นำร่อง รพ.ระยองใช้ “ริสแบนด์” ระบุตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน ตอบโจทย์ รพ.อัจฉริยะ

by ThaiQuote, 30 ตุลาคม 2563

สวทช. จับมือ สรพ. หนุนโรงพยาบาลระยองใช้ “ริสแบนด์” ตัวช่วยแพทย์ระบุตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน ตอบโจทย์ “ถูกต้อง-รวดเร็ว-แม่นยำ” เตรียมก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ

 

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช.ได้ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ริเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข หรือ 2P @Safety Tech (Patient and Personal at Safety Technology Awards) จับคู่ธุรกิจซอฟต์แวร์กับโรงพยาบาลระยอง พัฒนา“ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน” ช่วยลดความเสี่ยง ลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้มีโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 2P@Safety แล้วจำนวน 37 แห่ง จากที่สมัครมากว่า 120 แห่ง พร้อมด้วยบริษัทเทคโนโลยี 15 ราย ขณะนี้สามารถพัฒนานวัตกรรมต้นแบบที่นำไปใช้จริงในโรงพยาบาลรวม 14 ผลงานแล้ว

 

 

ด้าน นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง กล่าวถึงแนวคิดสำคัญของ “ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน” ว่า การนำนวัตกรรมริสแบนด์ มาใช้นั้น เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินที่ต้องการระบุตัวผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น สามารถใช้ข้อมูลในการระบุตัวตน บันทึกการทำหัตถการต่างๆ และนำข้อมูลสำคัญมาวิเคราะห์การทำงานร่วมกัน ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำที่ไม่จำเป็น

โดยริสแบรนด์ เป็นอุปกรณ์ที่มีความสะดวกต่อผู้ใช้งาน และมีความคุ้มทุนต่อโรงพยาบาล ซึ่งระบบฯ สามารถระบุข้อมูลพื้นฐานสำคัญของผู้ป่วยอย่างน้อย 13 ฐานข้อมูล ซึ่งจากการเก็บข้อมูลวิจัยพบว่ามีความแม่นยำถึง 100% และสามารถลดระยะเวลาการสอบถามประวัติพื้นฐานผู้ป่วย ทำให้การรักษารวดเร็วแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นในการระบุตัวผู้ป่วย

สำหรับในปัจจุบันมีการนำมาใช้กับผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินทุกประเภทความรุนแรง โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน ทำให้เกิดการพัฒนาในตัวอุปกรณ์และระบบ เพื่อสอดคล้องกับการทำงานมากขึ้น เป็นต้นแบบให้กับทุกโรงพยาบาลที่เข้ามาศึกษาดูงานและนำไปปรับใช้กับโรงพยาบาลของตน

“โรงพยาบาลมีแผนจะนำระบบฯ ไปใช้กับทุกหน่วยงานและติดตัวผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินจนถึงหอผู้ป่วยใน หรือกลับบ้าน การบันทึกเหตุการณ์การรักษา ลดการจดกระดาษและนำข้อมูลมาวิเคราะห์แบบเรียลไทม์มากยิ่งขึ้น” ผอ.รพ.ระยอง กล่าว

นอกจากนี้ยังพัฒนาในส่วนของการการระบุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญว่าอยู่ ส่วนไหนของโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิในการค้นหาที่รวดเร็วมากขึ้น และที่สำคัญจะมีแผนพัฒนาปรับใช้ในการเก็บข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มโรงงานที่สามารถนำไปใช้กับพนักงานที่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงกับสุขภาพ นำไปสู่ข้อมูลการดูแลสุขภาพและโรคที่มีโอกาสเกิดกับวัยทำงาน โดยผ่านโครงการ HTE (Health promotion, Tertiary care and Emergence response project : HTE) ของโรงพยาบาลที่มีการผลักดันนโยบายและให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC

สำหรับ ริสแบนด์ “ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน”(RFID Patient Tracking & Identification) ประกอบด้วยข้อมูล 4 ส่วน คือ

1) ระบุตัวตนผู้ป่วย ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถแยกประเภทผู้ป่วยได้ตั้งแต่แรก โดยแบ่งสีของริสแบนด์ตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วยเป็น สีแดง-ชมพู-เหลือง-เขียว และขาว ทำให้ลดขั้นตอนการตรวจสอบและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

2) ติดตามการรักษา ระบบสามารถเก็บบันทึกประวัติการรักษาและประวัติความรุนแรงของผู้ป่วยเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ดูรายงานสถานะคนไข้แบบเรียลไทม์

3) นำข้อมูลการรักษามาวิเคราะห์ เพื่อสรุปผลการทำงานและปรับปรุงพัฒนาการรักษาให้ดีขึ้น

4) มีหน้าแสดงผลหน้าจอ เพื่อสะท้อนภาพรวมการทำงาน

ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นและสามารถกลับบ้านได้แล้ว ทางโรงพยาบาลก็จะนำ ริสแบนด์ มาลบข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยทันที และสามารถนำริสแบนด์กลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 200,000 ครั้ง

ในอนาคตหากมีการขยายผลการใช้ไปยังแผนกอื่นๆ ของโรงพยาบาลแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยลดขั้นตอนการทำงานของทีมแพทย์ ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นมาตรฐานการทำงานเดียวกันทั้งโรงพยาบาล

นอกจากนี้ยังเตรียมขยายผลไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อใช้ในงานส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรในโรงงานต่อไป

 

ข่าวที่น่าสนใจ

สธ.ดัน 2 โมเดลอาหารปลอดภัย “1 จังหวัด 1 อาหารบาทวิถี – ตลาดนัดน่าซื้อ”