บีทีเอส แจงปมร้อน ขึ้นราคารถไฟฟ้า 158 บาทตลอดสาย ยันเก็บจริง ไม่เกิน 65 บาท

by ThaiQuote, 4 ธันวาคม 2563

บีทีเอส ยันไม่จริง ข่าวลือขึ้นค่าโดยสารตลอดสาย 158 บาท แจงราคาค่าโดยสารจริงเริ่มต้น 15 บาท ตลอดสายไม่เกิน 65 หวังไม่ให้เป็นภาระผู้บริโภค


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ธ.ค.63) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าว “การปรับขึ้นราคาโดยสาร รถไฟฟ้าบีทีเอส ตลอดเส้นทางเป็นจำนวน 158 บาท” โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. การกำหนดราคาค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานเดิม รถไฟฟ้าบีทีเอส ในฐานะผู้รับผิดชอบการบริหารรถไฟฟ้า ระยะทาง 23.5 กม. เส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารปัจจุบันในอัตรา 16 ถึง 44 บาท (ตามระยะทาง) ขณะที่ช่วงส่วนต่อขยายทั้งหมด (อ่อนนุช-สำโรง-เคหะฯ วงเวียนใหญ่-บางหว้า หมอชิต-วัดพระศรีฯ) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้กำหนดค่าโดยสาร

2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในฐานะผู้ลงทุนขบวนรถ ส่วน กทม. ในฐานะผู้ลงทุนงานโยธาและระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ได้ร่วมรับผิดชอบดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ทำให้ส่วนต่อขยายประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และ ช่วงหมอชิต-คูคต จำนวน 59 สถานี รวมระยะทางถึง 68.25 กม. สามารถเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี , กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ โดยมีความคืบหน้าพร้อมเปิดเป็นทางการครบทั้ง 59 สถานี ในวันที่ 16 ธ.ค.2563 นี้

3. ประเด็นค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจากเส้นทางเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, ช่วงอ่อนนุช-เคหะ และ ช่วงหมอชิต-คูคต ยังคงเป็นการกำหนดโดยกรุงเทพมหานคร BTSC อยู่ในฐานะผู้รับจ้างการเดินรถในส่วนต่อขยายนี้เท่านั้น

และที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย รวมถึง กทม.มีเป้าหมายในการทำให้ค่าโดยสารมีอัตราที่เหมาะสม โดยจะมีการเก็บค่าโดยสารตามระยะทางเริ่มต้นจาก 15 บาท และรวมตลอดเส้นทางอยู่ในระดับไม่เกิน 65 บาท เพื่อไม่ให้เป็นภาระกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาวกรุงเทพมหานคร จากค่าโดยสารตลอดเส้นทางที่ศึกษาไว้เดิมสูงสุดถึง 158 บาท


จนนำมาสู่ การเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อให้สามารถจัดเก็บค่าโดยสารตามเป้าหมายและแก้ไขปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของกทม. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติจากที่ประชุม ครม.

4. BTSC ขอยืนยันในข้อเท็จจริง และถึงแม้จะต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถส่วนต่อขยาย จากหนี้คงค้างของกทม.กว่า 8,000 ล้านบาท ทางบริษัทฯ ให้คำมั่นสัญญาจะรับผิดชอบให้บริการ การเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส แก่ชาวกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล เป็นปกติ และดำเนินการตามแผนการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมระยะทาง 68.25 กม.ต่อไป จนกว่าจะมีความชัดเจนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม.

 

ข่าวที่น่าสนใจ

“อาคม” เผย รัฐบาลเหลืองบฟื้นฟูเศรษฐกิจ สู้โควิด-19 อีก 6 แสนล้านบาท