาญจนบุรี ทุกร้าน เพื่อให้ร้านค้าดังกล่าวได้ปฎิบัติในการขายเนื้อสัตว์ป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ว่าเนื้อสัตว์ป่าใดที่ขายได้ หรือเนื้อสัตว์ป่าใดที่ขายไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย

“หลังจากติดป้ายโฆษณาประกาศแจ้งเตือนให้ร้านค้า ผู้ขาย และนักท่องเที่ยว ผู้ซื้อให้ได้ทราบข้อกฎหมายสัตว์ป่าโดยทั่วไปแล้ว ต่อไปนี้ถ้าเจ้าหน้าที่อุทยานฯพบว่ามีนักท่องเที่ยว ผู้ซื้อ หรือร้านค้า ผู้ขาย ทำการซื้อ-ขายสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น กวางป่า กระต่ายป่า เก้ง ริมถนนในจังหวัดกาญจนบุรีอีก ถ้าตรวจสอบแล้วว่า เป็นเนื้อสัตว์ป่าคุ้มครองจริง ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด กับนักท่องเที่ยว ผู้ซื้อ และร้านค้า ผู้ขาย ต่อไป” นายนิพนธ์ กล่าว

 

 

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
กทม.เล็งแก้กฎหมาย ‘หาบเร่แผงลอย’ ใหม่ สร้างอาชีพผู้มีรายได้น้อย-คนตกงาน